ยกเคสผู้ป่วยเอชไอวี จ.กาญจนบุรี ร้องทุกข์ ไปรับยาต้านไวรัส ที่ รพ.ชุมชน แต่ถูกให้กลับไปเอาใบส่งตัวที่ รพ.สต. สวนทางนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ จี้บอร์ดพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ เร่งแก้
วันนี้ (10 ต.ค. 2566) หลังจาก เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา และจะมีการประชุมนัดแรกวันที่ 24 ต.ค. นี้
นิมิตร์ เทียนอุดม รองประธานกรรมการนโยบายสภาองค์กรของผู้บริโภค ให้สัมภาษณ์ The Active ว่าเรื่องเร่งด่วนสำหรับ คณะกรรมการคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ คือการแก้ปัญหาการถ่ายโอน รพ.สต. ไปยัง อบจ. ที่พบช่องโหว่ทางเทคนิคเช่น การแยกขาดจากระบบสุขภาพเพราะคนละสังกัด และรูปการบริหารเงิน การจัดซื้อจัดจ้าง ปัญหาบุคลากร ทั้งหมดได้สร้างผลกระทบต่อประชาชนผู้รับบริการ ซึ่งแต่ละพื้นที่จะมีข้อตกลงที่ต่างกัน
นิมิตร์ ยกตัวอย่าง จ.กาญจนบุรี ซึ่งมีการถ่ายโอน รพ.สต.100% และมีข้อตกลงว่าเงินค่าผู้ป่วยนอก (IP) ที่ สปสช.ต้องจ่ายให้ รพ.ชุมชน สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเมื่อ รพ.สต. ย้ายก็ควรโอนเงินดังกล่าวที่ไปท้องถิ่นด้วย ทำให้เมื่อประชาชนจะไปหาหมอจะต้องไป รพ.สต. ก่อนเพราะเงินผู้ป่วยนอกอยู่ตรงนั้น
แต่ต้องถามกลับว่า ขีดความสามารถของ รพ.สต. ที่เท่ากับ รพ.ชุมชน ประจำอำเภอปัจจุบันมีกี่แห่ง หากกรณี รพ.สต. ยังไม่พร้อม ก็มีการออกระเบียบว่าประชาชนที่จะรักษาและต้องไปที่ รพ.ชุมชน ต้องมาเอาใบส่งตัวจาก รพ.สต.ก่อนเพื่อที่จะได้ไปรักษา รพ.ชุมชน ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และ รพ.สต.ก็ต้องไปตามจ่าย
นิมิตร์ บอกว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนจาก ผู้ป่วยเอชไอวี ใน จ.กาญจนบุรี ที่ต้องไปรับยาที่โรงพยาบาลชุมชน แต่โรงพยาบาลบอกให้ไปเอาใบส่งตัวที่ รพ.สต. ซึ่งเมื่อก่อนไม่ต้อง จึงมองว่าปัญหาจะค่อยๆขยายไปพื้นที่อื่น ๆ ไม่ใช่แค่กาญจนบุรี ดังนั้น ต้องรีบแก้ไขทันที
“ความเดือดร้อนไปอยู่ที่ประชาชน นโยบายบัตรประชาชนรักษาทุกที ก็สะดุดเลย ทำไม่ได้จริงเพราะปัญหาแบบนี้ เรื่องนี้หากบอร์ดพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ นำไปพิจารณาแก้ไข จะเป็นเรื่องที่ดีมาก และควรดำเนินการให้เร็วที่สุด”
นิมิตร์ กล่าว