สุขภาพจิตชาวคอนโด น่าห่วง! หลังแผ่นดินไหวสั่นกรุง แพทย์ ชี้ ต้องเปลี่ยนจาก ‘เหยื่อ’ เป็น ‘ผู้ร่วมกู้วิกฤต’

กทม.ยังขาดเครือข่ายทางสังคมที่เข้มแข็ง เสนอแนวทางดึง “กรรมการนิติบุคคล” ร่วมเป็นเครือข่ายช่วยเหลือในภาวะวิกฤต พร้อมเน้นย้ำการเปลี่ยนบทบาทจาก “เหยื่อ” เป็น “ผู้ร่วมกู้วิกฤต” ช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจและสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนในระยะยาว

จากเหตุแผ่นดินไหววันที่ 28 มี.ค. 2568 ขนาด 8.2 มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเมียนมา แรงสั่นสะเทือนส่งผลกระทบถึงกรุงเทพมหานคร ทำให้หลายพื้นที่ได้รับความเสียหาย  

วันนี้ (30 มี.ค. 2568) นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท จากสำนักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข  บอกว่า ประชาชนที่อาศัยอยู่ในคอนโดฯ กำลังเข้าข่ายกลายเป็นหนึ่งใน “กลุ่มเปราะบาง” เพราะว่าหลังเกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อโครงสร้างอาคารหลายแห่งในกรุงเทพฯ เกิดความไม่แน่นอนเกี่ยวกับอนาคตของผู้อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการย้ายที่อยู่ชั่วคราว ระยะเวลาที่ต้องรอการซ่อมแซมอาคาร ตลอดจนภาระทางการเงินที่อาจเกิดขึ้น 

นพ.วิรุฬ ระบุว่า ปัญหาหนึ่งของการอยู่อาศัยในคอนโดฯ คือโครงสร้างของสังคมที่แตกต่างจากชุมชนทั่วไป ผู้อยู่อาศัยมักไม่รู้จักกัน ไม่มีเครือข่ายทางสังคมที่เข้มแข็ง จึงทำให้เมื่อเกิดวิกฤต หลายคนอาจรู้สึกโดดเดี่ยว ขาดการสนับสนุนจากเพื่อนบ้าน ในขณะที่ชุมชนดั้งเดิมสามารถช่วยเหลือกันได้อย่างเป็นระบบมากกว่า

“คนที่อยู่ในคอนฯ โดมักใช้ชีวิตแยกจากกัน ต่างคนต่างอยู่ ทำให้ทุนทางสังคมที่ช่วยเหลือกันในช่วงวิกฤตไม่เท่ากับชุมชนทั่วไป บางคนอาจเลือกซ่อนตัวอยู่ในอาคารแม้ว่าจะมีความเสี่ยง เช่น เลี้ยงสัตว์ในคอนโดฯ ที่มีกฎห้าม หรือไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง” นพ.วิรุฬกล่าว

“สุขภาพจิต” ประเด็นเร่งด่วนที่ต้องเร่งดูแล

นพ.วิรุฬ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้เหตุการณ์นี้จะยังไม่ร้ายแรงถึงระดับภัยพิบัติแบบแผ่นดินไหวหรืออาคารถล่ม แต่ผลกระทบทางจิตใจของผู้พักอาศัยเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม ความเครียดและความวิตกกังวลเฉียบพลันเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วน

“เราพบว่าในช่วงแรกของวิกฤต สุขภาพจิตเป็นเรื่องสำคัญมาก เราจำเป็นต้องช่วยให้ผู้ได้รับผลกระทบสามารถตั้งหลักและรับมือกับสถานการณ์ได้” นพ.วิรุฬกล่าว

เพื่อรับมือกับสถานการณ์นี้ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันพัฒนาแนวทางการดูแลผู้ได้รับผลกระทบ โดยอาศัยบทเรียนจากวิกฤตการณ์ที่ผ่านมา เช่น โควิด-19 โดยมีการจัดตั้งระบบสนับสนุนจากฐานราก เช่น วงสนทนาเพื่อระบุปัญหาและแนวทางแก้ไข

นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดที่จะดึงกรรมการนิติบุคคลของแต่ละคอนโดเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการช่วยเหลือผู้อยู่อาศัย ซึ่งจะเป็นการใช้เครือข่ายที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ การพัฒนาแนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมจะช่วยให้แต่ละอาคารสามารถรับมือกับสถานการณ์ได้ดีขึ้น

เปลี่ยนจาก ‘เหยื่อ’ เป็น ‘ผู้ร่วมกู้วิกฤต’

นพ.วิรุฬ ยังกล่าวถึงแนวคิดที่เสนอโดย นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต ว่าการช่วยให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบเปลี่ยนบทบาทจาก ‘เหยื่อ’ เป็น ‘ผู้ร่วมกู้วิกฤต’ จะช่วยลดความรู้สึกสิ้นหวังและทำให้พวกเขามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้อื่น ซึ่งจะส่งผลดีต่อสภาพจิตใจของตัวเอง

“เมื่อเรากังวลและกลัวมาก การช่วยเหลือผู้อื่นจะทำให้ความรู้สึกเหล่านั้นลดลง และเป็นการช่วยให้สังคมโดยรวมสามารถรับมือกับวิกฤตได้ดีขึ้น” นพ.วิรุฬกล่าว

ใช้วิกฤตเป็นโอกาสสร้างชุมชนในเมือง

นพ.วิรุฬ กล่าวว่า การสร้างเครือข่ายระหว่างกรรมการนิติบุคคลของคอนโดต่างๆ อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในสังคมเมืองไทย ซึ่งอาจช่วยลดปัญหาความโดดเดี่ยวและเพิ่มความเข้มแข็งของชุมชนในคอนโดระยะยาว

“ในเหตุการณ์นี้ เราเห็นว่ากลไกของรัฐเพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถเข้าถึงทุกคนได้ทันเวลา การสร้างเครือข่ายอาสาสมัครจากนิติบุคคลและผู้อยู่อาศัยเองจะช่วยเติมเต็มช่องว่างนี้ และอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างของสังคมเมืองในอนาคต” นพ.วิรุฬกล่าว

การดำเนินงานในสัปดาห์ต่อไปจะเน้นไปที่การจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับตัวแทนจากนิติบุคคลของคอนโดต่างๆ รวมถึงพัฒนาแนวทางที่เป็นรูปธรรมในการดูแลสุขภาพจิตของผู้อยู่อาศัยในเมืองให้ทั่วถึงมากขึ้น

ยังหวาดระแวงแม้มีการยืนยันความปลอดภัย

อังคณา เจียมจิระพร หนึ่งในผู้อยู่อาศัยในคอนโดฯ ย่านบางอ้อ เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ตอนเกิดแผ่นดินไหว เธออยู่ที่ทำงานและกำลังประชุมอยู่ที่ชั้น 2 ของอาคาร “ตอนแรกยังไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่รู้สึกว่าตึกโยก โคมไฟเริ่มแกว่ง ตอนนั้นคิดแค่ว่าต้องพาทุกคนออกจากอาคารให้เร็วที่สุด”

หลังจากเหตุการณ์สงบลงและเธอเดินทางกลับที่พัก มีเพื่อนร่วมคอนโดส่งภาพรอยร้าวบริเวณหน้าลิฟต์มาให้ดู ทำให้เธอเริ่มกังวลและตัดสินใจไม่กลับเข้าพักในคืนนั้น “ตอนนั้นแฟนที่อยู่เนปาลบอกว่าอย่าเพิ่งกลับ เพราะแผ่นดินไหวอาจมีอาฟเตอร์ช็อก” เธอจึงต้องหาที่พักชั่วคราว

อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดด้านชีวิตประจำวัน เธอสามารถอยู่ข้างนอกได้เพียงคืนเดียว และต้องกลับเข้าห้องพัก แม้ว่าจะยังรู้สึกไม่มั่นใจนัก “แม้จะมีการประกาศว่าสามารถกลับเข้าพักได้ แต่พอกลับมาก็เห็นว่าคนเริ่มทยอยขนของออกจากคอนโด บางคนเลือกย้ายไปอยู่ที่อื่น ลิฟต์ใช้ได้แค่ตัวเดียว ทำให้ยิ่งรู้สึกหวาดระแวง”

ปัจจุบัน แม้ว่าจะพยายามใช้ชีวิตตามปกติ แต่เธอยังมีอาการเวียนหัวจากแรงสั่นสะเทือนที่ยังคงฝังอยู่ในความรู้สึก “ตอนเกิดเหตุยังไม่รู้สึกมาก แต่หลังจากนั้นอาการเวียนหัวเริ่มมาเยอะขึ้น” เธอกล่าว พร้อมยอมรับว่ายังมีความกังวลถึงอาฟเตอร์ช็อกที่อาจเกิดขึ้น

นอกจากนี้ เธอยังมีความกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซม เพราะแม้ว่าคอนโดที่เธอเช่าจะมีบริษัทประกันมาดูแล แต่สำหรับคอนโดที่เธอเป็นเจ้าของเอง เธอยังไม่แน่ใจว่าบริษัทประกันจะสามารถเยียวยาค่าเสียหายได้มากน้อยแค่ไหน “เห็นข่าวว่าหลายที่มีความเสียหายหลักสิบล้าน ไม่แน่ใจว่าประกันจะช่วยได้เท่าไหร่”

อังคณา ระบุว่า เธอพยายามรับมือกับความเครียดโดยใช้หลักคิดที่เคยอบรมมาเกี่ยวกับการเตรียมใจให้พร้อมรับกับสิ่งที่คาดไม่ถึง “เราไม่สามารถควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นได้ สิ่งที่เราทำได้คือเตรียมใจและหาทางดูแลตัวเองให้ดีที่สุด”

ทบทวนอนาคตที่อยู่อาศัย แม้ยังต้องผ่อนคอนโดต่อ

เกศินี เขียนวารี  ผู้อาศัยในคอนโดฯ ที่ได้รับผลกระทบแผ่นดินไหว ย่านจ.นนทบุรี บอกว่า ขณะเกิดแผ่นดินไหว เธอนั่งอยู่ที่โต๊ะทำงานในออฟฟิศ กำลังจะเริ่มงานช่วงบ่าย ก่อนจะรู้สึกว่าเก้าอี้สั่น ตอนแรกคิดว่ามีคนเขย่า แต่เมื่อหันไปคุยกับเพื่อนร่วมงานก็พบว่าหลายคนรู้สึกเช่นเดียวกัน จากนั้นเธอได้สังเกตแก้วน้ำบนโต๊ะซึ่งมีการสั่นไหวอย่างชัดเจน

“ตอนแรกไม่คิดว่าเป็นแผ่นดินไหว นึกว่าตึกมีปัญหา แต่พอเห็นแก้วน้ำสั่นแรงขึ้น ทุกคนเริ่มเสียการทรงตัว ก็เลยตะโกนว่า ‘แผ่นดินไหว!’ แล้วรีบอพยพออกจากอาคาร”

หลังจากอพยพออกมาสู่พื้นที่โล่ง ​เกศินีและเพื่อนร่วมงานได้ติดตามข่าวสารทางโซเชียลมีเดีย จึงมั่นใจว่าเหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบในวงกว้าง ขณะเดียวกัน ความกังวลเพิ่มขึ้นเมื่อมีการเตือนถึง Aftershock หรือแรงสั่นสะเทือนตามมา ทำให้ไม่กล้ากลับขึ้นไปบนอาคารสูง

“ที่ทำงานประกาศให้พนักงานกลับบ้าน แต่คอนโดของเราอยู่ชั้น 18 ก็ยิ่งกังวล ตอนนั้นตัดสินใจนั่งรอจนถึงเย็น เพื่อให้กรมอุตุฯ ยืนยันว่าไม่มีแรงสั่นสะเทือนเพิ่มเติม จึงค่อยกลับขึ้นไป” เธอเล่าถึงความหวาดกลัวที่เกิดขึ้น

ระหว่างทางกลับคอนโด กลุ่มไลน์ของลูกบ้านต่างแชร์ภาพรอยร้าวภายในห้องพักและโถงอาคาร ซึ่งยิ่งทำให้ความกังวลเพิ่มขึ้น เกศินีจึงชวนน้องที่ทำงานขึ้นไปตรวจสอบห้องพักของตน

“พอเปิดประตูเข้ามา ก็เห็นรอยร้าวยาวจากผนังลงมาถึงพื้น เศษปูนแตกออกมา ของบางอย่างตกลงจากที่เดิม ทำให้ไม่กล้านอนที่คอนโดฯ คืนนั้น ต้องไปพักบ้านเพื่อนแทน และรอให้วิศวกรเข้าตรวจสอบโครงสร้างก่อน” เธอเล่าถึงสถานการณ์หลังแผ่นดินไหว

แม้วิศวกรจะเข้ามาตรวจสอบและยืนยันว่าโครงสร้างยังปลอดภัย แต่เธอยอมรับว่ายังรู้สึกกังวล และมีอาการแพนิคเป็นระยะ ๆ “ตอนนั่งดูทีวี รู้สึกเหมือนพื้นโคลงเคลง ต้องหันไปดูน้ำในแจกันว่าเคลื่อนไหวหรือเปล่า บางครั้งก็คิดไปเอง แต่ก็ห้ามตัวเองไม่ได้”

ครอบครัวของเธอแสดงความเป็นห่วง แนะนำให้หาที่อยู่ใหม่ที่ปลอดภัยกว่า แต่อย่างไรก็ตาม เธอยังลังเลเพราะคอนโดอยู่ใกล้ที่ทำงานและยังต้องผ่อนต่อไปอีกหลายปี “พ่อบอกว่าไม่ต้องผ่อนต่อก็ได้ แต่เราอยู่ที่นี่มานาน ผ่อนมาเยอะแล้ว มันตัดสินใจยาก” เธอกล่าว พร้อมยอมรับว่านี่อาจเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ต้องคิดเรื่องการย้ายที่อยู่ใหม่

เธอเผยว่า ความเครียดจากเหตุการณ์นี้ส่งผลต่อสภาพจิตใจไม่น้อย โดยเฉพาะเมื่อเห็นรอยร้าวในคอนโดทุกวัน อย่างไรก็ตาม เธอพยายามจัดการความรู้สึกของตัวเองด้วยการพูดคุยกับเพื่อน และหากิจกรรมที่ช่วยเบี่ยงเบนความสนใจ

“พยายามไม่เก็บไว้คนเดียว ระบายออกมาว่าเครียดแค่ไหน นอนไม่หลับยังไง ดูหนังหรือคลิปสนุก ๆ ให้หายเครียด แม้มันจะช่วยได้แค่ช่วงสั้น ๆ แต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย” เธอกล่าวทิ้งท้าย

เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้เป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้หลายคนตระหนักถึงความเสี่ยงของอาคารสูง และความสำคัญของมาตรการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ ขณะเดียวกัน ก็สะท้อนถึงผลกระทบทางจิตใจที่อาจอยู่กับผู้ประสบเหตุไปอีกนาน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active