วัยทำงานเครียดสูงต่อเนื่องหลายปี ยังคงเผชิญพิษเศรษฐกิจ หางานยาก ภาระครอบครัวบีบคั้น กระทบสภาพจิตใจแต่รู้จักปล่อยวางมากขึ้น
กรมสุขภาพจิตเปิดเผยรายงานการประเมินสุขภาพจิตตนเองของผู้เข้าร่วม 850,000 คน ระหว่าง ต.ค. 2566 – เม.ย. 2567 พบว่า พนักงานไทยมีความเครียดสูงถึง 40% เสี่ยงซึมเศร้า 17.2% เสี่ยงฆ่าตัวตาย 10.6% โดยมีเหตุจากพิษเศรษฐกิจ ความไม่แน่นอนทางธุรกิจ และจากการเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน ดูเหมือนปัญหาสุขภาพจิตจะเป็นปัญหาใหญ่ของคนวัยทำงานในไทยในปีที่ผ่านมา
วันที่ 27 ธ.ค. 67 The Active ลงพื้นที่สำรวจความเห็นคนวัยทำงาน ถึงปัญหาที่พบตลอดในช่วงปีที่ผ่านมา รวมถึงความหวังในปี 2568 พบว่าเสียงสะท้อนไปในทิศทางเดียวกันคือการให้ความสำคัญกับปัญหาสุขภาพจิตเป็นหลัก
สร้อย เจตสุภา วัย 27 ปี ชี้ว่า ปี 2567 ที่ผ่านมาเต็มไปด้วยการสูญเสียที่สร้างความสะเทือนใจ ซ้ำร้ายในโลกออนไลน์เต็มไปด้วยคอนเทนต์บั่นทอนจิตใจ รวมถึงสภาพสังคมเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ทำให้ต้องดิ้นรนมากในการเลี้ยงปากท้อง
“จากสถานการณ์โรคระบาดทำให้เศรษฐกิจแย่ลงยาวนาน ทุกคนในครอบครัวเราต้องดิ้นรนเลี้ยงตัวเองรวมทั้งเราด้วย เราเรียนจบก็ตั้งใจขึ้นมาจากสุราษฎร์ธานี เพื่อมาหางานทำในกรุงเทพ หวังว่าที่นี่จะช่วยให้ได้ค้นหาตัวเอง และทำตามฝัน
“แต่สำหรับคนรุ่นเรา ตอนนี้การหางานให้ตรงตามความต้องการเป็นเรื่องยากมาก เพื่อนบางคนเลือกงานที่พอทำได้ แล้วมีความสุขรายวัน แต่ไม่สามารถออกไปหางานที่ตรงตามความชอบตัวเองได้จริง ๆ”
สร้อย ย้ำถึงความหวังในปีหน้า ว่าอยากเห็นสังคมไทยเป็นสังคมที่รู้จักให้อภัยมากกว่านี้ และเป็นสังคมที่สนับสนุนความฝันให้หนุ่มสาวได้ทำงานในสิ่งที่ตัวเองรัก
“เราอยากให้ปีหน้าเป็นปีแห่งสุขภาพจิตดี เริ่มจากการมีเมตตาทั้งกับคนรู้จักและคนแปลกหน้า เพราะเรื่องเล็กน้อยก็สร้างความสุขได้ ไม่อยากให้จมกับความทุกข์มากไปเพราะยังไงชีวิตเราก็ต้องเดินต่อ ในส่วนตัวเอง เรามีความฝันว่าปีหน้าจะดีกว่านี้ อยากทำสิ่งที่รัก สิ่งที่ใช่ นั้นคือการทำเพลง และไม่อยากมีความรู้สึกว่าไม่อยากไปทำงานอีกต่อไปแล้ว”
ด้าน เอด้า จิรไพศาลกุล วัย 41 ปี เห็นสอดคล้องไปทิศทางเดียวกันว่า ปีที่ผ่านมาสังคมเจอปัญหาหนักทั้งภัยพิบัติน้ำท่วม และภัยเศรษฐกิจ แต่ยังมีแง่งามที่ทำให้เห็นความหวังในปีถัดไปอยู่ คือการได้เห็นการร่วมแรงร่วมใจของพี่น้องชาวไทยช่วยเหลือกัน
“แม้ปีที่ผ่านมาจะเจอวิกฤตหนัก แต่เราเห็นว่าถึงที่สุด ทุกคนจะออกมาช่วยกันลงมือทำ จึงเชื่อว่าปีหน้าสังคมจะยังมีความหวังมากขึ้น ตัวเราทำงานเกี่ยวกับการแก้ปัญหาน้ำท่วม พบว่าน้ำท่วมเป็นเรื่องคาดเดาได้ แต่ไทยเรากลับมีการเตรียมตัวน้อยมาก ทั้งในแง่นโยบายและระดับบุคคล
“ปีหน้าเราตั้งใจจะทำให้สังคมเข้าถึงข้อมูลและความรู้มากกว่านี้ เราอยากให้สังคมมีความหวัง และเข้าใจว่าบ้านเมืองเราจะไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้ แม้บางอย่างจะเป็นเรื่องไกลตัว แต่หลายอย่างก็เริ่มที่ตัวเราเอง”
ในด้านส่วนบุคคล เอด้า ยอมรับว่า ปีที่ผ่านมาต้องเผชิญกับเรื่องราวความเครียดในที่ทำงานไม่น้อย แต่เพราะมีสติจึงผ่านมาได้ ปีหน้าจึงตั้งใจดูแลสุขภาพจิต และออกกำลังใจเป็นหลัก
“เมื่อก่อนเราเป็นคนไม่สนใจเรื่องสุขภาพจิตนัก แต่ปีนี้ เราตั้งใจใช้ชีวิตอย่างมีสติ เลยผ่านเรื่องที่ดีและไม่ดีไปได้อย่างราบรื่น ทำให้เรารับมือกับดรามาต่าง ๆ ในชีวิตได้ดีกว่าในปีที่ผ่านมาที่ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ของปี ปีหน้าเราจึงตั้งใจจะไม่เพียงแค่เรียนรู้โลกภายนอก แต่หันมาเรียนรู้โลกภัยใน และออกกำลังใจให้ดีขึ้นด้วย”
ในขณะที่ ชนะศักดิ์ วงศ์วัฒน์ วัย 39 ปี สะท้อนว่า ปีที่ผ่านมา การเผชิญกับหลายอย่างทำให้ปล่อยวางมากขึ้น หันมามองเห็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของชีวิตคือครอบครัวและการทำงาน บทเรียนจากปีนี้ทำให้ในปีหน้ามีเป้าหมายในเรื่องการดูแลสุขภาพกายและใจเป็นหลัก
“ชีวิตทุกคนเป็นสีเทา มีทั้งขาวและดำ มีทั้งสุขและทุกข์ ยึดติดมาก-ก็ทุกข์มาก ยึดติดน้อย-ก็ทุกข์น้อย ไม่ยึดติด-ก็ไม่ทุกข์ บทเรียนจากปีนี้ทำให้ผมรู้ว่าปีหน้าผมจะดูแลสุขภาพกายและใจให้มากขึ้น ตั้งความหวังให้น้อยลง และลงมือทำตามเป้าหมายเล็ก ๆ ให้ไปถึง milestone ที่ตั้งไว้ให้ได้”
แม้ทั้ง 3 อาจไม่ใช่ตัวแทนของหนุ่มสาววัยทำงานทั้งหมดของประเทศ แต่อย่างน้อยได้สะท้อนให้เห็นวิกฤตที่ต้องเผชิญแทบไม่ต่างกัน โดยเฉพาะในเรื่องของสุขภาพจิต ในปีหน้าฟ้าใหม่ เราจะยังคงได้มองเห็นหนุ่มสาวที่ยังมีความหวัง และเป็นกำลังสำคัญของประเทศนี้อยู่ แต่หากรัฐกลับละเลยเสียงสะท้อนเล็ก ๆ เหล่านี้ ในอนาคต อาจกลายเป็นวิกฤตเรื้อรังระยะยาว และรุนแรงมากกว่านี้ก็เป็นได้