กลุ่มผู้ป่วยยื่น 4 ข้อเสนอ “หมอชลน่าน” แก้ปมใบส่งตัว

รมว.สธ.ระบุเข้าใจและพยายามหาทางออกให้ดีที่สุด คนไข้ต้องไม่เดือดร้อน แต่การส่งต่อต้องสมเหตุสมผล พร้อมขอความร่วมมือ รพ. ในกทม. รับส่งต่อทุกสังกัด ดูแลผู้ป่วยบัตรทองที่มีใบส่งตัวให้การรักษาต่อเนื่อง ย้ำ สปสช. มีกองทุนสำหรับเบิกจ่ายการรักษาผู้ป่วยทุกราย ตั้งเป้า ต.ค.67 ยกเลิกขอใบส่งตัว

วานนี้ (20 มี.ค. 2567) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) รับยื่นหนังสื่อจากตัวแทนกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนระบบบัตรทองในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นกลุ่มเพจ Facebook “รวมคนได้รับผลกระทบจากใบส่งตัว บัตรทอง นโยบายใหม่ของ สปสช.” เพื่อขอให้แก้ปัญหาการใช้สิทธิบัตรทองในกรุงเทพมหานคร (กทม.) หลังจากที่ สปสช. เขต 13 กทม. ได้เปลี่ยนรูปแบบการจ่ายเงินให้คลินิกชุมชนอบอุ่นใน กทม. เป็นรูปแบบ OP New Model 5 ที่ได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2567 ที่ผ่านมา ทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ป่วยที่เคยมีนัดกับโรงพยาบาลรับส่งต่อ เนื่องจากคลินิกชุมชนอบอุ่นยกเลิกใบส่งตัวที่ออกก่อนวันที่ 1 มี.ค. 2567 ขณะที่โรงพยาบาลรับส่งต่อก็ให้ผู้ป่วยที่เคยนัดไว้กลับไปขอใบส่งตัวใบใหม่ก่อนเข้ารับบริการ 

กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบฯ ได้แนบรายชื่อผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบ และรายชื่อคลินิกชุมชนอบอุ่นที่มีปัญหาแก่ พร้อมยื่นข้อเรียกร้อง 4 ข้อ ประกอบด้วย 

  1. ขอให้กำกับดูแลให้คลินิกชุมชนอบอุ่นส่งตัวผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับบริการที่โรงพยาบาลตามมาตรฐานวิชาชีพ 
  2. ขอให้กำหนดให้คลินิกชุมชนอบอุ่นเขียนใบส่งตัวในระยะเวลาที่เหมาะสม ไม่ต่ำกว่า 3 เดือนในกรณีโรคไม่เรื้อรัง และ ไม่ต่ำกว่า 1 ปีในกรณีโรคเรื้อรัง 
  3. ขอให้กำหนดให้ผู้ป่วยไปขอรับใบส่งตัวที่ศูนย์บริการสาธารณสุขได้ในกรณีที่คลินิกชุมชนอบอุ่นไม่ออกใบส่งตัวให้
  4. ขอให้เผยแพร่ข้อมูลรายชื่อหน่วยบริการที่มีเรื่องร้องเรียน เพื่อให้ประชาชนใช้เป็นข้อมูลประกอบการรับบริการ 

นพ.ชลน่าน บอกว่า ปัญหาคลินิกชุมชนอบอุ่นใน กทม. หลัง สปสช. ทราบเรื่องได้แก้ปัญหาโดยเร็วแล้ว จาก Model 5 ที่เดิมเริ่มใช้ในปี 2564-2566 และในปี 2567 คลินิกออกมาเรียกร้องถึงขั้นว่าต้องปิดตัวทั้งหมดเพราะเงินที่ได้รับนั้นอยู่ไม่ได้ หากเป็นเช่นนั้นก็จะกระทบประชาชนทั้งหมดซึ่งจะเป็นภาวะที่หนักกว่า ดังนั้นที่ผ่านมา สปสช. จึงพยายามหาทางออกที่เหมาะสมที่สุด คือพยายามไม่กระทบต่อประชาชน ขณะเดียวกันผู้ให้บริการต้องอยู่ได้ด้วย ซึ่งแนวทางใหม่ที่เริ่มใช้นี้ไม่ได้คิดเอง แต่เกิดจากการประเมิน วิเคราะห์ และผสมผสานเป็นรูปบบ OP New Model 5 และได้ใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. เป็นต้นมา 

ส่วนกรณีที่ยังมีการเรียกใบส่งตัวผู้ป่วยอยู่นั้น ด้วย กทม. เป็นจังหวัดที่มีความสลับซับซ้อน รูปแบบของหน่วยบริการไม่เหมือนต่างจังหวัดที่มีความหลากหลาย ทั้งสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กทม. โรงเรียนแพทย์ ทหาร และตำรวจ เป็นต้น การบริหารจัดการในรูปแบบเดียวกับต่างจังหวัดอาจไม่ได้ผล ดังนั้นจึงต้องรอให้ระบบมีความพร้อมทั้งหมดก่อนแล้วค่อยดำเนินการได้ ตั้งเป้าหมายในเดือน ต.ค. นี้ที่ให้ทุกที่เชื่อมต่อข้อมูลกันได้ การยกเลิกใบส่งตัวก็จะเป็นไปโดยปริยาย 

อย่างไรก็ตามในช่วงเปลี่ยนผ่าน ได้มีการนำร่องไปแล้วระยะแรก 4 จังหวัด และระยะที่ 2 อีก 8 จังหวัด ซึ่งจังหวัดที่เหลือยังต้องใช้ใบส่งตัวอยู่ รวมถึง กทม. ที่มีการบริหารจัดการงบผู้ป่วยนอกแตกต่างจากจังหวัดอื่นๆ โดยมีระบบ OP New Model 5 งบเหมาจ่ายสำหรับคลินิก และ OP Anywhere รองรับการเบิกจ่ายให้กับ รพ.รับส่งต่อขณะนี้ 

ทั้งนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ซึ่งขณะนี้ สปสช.เขต 13 กทม. อยู่ระหว่างการแก้ไข โดยได้ออกหนังสือซักซ้อมทำความเข้าใจกับหน่วยบริการ กรณีผู้ป่วยที่มีการให้ใบส่งตัวไปแล้ว ไม่ต้องเรียกกลับมา ขณะที่ รพ. ก็ให้การรักษาผู้ป่วยเดิมต่อไปได้ โดยให้ส่งเบิกจาก สปสช.  

นพ.ชลน่าน บอกอีกว่า คลินิกฯ ที่เรียกร้องให้ สปสช. โอนจ่ายในรูปแบบเหมาจ่าย ด้วยเหตุผลว่าอยากดูคนไข้เอง และจะได้ให้บริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้ เมื่อวันนี้ระบบได้เริ่มใช้แล้ว คลินิกเองก็ต้องรับทำหน้าที่ดูแลคนไข้ให้ดีที่สุดด้วยเช่นกัน ให้การดูแลอย่างเต็มที่ ไม่ใช่นั่งเขียนใบส่งตัวให้ผู้ป่วยไปรักษาที่ รพ. แล้วเอาเงินเก็บไว้เอง 

ดังนั้นจึงมีการกำหนดหลักเกณฑ์ขึ้น หากเมื่อไหร่ที่คลินิกส่งตัวผู้ป่วยก็ต้องตามจ่าย 800 บาท/ครั้ง/ประชากร เป็นการร่วมรับผิดชอบ ซึ่งเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล และในกรณีผู้ป่วยที่ต้องส่งต่อไป รพ.นั้น  หาก รพ.เรียกเก็บค่าบริการเกิน 800 บาท ก็ให้เบิกจาก สปสช. ที่กันเงินเหมาจ่ายไว้กองกลาง (OP Refer) จำนวน 30 บาท/ประชากร/เดือน มาจ่ายเพิ่มเติมได้ และยังมีกองทุน OP Anywhere (ปฐมภูมิไปที่ไหนก็ได้) สำหรับการเบิกจ่ายให้กับ รพ. ได้

“ข้อเรียกร้องที่ตัวแทนผู้ป่วยยื่นหนังสือในวันนี้ ย้ำว่าเราเข้าใจและจะพยายามหาทางออกให้ดีที่สุด คนไข้ต้องไม่เดือนร้อน แต่การส่งต่อผู้ป่วยต่อก็ต้องสมเหตุสมผลและมีความจำเป็นจริง ๆ“

นพ.ชลน่าน กล่าว 

 

ประธานบอร์ด สปสช. บอกอีกว่า ผู้ป่วยทีมีใบส่งตัวแล้ว คลินิกก็ไม่ควรเรียกกลับ และขอให้ รพ.ทุกแห่งทุกสังกัดให้การรักษาผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง ซึ่งก็เป็นผู้ป่วยเดิมของท่านและมีสิทธิเบิกจ่ายในระบบบัตรทองอยู่ สำหรับการเบิกจ่ายนั้น ย้ำว่าการรักษาผู้ป่วยทุกราย รพ. ได้เงินทุกราย แต่หากวันนี้ รพ. ยกเลิกใบส่งตัวไปเลย ปัญหาจะตกกับผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยเองหลายรายก็มีภาวะเจ็บป่วยรักษาต่อเนื่อง แต่ย้ำว่าให้เป็นกรณีผู้ป่วยที่มีเหตุผลจำเป็นจริงๆ ที่ต้องรักษาที่ รพ.

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช. ได้ทำหนังสือชี้แจงแนวทางปฏิบัติกับคลินิกชุมชนอบอุ่นว่า ผู้ป่วยที่เคยส่งตัวไปแล้วขอให้เป็นแบบเดิม ซึ่งหลังจากนี้หากมีผู้รับบริการที่ไม่ได้รับความสะดวกหรือถูกปฏิเสธการออกใบส่งตัวทั้งที่มีความจำเป็นต้องไปรับบริการในโรงพยาบาลรับส่งต่อ ให้แจ้งเข้ามาที่สายด่วน 1330 ตลอด 24 ชม. ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาให้ทันที นอกจากนี้ยังสามารถร้องเรียนตาม มาตรา 57 และ 59 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 หากคิดว่าไม่ได้รับบริการที่เป็นไปตามมาตรฐาน โดย สปสช. จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขต่อไป

ขณะเดียวกัน ในส่วนของผู้ป่วยที่ถูกคลินิกข่มขู่และไม่สบายใจที่จะรับบริการกับคลินิกชุมชนอบอุ่นเดิม สามารถเปลี่ยนคลินิกใหม่ได้ โดยสามารถเปลี่ยนได้ถึงปีละ 4 ครั้ง 

นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังสามารถขอให้ศูนย์บริการสาธารณสุขที่เป็นแม่ข่ายในพื้นที่นั้นๆ ออกใบส่งตัวให้ได้เช่นกัน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาทางศูนย์บริการสาธารณสุขอาจจะปฏิเสธการออกใบส่งตัวเพราะเข้าใจว่าเป็นหน้าที่ของคลินิกชุมชนอบอุ่น ดังนั้น สปสช. จะเร่งชี้แจงทำความเข้าใจศูนย์บริการสาธารณสุขต่างๆ ว่าสามารถออกใบส่งตัวแก่ผู้ป่วยได้ในฐานะที่เป็นหน่วยบริการประจำของประชาชน และเป็นแม่ข่ายของคลินิกชุมชนอบอุ่นในพื้นที่นั้น ๆ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active