ประธาน กพอ. เผยปัญหาเกิดจากคำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ให้ภาคประชาสังคมต้องทำงานภายใต้โรงพยาบาลรัฐแทนคลินิกเอกชน แต่ติดขัดข้อกฎหมายทำให้โรงพยาบาลไม่สามารถส่งเงินออกมาได้ แม้องค์กรจะเป็นผู้ให้บริการจริงในพื้นที่ เตรียมยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐมนตรีสาธารณสุข 9 เม.ย.นี้ พร้อมย้ำ “เราไม่ได้ขอเงินเพิ่ม แค่ขอคืนเงินที่ทำงานไปแล้ว” ขณะที่ผู้ทรงคุณวุฒิเสนอทางออกผ่านงบกลางฉุกเฉิน งบ สสส. และกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น
จากกรณีที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาปรับลดงบประมาณของ USAID ส่งผลกระทบต่อองค์กรภาคประชาสังคมที่ให้บริการผู้ป่วย HIV ทั่วโลก ล่าสุด เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2568 สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้าน HIV (IHRI) ได้จัดการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานด้านเอชไอวีในประเทศไทย เพื่อหาแนวทางรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว
หนึ่งในทางออกเร่งด่วนที่มีการเสนอคือ การนำเงินค่าบริการที่ภาคประชาสังคมเป็นผู้ดำเนินการ แต่ค้างอยู่ในระบบของโรงพยาบาลรัฐ ออกมาคืนสู่ภาคประชาสังคม เนื่องจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้จัดสรรงบประมาณให้แล้ว แต่เงินเหล่านั้นยังไม่ถูกส่งต่อมายังองค์กรที่เป็นผู้ให้บริการจริง

วันนี้ (18 มี.ค. 2568) สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้ก่อตั้ง SWING ในฐานะ ประธานคณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ.) ให้สัมภาษณ์ The Active ว่าก่อนหน้านี้ ภาคประชาสังคมสามารถรับงบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้โดยตรง ผ่านความร่วมมือกับคลินิกเอกชน เช่น คลินิกของแพทย์หญิงนิตยา IHRI ที่ทำงานร่วมกับ SWING โดย SWING เป็นผู้ให้บริการในภาคสนาม ส่วนคลินิกเป็นผู้ดำเนินการด้านวิชาชีพและบันทึกข้อมูลเข้าสู่ระบบของ สปสช. เมื่อเงินจาก สปสช. ถูกโอนมายังคลินิก คลินิกก็จะส่งคืนงบประมาณส่วนที่เป็นค่าดำเนินการให้กับ SWING
อย่างไรก็ตาม เมื่อสองปีที่แล้ว มีคำสั่งจากกระทรวงสาธารณสุขให้ภาคประชาสังคมต้องดำเนินงานภายใต้โรงพยาบาลของรัฐแทนคลินิกเอกชน ส่งผลให้เงินที่เคยไหลผ่านมายังภาคประชาสังคมโดยตรง ต้องเข้าไปอยู่ในระบบของโรงพยาบาลรัฐแทน แต่ปัญหาคือ งบประมาณเหล่านั้นไม่ถูกส่งต่อกลับมายังผู้ที่ให้บริการจริง
สุรางค์ ระบุว่า ปัจจุบันการให้บริการของ SWING และภาคประชาสังคมอื่น ๆ ยังคงดำเนินไปตามปกติ เช่น การให้คำปรึกษา แจกยา และติดตามผู้รับบริการ แต่เงินสนับสนุนที่ควรได้รับกลับติดอยู่ในระบบโรงพยาบาล
“เงินจาก สปสช. ลงมาแล้ว แต่โรงพยาบาลไม่สามารถนำออกมาให้เราได้ เพราะติดขัดในข้อกฎหมาย ทั้งที่เราทำงานจริง และรายงานผลก็ถูกส่งกลับไปยัง สปสช. เรียบร้อยแล้ว” สุรางค์กล่าว
ในกรณีของ SWING มีสองโรงพยาบาลหลักที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ โรงพยาบาลบางรัก สังกัด กรมควบคุมโรค ในกรุงเทพฯ และโรงพยาบาลบางละมุง สังกัด สธ. ที่พัทยา จ.ชลบุรี แต่ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับ SWING เท่านั้น ยังมีองค์กรภาคประชาสังคมอื่น ๆ ในหลายจังหวัด เช่น เชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลก สงขลา ชลบุรี และอุบลราชธานี ที่กำลังประสบปัญหาเดียวกัน โดยขณะนี้กลุ่ม NGO กำลังร่วมกันรวบรวมข้อมูลว่า ยอดเงินที่ค้างอยู่ในระบบโรงพยาบาลมีมูลค่าเท่าใด
เตรียมทวงถาม รมว.สธ. 9 เม.ย. นี้
สุรางค์ บอกว่า เพื่อแก้ไขปัญหานี้ SWING และเครือข่าย NGO เตรียมเข้าพบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในวันที่ 9 เมษายนนี้ ในการประชุมของบอร์ด สปสช.
“เราต้องการให้รัฐหาทางออก เพราะตอนนี้เงินจากต่างประเทศก็ไม่ได้ งบประมาณในประเทศก็ถูกกักอยู่ในโรงพยาบาล แล้วเราจะเดินหน้าทำงานต่อไปได้อย่างไร” สุรางค์กล่าว
หากภาครัฐไม่สามารถแก้ไขข้อกฎหมายให้ภาคประชาสังคมได้รับงบประมาณที่ควรได้ การให้บริการด้านสุขภาพในกลุ่มเปราะบางอาจได้รับผลกระทบอย่างหนัก
“เราไม่ได้ขอเงินเพิ่ม เราแค่ขอให้เงินที่เราทำงานไปแล้วถูกส่งคืนมา เพื่อให้เราสามารถเดินหน้าดูแลสุขภาพของประชาชนต่อไปได้” สุรางค์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วงหารือของภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านเอชไอวี เมื่อวันที่ 17 มีนาคม ที่ผ่านมา ผู้ทรงคุณวุฒิบางส่วนเสนอให้ใช้งบกลางฉุกเฉินของรัฐบาลเป็นทางเลือกหนึ่ง ขณะเดียวกัน ยังมีการพิจารณาแหล่งเงินทุนภายในประเทศเพิ่มเติม นอกเหนือจาก สสส. เช่น งบส่งเสริมและป้องกันโรคของกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น ซึ่งสามารถขอสนับสนุนงบประมาณผ่านการเขียนโครงการ
อย่างไรก็ตาม มีข้อกังวลว่างบประมาณในระดับท้องถิ่นถูกจัดสรรไว้สำหรับโครงการอื่นแล้ว การเข้าถึงงบส่วนนี้จึงจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากนโยบายส่วนกลางเพื่อให้สามารถนำมาใช้ในงานด้านเอชไอวีได้อย่างมีประสิทธิภาพ