“ผู้ป่วย” สะท้อน 3 เดือนแล้วยังแก้ปัญหาไม่ได้ “คลินิกฯ” วอนอย่างมองเป็นนางร้าย ด้าน “สปสช.” เล็งเปลี่ยนรูปแบบการจ่ายเงินบัตรทอง กทม. ปีงบ 68 ขณะที่ “สภาองค์กรของผู้บริโภค” แนะโยกเงิน PP อุด OP จี้ กทม. ยกระดับ ศบส. เท่าโรงพยาบาลชุมชน
วันนี้ (29 มิ.ย. 2567) สภาองค์กรของผู้บริโภค จัดเวทีแนวทางแก้ไขปัญหาการส่งต่อผู้ป่วยบัตรทองใน กทม. เพื่อการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค โดยตัวแทนกลุ่มผู้ป่วยสะท้อนปัญหาความยากลำบากที่ต้องไปพบแพทย์ตามนัด เพราะบางคลินิกไม่ยอมออกใบส่งตัว หลังสปสช.เปลี่ยนรูปแบบการจ่ายเป็นเหมาจ่ายให้แก่คลินิกชุมชนอบอุ่น ซึ่งต้องตามจ่ายเมื่อส่งตัวผู้ป่วยที่มีสิทธิประจำที่คลินิกตน ยังไปโรงพยาบาล โดยเป็นเวลากว่า 3 เดือนแล้วกับปัญหาใบส่งตัวผู้ป่วยบัตรทอง กทม. ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข
นส.ศิวนุช สร้อยทอง จากมูลนิธิกระจกเงา ยกตัวอย่างกรณี นายพงษ์ศักดิ์ เยาวชัย สมาชิกโครงการจ้างวานข้าที่เสียชีวิตหลังคลินิกออกใบส่งตัวให้ล่าช้า อาจยังมีคนไข้รายอื่นที่เจอเหมือนๆกัน เป็นเหตุการณ์ไม่ควรเกิดขึ้นหากระบบสาธารณสุขของ กทม.ได้มาตรฐานจริง ที่ผ่านมาขาดการกำกับดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ ขาดผู้รับผิดชอบ ในกรณีผู้ป่วยตายเพราะใบส่งตัว จึงขอให้ทุกฝ่ายทบทวนจริยธรรมด้านสาธารณสุข นำหน้าเรื่องปัญหาการเงิน แพทยสภา สภาการพยาบาล ควรเข้ามาตรวจสอบ มีมาตรการลงโทษจริงจัง เพราะหากปล่อยไป ก็ไม่เป็นธรรมกับคลินิกที่ดี แนะนำให้ฟ้องคดีเป็นต้นแบบ
วอนอย่างมอง “คลินิกชุมชนอบอุ่น” เป็นนางร้าย
นส.ปอขวัญ นาคะผิว ตัวแทนคลินิกชุมชนอบอุ่น กทม. บอกว่าอย่าเพิ่งมองคลินิกฯ เป็นนางร้าย ผู้ป่วยหลายคนก็ให้ลูกหลาน หรือตัวแทนมาขอใบส่งตัวที่คลินิก โดยไม่ให้โอกาสให้คลินิกได้ดูแลเลย มองว่าปัญหาหลักเกิด 1. ความไม่เพียงพอของโรงพยาบาลประจำเขต หลายที่ต้องใช้รพ.เอกชน ไปรับบริการไกลๆ 2. งบบุคลากรขาดแคลนอยากให้ สปสช.จ่าย Fixed cost แยกออกจากค่ารักษา เพื่อให้คลินิกได้ใช้กำลังคนลงพื้นที่ทำงานด้านส่งเสริมป้องกันโรค (PP).อย่างเต็มที่ และขอให้แยกงบรักษาที่คลินิก กับงบรักษาที่ไปโรงพยาบาลออกจากกัน ไม่ต้องให้คลินิกตามไปจ่าย
สปสช.เล็งเปลี่ยนรูปแบบการจ่ายบัตรทอง กทม. ต้นปีงบ 68
ด้าน ทพญ.น้ำเพชร ตั้งยิ่งยง ผอ.สปสช.เขต 13 ยอมรับว่าการเปลี่ยนรูปแบบการจ่ายเงิน ของสปสช.ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมเป็นต้นมา สร้างความยากลำบากให้กับประชาชนที่ต้องใช้ใบส่งตัว ซึ่งก็พยายามแก้ไขปัญหาคาดว่ามีคลินิกอยู่แค่ 10% ที่ยังมีปัญหาปฏิเสธออกใบส่งตัว
สำหรับการบริหารกองทุนบัตรมี 3 กองทุนหลักคือ ส่งเสริมป้องกันโรค PP, ค่ารักษาผู้ป่วยนอก OP และ ค่ารักษาผู้ป่วยใน IP (และยังมีกองทุนย่อยๆอีก เช่น มะเร็ง,HIV) PP ควรทำเยอะเพื่อไม่ให้คนป่วย ในแต่ละปีมีงบ 1500 ล้าน แต่ใช้เพียงแค่ปีละ 200 ล้านบาทเท่านั้น แต่เข้าใจข้อจำกัดของการลงชุมชนในกทม. ส่วน OP อยากรักษา เมื่อส่งต่อก็มีต้นทุนสูงเงินจึงไม่พอ สถานการณ์ปี 2566 คลินิกได้เงินไม่เต็มบาท จึงเอาเงินมาไว้ที่คลินิกตั้งแต่ 1 มีนาคม ยอมรับว่าเตรียมความพร้อมน้อยไป
ในระหว่างนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการ เพื่อปรับรูปแบบการจ่ายเงินของสปสช.ซึ่งตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการจ่ายใหม่ ไม่สร้างปัญหาทางการเงินกับทั้งหน่วยให้บริการ และผู้รับบริการได้ในต้นปีงบประมาณ 2568 หรือเดือนตุลาคมนี้ ขณะนี้มีการเสนอรูปแบบการจ่ายมาหลายรูปแบบ ซึ่งตอนนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป
”แต่ยืนยันว่าประชาชนที่ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลหากไม่มีใบส่งตัว ก็สามารถเบิก สปสช.ได้กองทุน OP AnyWhere ซึ่งได้ทำความเข้าใจกับหน่วยบริการไปหลายครั้งแล้ว“
ผอ.สปสช.เขต 13 ระบุ
แนะโยกเงิน PP อุด OP ถามหาทุตยภูมิ กทม.
นพ.ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย อนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สภาองค์ของผู้บริโภค กล่าวว่า การส่งเสริมป้องกันโรคใน กทม.ไม่เหมือนต่างจังหวัดชุมชนแนวสูง กับ ชุมชนแนวราบ ความยากต่างกัน เป็นไปได้หรือไม่ สปสช. ผันเงินส่งเสริมป้องกันโรค (PP) มาอุดค่ารักษาผู้ป่วยนอก (OP) สปสช.ต้องปรับแนวคิดใหม่
ขณะที่ระบบสาธารณสุข กทม. เราพูดถึงหน่วยปฐมภูมิเยอะ แต่คำถามคือ หน่วยทุติยภูมิของ กทม.อยู่ที่ไหน ไม่แน่ใจว่าคลินิกฯ คือทุติยภูมิหรือ? ถึงเอาเงินไปไว้แบบโรงพยาบาลชุมชน (โรงพยาบาลประจำอำเภอในต่างจังหวัด)
“ในกทม. ต้องรื้อใหม่ว่าใครคือทุติยภูมิ เพราะในต่างจังหวัดคนออกใบส่งตัวคือ โรงพยาบาลชุมชน ซึ่งเป็นหน่วยบริการทุติยภูมิ หากจะใช้โมเดลนี้ กทม.ต้องเปลี่ยนบทบาท และรับความเสี่ยง”
นพ.ขวัญประชา ระบุ
จี้ กทม. ยกระดับ ศบส. เท่าโรงพยาบาลชุมชน
นส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค บอกว่า กทม.ควรยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส. ) ให้เท่ากับโรงพยาบาลชุมชน พร้อมเป็นหน่วยบริการประจำ รับคนสิทธิ์บัตรทองในกทม.ทั้งหมดกว่า 3.5 ล้านคน ตามจ่ายให้ทั้งคลินิกชุมชนอบอุ่นที่เป็นลูกข่าย ซึ่งรักษาอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย และตามจ่ายไปยังโรงพยาบาลตติยภูมิเมื่อต้องส่งตัวต่อ ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาใบส่งตัว กทม. เชิงระบบ
โดยจะรวบรวมข้อเสนอในวันนี้ ไปยื่นทั้งสปสช. กระทรวงสาธารณสุข และเตรียมเข้าพบหารือกับ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เชื่อว่าช่วงเวลาที่เหลืออีก 2 ปีของ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ น่าจะยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุขได้ไม่ยาก ซึ่งก็จะทำให้ประชาชนในกรุงเทพฯมั่นใจได้ว่าจะสามารถเข้าถึงบริการโดยไม่มีปัญหาเรื่องใบส่งตัวจากคลินิกปฐมภูมิ
ศบส.ทำเต็มที่แล้วดูแลสิทธิบัตรทอง 9 แสนคน ชี้ภาระงานล้นมือ
พญ.ดวงพร ปิณจีเสคิกุล รองผอ.สำนักอนามัย ในส่วนของศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) ทำไมไม่เปิดรับสิทธิ์บัตรทองเพิ่ม เพราะผู้ป่วยบัตรทองกทม. มีประมาณ 3.5 ล้านคน โดยศบส. 69 แห่งดูแล 9 แสนคน ที่เหลือคลินิกดูแล ซึ่ง ศบส.ถือว่าดูแลเต็มที่แล้ว และภาระหน่วยงานไม่ใช่แค่การรักษาพื้นฐานทั่วไป ยังมีงานควบคุมป้องกันโรค เช่นเกิดมีโรคระบาด ท้องเสียกลุ่ม เราจะต้องเข้าไปสอบสวน และป้องกันไม่ให้แพร่ระบาด
”ประเด็นปัญหาคือการเงิน ไม่อยากจะบอกว่าเราต้องใช้เงินกทม. หรือเงินนอกงบประมาณเติมไปเท่าไหร่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็ยินดีดูแลประชาชน“
พญ.ดวงพร ระบุ