ต่อยอดงานวิจัยจิตวิทยาเชิงบวก สร้างพื้นที่ปลอดภัยนำร่องในโรงเรียน สถานประกอบการเอกชน เป็นกลไกป้องกันก่อนเกิดปัญหา
วันนี้ (8 ต.ค.2566) กลุ่มภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านสุขภาพจิต และผลักดันให้สังคมมีพื้นที่ปลอดภัย ให้คนสามารถระบายความเครียดหรือความรู้สึกเศร้าของตัวเอง ร่วมกับกรุงเทพมหานคร จัดกิจกรรม Better Mind Better Bangkok 2023 เนื่องในวันสุขภาพจิตโลก 10 ต.ค.2566
อมรเทพ สัจจะมุนีวงศ์ ผู้ก่อตั้งแอปพลิเคชัน ‘Sati’ (สติ) กล่าวว่า จากปัญหากระบวนการรักษาสุขภาพจิตในประเทศไทย ยังพบการดำเนินงานที่ขาดข้อมูล (DATA) ที่ตรงกับความจริง รวมถึงจำนวนจิตแพทย์ 1.2 คน/ประชากร 1 แสนคน นักจิตวิทยาคลินิก 1.57 คน/ประชากร 1 แสนคน ส่งผลต่อภาวะหมดไฟของบุคคลากรสาธารณสุขสูงขึ้น 5 เท่า ตั้งแต่ปี 62
สติแอป พยายามให้คนทั่วไปเข้าถึงการเยียวยาจิตใจขั้นพื้นฐานให้ได้มากที่สุด ผ่านการอบรมคนทั่วไปเรื่องการปฐมพยาบาลจิตใจเบื้องต้น และให้ทุกคนได้มาใช้งานด้วยกันโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ที่สำคัญคือ DATA ที่ได้เมื่อนำมาเป็นองค์ประกอบร่วมกับความสูญเสียมาก-น้อย ที่สุดอยู่ที่ไหน การหาเครื่องมือป้องกันหรือมีนโยบายด้านสุขภาพจิต จะมีทั้งองค์ความรู้ ลดตราบาป เพิ่มการเข้าถึงที่เป็นธรรม
ด้านสถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS) ระบุว่า การใช้เทคโนโลยี เป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มการเข้าถึงที่เป็นธรรมของผู้ที่รอคอยระบบการรักษา หรือกังวลด้านทัศนคติเชิงลบที่มีต่อผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งคาดหวังว่าจะเพิ่มการทำงานให้ครอบคลุมมากขึ้นด้วยการทำงานกับภาครัฐอย่างกรุงเทพมหานคร
TIMS ยังศึกษางานวิจัยเก็บข้อมูลรองรับเพื่อตอบโจทย์ปัญหาในปัจจุบันนำไปสู่การขับเคลื่อนเชิงนโยบาย ทั้งในโรงเรียนเพื่อหาคำตอบว่าโรงเรียนแบบไหน ความสัมพันธ์ของผู้ปกครอง เด็ก ครู แบบไหนที่จะทำให้เด็กพัฒนาอย่างยั่งยืน ศึกษาในองค์กรธุรกิจเอกชนว่าแบบไหนถึงเรียกว่าเป็นองค์กรที่คนทำงานสามารถทำงานอย่างมีความสุข
การศึกษา อบรมเผยแพร่ให้คนได้เข้าถึงอย่างรวดเร็ว เพื่อนำข้อมูลไปใช้เพื่อแก้ปัญหาผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิตมีจำนวนจำกัด และกระจุกตัวอยู่ในตัวเมือง ต้องส่งเสริมการพัฒนาทักษะต่างๆ ให้กับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้ให้บริการทางด้านสุขภาพจิต ได้มีศักยภาพพยายามกระจายเพื่อให้บริการเข้าถึงมากยิ่งขึ้น
จากนั้นเอาความรู้มาผลักดันเป็นนโยบายสาธารณะ พร้อมสร้างค่านิยมใหม่ให้กับสังคม ว่าสุขภาพจิตไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ปัญหา และความเจ็บป่วย แต่เป็นเรื่องของทุกคน และเพื่อทำให้เกิดเป็นระบบต้องเป็นนโยบายสาธารณะที่ดี จำเป็นต้องใช้เครือข่ายและพลังร่วมมือ เพิ่มพลังเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย
รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า กทม.ให้ความสำคัญ และยอมรับว่าระบบสุขภาพจิตมีปัญหาจริงๆ รวมถึงสังคมมักจะเห็นสุขภาพจิตเป็นปัญหาต่อเนื่อง ซึ่งกทม.มีโรงพยาบาลในสังกัดถึง 12 แห่ง มีจิตแพทย์ 13 คน นักจิตวิทยาไม่ถึง 100 คน การสร้างบุคลากรเอาไว้เยียวยารักษาต่อให้เร่งกว่านี้ก็อาจจะไม่ทันต่อสถานการณ์
“การรักษาเป็นขั้นตอนสุดท้ายของปัญหา แต่ถ้าเรามีพื้นที่ปลอดภัย รับฟังกันมากขึ้น ฟังไม่ตัดสิน ตั้งแต่วินาทีแรกที่ได้ยินอะไรเข้าหู คิดว่าการทำงานร่วมกันกับภาคีฯ วันนี้ จะทำให้คุณภาพชีวิตและคนมีความสุขขึ้น นอกเหนือจากปัญหาเศรษฐกิจครัวเรือนดีขึ้น ซึ่งเชื่อมโยงกันกับความเครียด ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของ กทม.เช่นกัน“
Better Mind Better Bangkok 2023 จัดขึ้นในธีม “SEAS” สะท้อนถึงด้านต่าง ๆ ของสุขภาพจิตที่จะทำให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญ และการเข้าใจสุขภาพจิตมากขึ้น
S – SECURITY – กลยุทธ์ต่าง ๆ ในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย และเรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องมือและเทคนิคในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยที่ส่งเสริมให้เรามีความมั่นคงอารมณ์
E – EQUITY – การเข้าถึงสุขภาพจิตที่มากขึ้น และลดช่องว่าง เพื่อส่งเสริมโอกาสที่เท่าเทียมและมากขึ้นในการเข้าถึงสุขภาพจิตอย่างเพียงพอของทุกคน โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างทางสังคม ทางเศรษฐกิจและถิ่นกำเนิด
A – ADAPTABILITY – สร้างพลังในการฟื้นฟูจิตใจจากภายในตนเอง และบุคคลรอบข้าง มาร่วมกันค้นหาว่าความสามารถในการปรับตัวจะช่วยนำทางเราในเวลาที่ยากลำบาก และผันผวนในชีวิตได้อย่างไร
S – SERENITY – ตระหนักถึงความสำคัญของการสื่อสารที่ปราศจากการคุกคาม (NONVIOLENT COMMUNICATION) ที่นำไปสู่ความสงบของจิตใจ และเสริมสร้างความสงบสุขให้ตนเอง และผู้คนรอบข้าง
พร้อมเวทีสร้างแรงบันดาลใจเชิงบวก จากบุคคลที่อุทิศตนให้กับแวดวงทางสุขภาพจิต ไปจนถึงบุคคลที่เป็นแรงบันดาลใจกับคนหมู่มาก เช่น ภัทรดนัย เสตสุวรรณ ,อแมนด้า ออบดัม ,เจมส์ รัศมีแข ฟอเกอร์ลุนด์ฟ ,นที เอกวิจิตร์ ,จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ พลวัชร ภู่พิพัฒน์