โซเชียลให้กำลังใจครอบครัว “เภสัชกรหญิง“ เสียชีวิต มีประวัติรักษาซึมเศร้า

กรมสุขภาพจิต แนะ  สื่อสารเชิงบวกให้สังคมเข้าใจปัญหาสุขภาพจิต หมั่นเช็คจิตใจ พาเข้าสู่การรักษา

จากกรณีการเสียชีวิตของ ภญ.ญาดาภา ตันสุดเจริญยิ่ง อายุ 28 ปี ภรรยาของ ศุภโชค ศรีสุขจร สส.นครปฐม เขต 1 พรรคชาติไทยพัฒนา จากการตัดสินใจจบชีวิตตัวเองในบ้านพักส่วนตัว เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 66 จากข้อมูลพบประวัติรักษาโรคซึมเศร้า โดยอยู่ในความดูแลของครอบครัวและสามี คอยเฝ้าระวังและทานยามาโดยตลอด ก่อนหน้านี้ ศุภโชค ยังได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก แจ้งว่าได้ทำหน้าที่ในกรรมาธิการ 2 คณะสำคัญ คือ โฆษกคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ และ คณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคม เพียงไม่กี่วันก่อนเกิดเหตุ

ล่าสุดวันนี้  (12 ต.ค.66) ศุภโชค ได้โพสต์ภาพของภรรยา และข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า “ไม่ต้องเป็นห่วง ไม่ต้องกังวลอะไรแล้วนะคะ หลับให้สบายคะ แล้วคอยดูความสำเร็จฟีล์มอยู่บนฟ้านะคะ my angel (นางฟ้าของผม)” ซึ่งจากโพสต์ดังกล่าว มีผู้ใช้เฟซบุ๊กจำนวนมาก เข้ามาแสดงความเสียใจ และให้กำลังใจครอบครัว พร้อมหวังว่าสังคมจะเรียนรู้ เข้าใจผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากขึ้น

นี่ถือเป็นการสื่อสารเชิงบวก ตามนิยามของ นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต ที่ให้สัมภาษณ์กับ The Active ที่สังคมแสดงความคิดเห็นอย่างให้เกียรติครอบครัวผู้สูญเสีย และทำความเข้าใจกับอาการของโรคซึมเศร้ามากขึ้น ว่าตัวกระตุ้นพฤติกรรมมาจากหลายปัจจัย

พร้อมให้กำลังใจสามี และครอบครัว ภญ.ญาดาภา ว่า การหมั่นสังเกตอารมณ์คนใกล้ชิด รับรู้ว่าตัวเป็นซึมเศร้า และจับมือพากันเข้าสู่กระบวนการรักษาอย่างรวดเร็ว เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว 

“เชื่อว่าคนที่ดูแลผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า ต้องพยายามดูแล และละสายตาให้น้อยที่สุดอยู่แล้ว แต่คนเราไม่ได้มีช่วงเวลาส่วนตัวตลอด 24 ชม. ถ้าทุกคนทำดีที่สุดแล้วก็ไม่ใช่ความผิดของใคร หรือรับผิดชอบกับเรื่องนี้ทั้งหมด”

นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์

นพ.วรตม์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเข้าสู่กระบวนการรักษาจะทำให้ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า ตัดสินใจว่าจะทำร้ายตัวเองหรือผู้อื่นน้อยลงไปอย่างแน่นอน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้น เพราะยังมีอาการบางช่วงที่อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ หากได้พูดคุยจิตแพทย์อาจจะปรับยาให้ แต่อย่างไรก็ตามตัวกระตุ้นให้เกิดการฆ่าตัวตาย ไม่สามารถตอบได้ด้วยสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้ว จึงไม่อยากให้สังคมรีบด่วนสรุป 

ขณะที่บทบาทของสื่อมวลชน ควรทำมากกว่าการนำเสนอการเสียชีวิตของคนที่มีชื่อเสียง หรือ ทำไมถึงตัดสินใจแบบนั้น เพื่อเป็นการให้เกียรติครอบครัวผู้เสียชีวิต แต่ควรเป็นการสื่อสารเชิงบวกเพื่อทำให้สังคมเรียนรู้ เข้าใจปัญหาสุขภาพจิตมากยิ่งขึ้น เช่น เป็นคนที่มีความสามารถในด้านใด เพื่อให้เกิดความตระหนักว่าเราต้องเสียคนที่มีคุณภาพไปเพราะโรคนี้ และเราสามารถป้องกันได้ถ้าเรารับฟัง เข้าใจ ไม่ตีตรา ตัดโอกาสเสี่ยงด้วยการให้ข้อมูลหน่วยงาน หรือองค์กรที่ช่วยเหลือในด้านนี้ เช่น  สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ,SATI APP ,OOCA อาสาเยียวยาใจฟรี และ www.lovecarestation.com เป็นต้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active