บอร์ด สปสช. เห็นชอบ การขับเคลื่อนนโยบายยกระดับบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกที่ฯ เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า ระยะที่ 4 ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ พร้อมออกประกาศฯ 5 ฉบับ เพื่อให้หน่วยบริการและประชาชนรับทราบ และดำเนินการเป็นไปทิศทางเดียวกัน
วันนี้ (2 ธ.ค. 2567) สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ว่าที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบการขับเคลื่อนนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่” เฟส 4 ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดีถ้วนหน้า โดยเน้นการเบิกจ่ายและการเชื่อมโยงข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ
รมว.สธ. ระบุว่า การดำเนินงานในครั้งนี้จะใช้ใบส่งตัวแบบดิจิทัลแทนเอกสารกระดาษ แต่ว่าในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อก็อาจจะมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง ถ้าหากว่าผู้ให้บริการ หรือผู้ประกอบการยังยึกยัก ก็จะให้ดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างจริงจัง และหากมีปัญหาการใช้งานในพื้นที่ ตนพร้อมลงไปแก้ไขด้วยตนเอง
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. เปิดเผยว่า ตั้งแต่การเริ่มต้นโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ ใน กทม. ได้มีการออกประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว 5 ฉบับ ซึ่งหนึ่งในนั้นเกี่ยวข้องกับการใช้ใบส่งตัวในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยสามารถออกใบส่งตัวผ่านสายด่วน 1330 และไม่มีความจำเป็นต้องเรียกประชาชนกลับมาที่คลินิกเพื่อรับเอกสาร
นพ.จเด็จย้ำว่า ขณะนี้กฎระเบียบต่างๆ ได้ถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจนตามกฎหมาย แต่ยังคงพบความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในบางส่วน จึงได้ขอความร่วมมือจากภาคประชาชนและหน่วยบริการให้ลงพื้นที่เพื่อช่วยสร้างความเข้าใจ พร้อมเสริมว่าการติดป้ายว่า สปสช. ขาดงบประมาณ เป็นการให้ข้อมูลที่อาจทำให้ประชาชนสับสน ถือเป็นการกระทำที่ผิดตามมาตรา 57 และ 59 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ
“เราไม่ต้องการใช้มาตรการทางกฎหมาย แต่เมื่อระบบดำเนินการมาเป็นระยะเวลาหนึ่งปี เรามั่นใจว่ากระบวนการต่าง ๆ ได้เข้าที่เข้าที่แล้ว หากยังมีปัญหาอยู่ในบางส่วน พร้อมเร่งสร้างความเข้าใจ”
สำหรับคลินิกที่ได้รับเงินเหมาจ่ายรายหัว นพ.จเด็จกล่าวว่า ระบบใหม่ได้ปรับการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายการส่งต่อเหลือ เพียง 800 บาทต่อราย จากเดิม 1,600 บาท ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ 1 มี.ค. 2567 และยังคงเหลืองบประมาณส่วนนี้ในระบบ จึงขอความร่วมมือจากทุกหน่วยบริการเพื่อให้เกิดความสมดุล โดยคำนึงถึงประชาชนที่อาจได้รับความเดือดร้อน และพร้อมลงพื้นที่ตรวจสอบและแก้ไขปัญหา
สำหรับกรอบแนวทางการดำเนินการที่สำคัญ 10 ประการ ที่บอร์ด สปสช. เห็นชอบให้ขับเคลื่อนในวันนี้ มีดังนี้
1) ประชาชนไปรับบริการได้ทุกที่ตามความจำเป็น โดยใช้บัตรประซาชนและไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว หรือใช้ใบส่งตัวอิเล็กทรอนิกส์
2) สนับสนุนให้หน่วยบริการแต่ละระดับจัดบริการตามศักยภาพ โดยเฉพาะบริการระดับปฐมภูมิ และบริการระดับตติยภูมิ/ขั้นสูงเพื่อกระจายการรับบริการ ลดความแออัดในหน่วยบริการขนาดใหญ่
3) เพิ่มหน่วยบริการนวัตกรรมรปแบบต่างๆ (บริการปฐมภูมิ) ครอบคลุมทั่วถึง ทุกพื้นที่ รวมทั้งหน่วยบริการทติยภูมิ รองรับการส่งต่อ
4) ขึ้นทะเบียนหน่วยบริการ ผ่านระบบ One stop service ลดขั้นตอน สะดวก
5) เชื่อมโยงข้อมูลบริการสุขภาพของหน่วยบริการทุกแห่ง กับระบบเบิกจ่ายขดเชยค่าบริการของ สปสช.ผ่าน API ลดภาระงานหน่วยบริการในการบันทึกและส่งข้อมูล
6) พัฒนาและใช้ AI ตรวจสอบก่อนจ่ายและหลังจ่าย เบิกจ่ายถูกต้อง รวดเร็วขึ้น
7) สนับสนุนการมีส่วนร่วมของหน่วยบริการในการตรวจสอบกับกันเอง
8) พัฒนาระบบตรวจสอบและการกำกับติดตามประเนินผล เพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายและมีข้อมูลหลักฐานในการปรับปรับปรน/พัฒนา
9) ยกระดับบริการสายด่วน contact center 1330 อำนวยความสะดวกและช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ประชาชนและหน่วยบริการ
10) สื่อสารประชาสัมพันธ์เชิงรุก และการแสดงสัญลักษณ์ของหน่วยบริการที่ให้บริการตามนโยบาย
สำหรับในส่วนของประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 5 ฉบับ เพื่อรองรับขับเคลื่อนตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ มีดังนี้
1) จังหวัดที่ดำเนินงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2567 โดยกาหนดรายชื่อจังหวัดเพิ่มเติมจานวน 31 จังหวัด เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล
2) การกำหนดหลักเกณฑ์และการดำเนินการให้บริการของหน่วยบริการตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่
3) การกำหนดหลักเกณฑ์และการดำเนินการในการรับบริการของประชาชนตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่
4) การกำหนดตราสัญลักษณ์และหลักเกณฑ์การใช้ตราสัญลักษณ์สาหรับหน่วยบริการที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่
5) การกำหนดหลักเกณฑ์และการดำเนินการในการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของผู้รับบริการในหน่วยบริการที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการตามนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่