หญิงวัย 50 รอดตาย! เพราะร่วมคัดกรองตรวจเลือดค่าเอนไซม์ตับ

หญิงวัย 50 ปี ค่าตับพุ่ง 800 ยูนิต/ลิตร หลังดื่มเหล้าขาวทุกวัน หามส่งโรงพยาบาลรอดตาย หลังเข้าร่วมคัดกรองเจาะตรวจเลือดตรวจค่าเอนไซม์ตับ ที่ รพ.สต.ใกล้บ้าน ตัดสินใจเลิกเหล้าตลอดชีวิต 

วันนี้​ (14​ ก.ค.​ 2567​) นับถอยหลัง 7 วัน ก่อนถึงวันเข้าพรรษา ที่ รพ.สต.กุดบง​ อ.โพนพิสัย​ จ.หนองคาย​ มีการนัดกลุ่มตัวอย่างที่เข้าร่วมโครงการตรวจค่าเอนไซม์ตับ เพื่อปรับพฤติกรรมลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยในพื้นที่ อ.โพนพิสัย มี รพ.สต.เข้าร่วมโครงการจำนวน 6 แห่ง มีกลุ่มเสี่ยงจากการคัดกรองพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และต้องเจาะเลือดตรวจ 377 คน พบว่าผลปกติ 302 คน และผิดปกติจำนวน 75 คน 

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์  ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  บอกว่าโครงการตรวจเอนไซม์ตับ เป็นยุทธศาสตร์ใหม่ของการลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของ สสส. ที่ผ่านมาเคยใช้แคมเปญรณรงค์ แต่ครั้งนี้ใช้กระบวนการงานด้านส่งเสริมป้องกันโรคโดยการตรวจคัดกรอง ประเมินพฤติกรรมเสี่ยง เพื่อค้นหากลุ่มเสี่ยงที่ดื่มหนัก กำลังจะป่วย และพบความผิดปกติของค่าเอนไซม์ตับ ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยตนเอง จากผลเลือดที่ออกมา ซึ่งการตรวจค่าเอนไซม์ตับ ถือเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ทำให้ผู้ดื่ม ตระหนักถึงผลกระทบของแอลกอฮอล์ต่อสุขภาพตับ หากมีค่าเกิน 40 ยูนิต/ลิตร ถือว่าการทำงานของตับผิดปกติ

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์

การตรวจคัดกรองครั้งนี้ ใช้งบของ สสส. จับมือกับเครือข่ายหมออนามัยวิชาการ กระจายลงไปยังหน่วยบริการปฐมภูมิ รพ.สต.ที่สมัครเข้าร่วมโครงการจำนวน 80 แห่ง ใน 12 เขตสุขภาพ เริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี 2566​ มีผู้เข้าร่วมคัดกรองพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วจำนวน 13,556 คน พบกลุ่มผู้ดื่มแบบเสี่ยง 4,236 คน คิดเป็น 31.25% ซึ่งมีความเสี่ยงต่อภาวะตับ และได้ชวนกลุ่มเสี่ยงตรวจเลือดประเมินค่าเอนไซม์ตับ มีผู้สมัครใจเข้าร่วมโครงการ 3,469 คน พบเอนไซม์ตับผิดปกติ 849 คนคิดเป็น 24.47%  

นพ.พงศ์เทพ บอกอีกว่า หากโครงการตรวจค่าเอนไซม์ตับ สามารถปรับพฤติกรรมกลุ่มเสี่ยง ได้ผลจริงมีงานวิจัยรองรับ ก็จะเสนอการคัดกรองนี้เป็นสิทธิประโยชน์บัตรทอง แต่หาก รพ.สต.สมัครใจก็สามารถเขียนของบไว้ผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น 

“รพ.สต.ทั้ง 80 แห่งที่เข้าร่วมโครงการ จะเตรียมการตรวจเลือดครั้งที่ 2 ในช่วงก่อนเข้าพรรษาของปีนี้ และจะตรวจอีกครั้งช่วงหลังออกพรรษา”

ผู้จัดการ สสส. กล่าว 
สมบูรณ์ หาญชนะ

ด้าน สมบูรณ์ หาญชนะ อายุ 50 ปี ชาวกุดบง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย หนึ่งในผู้ตรวจเอนไซม์ตับ บอกว่า ที่ผ่านมาดื่มเหล้าขาวทุกวัน ดื่มกัน 4-5 คน ประมาณ 3-4 ขวดต่อวัน เฉลี่ยคนละประมาณ 1 ขวด 

“เข้าตรวจเอนไซม์ตับครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2566 พบค่าเอนไซม์ตับสูงถึง 542 หน่วยจึงถูกส่งตัวไปรับการรักษาที่ รพ.โพนพิสัย และเมื่อโรงพยาบาลเจาะเลือดก็พบว่าค่าเอนไซม์ตับขึ้นไปสูงถึง 800 ทางแพทย์จึงให้นอนโรงพยาบาล 2 วัน และให้ยารักษา ติดตามอาการทุกเดือน เดือนละ 1 ครั้ง”

จากค่าเอนไซม์ตับที่สูงเช่นนี้ทำให้ลูกกังวล กลัวว่าแม่จะป่วยเป็นตับแข็งและเสียชีวิต จึงตัดสินใจเลิกดื่ม ซึ่งผลการตรวจล่าสุดเมื่อเดือนพ.ค. 2567 พบว่าค่าเอนไซม์ตับลดลงมาเหลือ 27 หน่วย ในระยะเวลา 5 เดือน ปัจจุบันแพทย์ไม่ได้นัดติดตามแล้ว ตั้งใจที่จะเลิกดื่มต่อไป

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 32.2% สูงเป็นอันดับ 2 รองจากภาคเหนือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุหลักของภาระโรคของคนไทย รองจากบุหรี่ และยังเป็นสาเหตุหลักทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ ไขมันแทรกในตับ ตับแข็ง ตับวาย และมะเร็งตับ คนไทยมีพฤติกรรมดื่มสุราแบบหนักในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมาจำนวน 5.73 ล้านคนคิดเป็น 10.05% การดื่มหนักจะส่งผลให้ตับอักเสบ และตรวจพบเอนไซม์ตับรั่วออกมาในกระแสเลือดในปริมาณสูงได้ 

ด้าน ดร.บุญเรือง ขาวนวล นายกสมาคมเครือข่ายหมออนามัยวิชาการ บอกว่า หมออนามัยเป็นผู้ให้บริการสุขภาพที่ใกล้ชิดชุมชน รู้จักคน รู้จักพื้นที่ จึงมีส่วนสำคัญในการสานพลังภาคีเครือข่ายในพื้นที่ทั้ง อสม. ชุมชน มาร่วมช่วยกันสร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดื่ม ตลอดจนให้ความรู้เรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงกรณีผู้ป่วยมีอาการรุนแรงประสานส่งต่อการรักษาไปยังแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว หรือแพทย์ของโรงพยาบาลแม่ข่าย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active