เสนอแนวทาง Value Base Health Care รักษาดีแต่คอร์สต่ำเป็นวาระชาติเปลี่ยนแนวคิด “รักษาทุกโรค” เป็น “ป้องกันทุกโรค” เน้น Self Care มากกว่า Health Care
เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2566 ที่ประชุมสมัชชาสุภาพแห่งชาติครั้งที่ 16 เวทีหารือ “ก้าวต่อไปหลักประกันสุขภาพไทย ยั่งยืนหรือย่ำแย่” รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวล้ำไปมาก แต่ก็มีราคาสูง จะทำอย่างไรให้คนทั่วไปเข้าถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์ได้เท่ากัน แต่เทคโนโลยีทางการแพทย์ราคาสูงก็อาจไม่ใช่คำตอบเสมอไปปัจจุบันการดูแลผู้ป่วยที่ให้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุดอาจไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก หรือที่เรียกว่า Value Base Health Care การมีผลลัพธ์การรักษาที่ดี และใช้เงินน้อยในกระบวนการทั้งหมด ขณะเดียวกันควรเน้นเรื่องSelf – Care คือ การดูแลตัวเองซึ่งเป็นหนึ่งในเทรนด์การดูแลตัวเองอย่างยั่งยืนมากกว่า Health Care คือ การจัดระบบสุขภาพดําโดย บุคลากรของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน
นพ.สุรพล โล่ห์สิริ ที่ปรึกษาสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่าต้องเป็นเปลี่ยนแนวคิด 30 บาทรักษาทุกโรคเป็น ป้องกันทุกโรค คนจะใช้บริการน้อยลง เพราะคนไข้ลดลง และจะประหยัดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาไปมาก และจริง ๆ หน่วยบริการมีเยอะเพียงพอ แต่คนป่วยเล็กน้อย ควรจะไปคลินิกไปให้ถูกที่ ไม่ควรมาที่โรงเรียนแพทย์ หรือ โรงพยาบาลใหญ่ เช่นหากเป็นหวัดไปหาหมอที่ รร.แพทย์มันก็ไปโหลดภาระงานของแพทย์ที่นั่นซึ่งคนไข้โรคซับซ้อนมีเยอะอยู่แล้ว
“พูดถึงงบประมาณการรักษาเพิ่มขึ้น 10% ทุกปี ทำอย่างไรให้งบที่มีจำกัดไปดูเรื่อง Value Base Health Care การรักษาคุณภาพดี แต่คอร์สต่ำ อยากให้เน้นเรื่องนี้มากๆ เป็นวาระชาติ”
นพ.สุรพล
ภก.ปรีชา พันธุ์ติเวช อุปนายกสภาเภสัชกรรม คนที่ 2 กล่าวว่า การเข้าสู่สังคมสูงวัยเป็นโจทย์ใหญ่ของงบประมาณบัตรทองที่มีจำกัด ปัจจุบันผู้สูงอายุ 100 ปีขึ้นไป มี 30,000 คน อายุยืนมากขึ้น แต่ก็ป่วยมากขึ้นเช่นกัน เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCD คนไทย 40% อ้วนเสี่ยงหลายโรค ถ้า สปสช. มีสิทธิ์ประโยชน์เพิ่มขึ้น ก็ต้องใช้เงินเพิ่มขึ้น อนาคตเมื่อคนแก่มากขึ้น การเข้าถึงบริการจะน้อยลงขณะที่การเข้าถึงยานอกบัญชีก็แพง ยามะเร็งก็แพง ต้องยอมรับว่าคงบริการให้ทุกคนพอใจไม่ได้ เพราะเราไม่ใช่รัฐสวัสดิการ อย่างประเทศที่เก็บภาษีสูง แต่เราก็ดูแลเขาเท่าที่เราจะดูแดให้ดีที่สุด ดังนั้นการบริหารจัดการงบประมาณสำคัญที่สุด
ไมตรี จงไกรจักร ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท กล่าวว่า ขอสะท้อนปัญหาการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของกลุ่มคนชายขอบ เช่นชาวเล เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งไปไกล และบนเกาะไม่มีโรงพยาบาลอุปสรรคคือค่าเดินทาง และเมื่อไปถึงโรงพยาบาลยังต้องนอนรอต่อคิวได้รับการรักษาช้า จนหลายราย เสียชีวิต ขณะเดียวกันกลุ่มนักท่องเที่ยวกลับได้รับการดูแลดีกว่ามีเฮลิคอปเตอร์รับขึ้นฝั่งหากเกิดอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยรุนแรง
นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติเห็นด้วยที่จะยกระดับงานส่งเสริมป้องกันโรคแต่ที่ผ่านมากิจกรรมส่งเสริมป้องกันโรคกลายเป็นมีลักษณะของงานให้บริการซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นได้มากกว่านั้นทำให้การของบส่งเสริมป้องกันโรคที่มีอยู่ทุกท้องถิ่นเบิกจ่ายไม่หมดอย่างปีที่แล้ว กทม. เหลือเงิน ในกองทุนสุขภาพท้องถิ่น 1,500 ล้านบาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาสุขภาพเพิ่มมากขึ้นเช่นการบรรจุยาใหม่ๆ เข้าในบัญชียาหลักเพิ่มทุกปี มีราคาแพงขึ้น
Ms.Saima Wazed ว่าที่ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า เห็นความท้าทายในการจัดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยโดยเฉพาะ ค่ายา และเวชภัณฑ์ที่แพงขึ้น ประชากรที่เข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาลก็มากขึ้น
เธอบอกว่าควรให้รางวัลกับบุคลากรทางการแพทย์ที่สามารถลดจำนวนคนป่วยในพื้นที่ลงได้อย่างเห็นได้ชัด และให้ความสำคัญกับระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่เน้นในเรื่องการส่งเสริมป้องกันโรค รวมทั้งการฝึกเทรนอาสาสมัครสาธารณสุขในการดูแลผู้ป่วยที่เจ็บป่วยเล็กน้อย หรือผู้ป่วยที่ต้องรักษาระยะยาว ติดเดียวสุดท้ายสำคัญที่ ต้องเฝ้าระวังกระบวนการผลิตอาหารปลอดภัย ซึ่งอาหารการกินเป็นต้นเหตุของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่มีสัดส่วนคนป่วย รับการรักษามากที่สุด