เดินหน้าระบบเชื่อมต่อข้อมูลผู้ป่วยข้ามพื้นที่ เร่งประสาน รพ.สต.–โรงพยาบาลหลัก ดูแลต่อเนื่องในศูนย์อพยพ ตั้งทีมแพทย์ประจำศูนย์–หน่วยแพทย์สนาม รองรับบริการเบื้องต้น ควบคุมโรค สุขาภิบาลเข้มทุกจุด แม้ รพ.ปิดบริการ 5 แห่ง
วันนี้ (28 ก.ค. 2568) ท่ามกลางสถานการณ์ปะทะชายแดนไทย–กัมพูชา ที่ยังคงส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ จังหวัดสุรินทร์เดินหน้าจัดการระบบสาธารณสุขในศูนย์อพยพชั่วคราว ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ พร้อมย้ำแนวทางการดูแลประชาชนแบบต่อเนื่อง แม้โรงพยาบาลจะปิดบริการไปแล้วหลายแห่ง ขณะที่ ผู้ว่าฯสุรินทร์ ประกาศเขตภัยพิบัติสงคราม เป็นจังหวัดแรก ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงเข้าบริเวณพื้นที่เสี่ยงตามที่จังหวัดประกาศ และให้ชาร์จแบตมือถือให้เต็ม อย่าปิดเครื่องเตรียมรับข้อมูลจาก Cell Boardcast Service ตลอด24 ชั่วโมง
The Active ลงพื้นที่ศูนย์อพยพแห่งหนึ่งใน อ.เมืองสุรินทร์ พบกับหญิงสูงวัยรายหนึ่งที่ร้องขอความช่วยเหลือ เพราะต้องเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเข็มที่ 3 ตามนัดแพทย์ แต่ไม่แน่ใจว่าจะไปรับวัคซีนต่อได้ที่ไหน หลังจากย้ายจากพื้นที่ อ.กาบเชิง ที่โรงพยาบาลประจำอำเภอถูกสั่งปิดบริการชั่วคราว
กรณีนี้เป็นตัวอย่างสำคัญที่สะท้อนว่าระบบสาธารณสุขจะรับมือกับการดูแลประชาชนที่ต้องรับบริการต่อเนื่องได้หรือไม่

ใช้บัตรประชาชนดึงข้อมูลรักษา–วัคซีนต่อเนื่องในศูนย์อพยพ
นพ.ยุทธนา วรรณโพธิ์กลาง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ ให้สัมภาษณ์ The Active ว่า กรณีผู้ที่ต้องรับวัคซีนหรือยารักษาโรคเรื้อรังต่อเนื่อง เช่น ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยโรคประจำตัว สำนักงานสาธารณสุขใช้ระบบเชื่อมโยงข้อมูลผ่านบัตรประชาชนกับฐานข้อมูลของโรงพยาบาลทั่วจังหวัด เพื่อให้สามารถตรวจสอบและให้บริการต่อได้อย่างราบรื่น แม้ผู้ป่วยจะอพยพมาอยู่ศูนย์พักพิง
“เราสามารถดึงข้อมูลการรักษาและนัดหมายจากระบบกลางมาใช้ต่อได้ทันที ไม่ว่าจะอยู่ศูนย์ไหนก็ตาม” นพ.ยุทธนา กล่าว
ซึ่งกรณีของคุณยายจะได้รับการประสานให้ฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าตามนัด ที่ รพ.สุรินทร์ ส่วนกรณีวัคซีนไม่ครบ ยาหมด หรือผู้ป่วยจำเป็นต้องพบแพทย์เฉพาะทาง จะมีทั้งการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลปลายทาง หรือหากมีศักยภาพพอ จะจัดบริการภายในศูนย์อพยพโดยตรง

โรงพยาบาล 5 แห่งปิด–ผู้ป่วย-บุคลากรโยกย้ายตามแผนรับมือ
จากสถานการณ์ชายแดนที่ทวีความรุนแรง ทำให้โรงพยาบาลใน จ.สุรินทร์ ต้องปิดให้บริการชั่วคราวแล้ว 5 แห่ง ได้แก่
• โรงพยาบาลพนมดงรัก
• โรงพยาบาลกาบเชิง
• โรงพยาบาลปราสาท
• โรงพยาบาลสังขะ
• โรงพยาบาลบัวเชด
นพ.ยุทธนา ยืนยันว่า ผู้ป่วยและบุคลากรจากโรงพยาบาลที่ปิด ได้อพยพตามแผนความปลอดภัย พร้อมจัดสรรกำลังเข้าสนับสนุนโรงพยาบาลที่ยังเปิด เช่น โรงพยาบาลสุรินทร์ โรงพยาบาลรัตนบุรี หรือหน่วยแพทย์สนามในศูนย์อพยพขนาดใหญ่ โดยแพทย์และบุคลากรจากโรงพยาบาลที่ปิด จะถูกส่งสมทบกับทีมในโรงพยาบาลปลายทางอย่างเป็นระบบ
รพ.สต.–ทีมมินิเมดประจำศูนย์ ดูแลโรคเรื้อรัง–บริการเบื้องต้น
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยังได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่จาก รพ.สต. ในพื้นที่ที่อพยพประชาชน ย้ายตามมาอยู่ประจำศูนย์อพยพ โดยดูแลสุขภาพประชาชนที่เป็นผู้ป่วยในความรับผิดชอบเดิม เช่น โรคเรื้อรัง ความดัน เบาหวาน การรับยาต่อเนื่อง ฯลฯ
“เจ้าหน้าที่ รพ.สต. คือพี่น้องที่อพยพมาพร้อมกับประชาชน และยังคงทำหน้าที่ดูแลกันเหมือนเดิม” นพ.ยุทธนา กล่าว
ขณะเดียวกัน ยังได้ตั้ง “ทีมแพทย์มินิเมด” (Mini-Medical Team) ให้บริการในศูนย์อพยพขนาดใหญ่ และได้รับการสนับสนุนจากโรงพยาบาลระดับชาติ เช่น โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ สภากาชาดไทย และโรงพยาบาลตำรวจ ที่ส่งแพทย์และอุปกรณ์ร่วมให้บริการอย่างต่อเนื่อง
ควบคุมโรคเข้มในศูนย์อพยพ – ยังไม่พบโรคระบาด
ด้านการควบคุมโรค จังหวัดสุรินทร์จัดทีม CDCU (Communicable Disease Control Unit) ลงพื้นที่เพื่อเฝ้าระวังโรคติดต่อ โดยประสานการทำงานร่วมกับศูนย์อพยพในแต่ละแห่ง พร้อมจัดทีมสุขาภิบาลดูแลความสะอาด อนามัยสิ่งแวดล้อม และระบบน้ำเสีย
โรคที่ต้องเฝ้าระวังในศูนย์อพยพ ได้แก่
• โรคติดต่อที่นำโดยแมลง เช่น ไข้เลือดออก
• โรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด
• โรคทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย อุจจาระร่วง
แม้ในขณะนี้ยังไม่มีรายงานการระบาด แต่มีผู้ป่วยเล็กน้อยในบางจุด ซึ่งได้รับการดูแลอย่างรวดเร็ว
ทีมจิตเวช MCATT–จิตแพทย์เด็ก ลงพื้นที่เยียวยาจิตใจ
ท่ามกลางภาวะสูญเสียและความเครียดของประชาชนในศูนย์อพยพ ทีม MCATT (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team) ของทุกอำเภอใน จ.สุรินทร์ รวม 17 ทีม ได้ระดมกำลังเข้าดูแลจิตใจประชาชน โดยเฉพาะญาติผู้สูญเสียและกลุ่มเด็กเปราะบาง มีการจัดกิจกรรมคลายเครียด และคัดกรองปัญหาสุขภาพจิตอย่างต่อเนื่อง พร้อมรับการสนับสนุนจากจิตแพทย์จากเขตสุขภาพ และหน่วยงานส่วนกลาง
“สถานการณ์ที่ชายแดนคือความไม่แน่นอน แต่สิ่งที่เรามั่นใจได้คือ ระบบสาธารณสุขของเราพร้อมดูแลพี่น้องทุกคน ทั้งกายและใจ”นพ.ยุทธนา
ยอดผู้ได้รับผลกระทบล่าสุด 52 คนบาดเจ็บ 4 ระดับ
ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข รายงานข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุปะทะชายแดนไทย–กัมพูชา ฝั่งพลเรือน ณ วันที่ 28 กรกฎาคม 2568 เวลา 11.30 น. ดังนี้
• เสียชีวิต 14 คน
• บาดเจ็บสาหัส 12 คน
• บาดเจ็บปานกลาง 13 คน
• บาดเจ็บเล็กน้อย 13 คน
รวม 52 คน (เพิ่มจากเมื่อวาน 3 คน เหตุเกิดใน จ.ศรีสะเกษ)
ขณะนี้ มีผู้ป่วยยังพักรักษาในโรงพยาบาล 16 คน อีก 9 คนอาการดีขึ้นและกลับบ้านแล้ว
สถานพยาบาลที่ได้รับผลกระทบรวม 19 แห่ง
• ปิดบริการทั้งหมด 12 แห่ง (เพิ่ม รพ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์)
• ปิดบริการบางส่วน 7 แห่ง