ได้หรือเสีย? ‘เสรีกัญชา’ อนาคตเยาวชน แลก เม็ดเงินเศรษฐกิจ

แพทย์ – นักวิชาการ ย้ำ อย่ามองแค่แง่ดี ดึงเม็ดเงินหมื่นล้าน ย้อนดูบทเรียน สหรัฐฯ หากไร้การควบคุม เด็กเสพติดจนต้องทิ้งการเรียน ย้ำรัฐต้องเท่าทัน เร่งสร้างความเข้าใจ ช่วงสุญญากาศ

แม้ อนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ย้ำว่า อย่ากังวลภัยจากกัญชา ยืนยันกระทรวงสาธารณสุข เดินหน้าสร้างความเข้าใจ ให้ประชาชนใช้อย่างปลอดภัยเพื่อสุขภาพ และเชื่อว่า ‘เสรีกัญชา’ จะได้ประโยชน์แก่เศรษฐกิจ เงินหมุนเวียน เพิ่มการจ้างงาน ไม่ใช่ใช้เพื่อสันทนาการ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบมูลค่าทางเศรษฐกิจจากกัญชาทั่วโลก ประมาณ 100,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 3 ล้านล้านบาท หากเป็นเช่นนั้นประเทศไทยขอแค่ 2% ของตลาดโลก ประมาณ 60,000 ล้านบาท หรือในระยะตั้งไข่อาจขอแค่ 2-3 หมื่นล้านบาท

แต่นักวิชาการบางส่วน กลับมองว่า นี่คือเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งภาครัฐต้องสร้างองค์ความรู้ ควบคู่กับความเข้าใจให้มากที่สุด

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์แสดงความเห็น “เปิดเสรีกัญชา…ได้หรือเสีย?” อ้างอิงข้อมูล สถิติในรัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา ซึ่งประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจจากกัญชา พบว่า แต่ละครั้งที่รัฐเก็บภาษีได้ 1 ดอลล่าร์ จากการขายกัญชา ชาวโคโลราโด จะต้องเสียเงิน 4.5 ดอลล่าร์ เพื่อนำไปรักษาอาการเจ็บป่วยจากเสรีกัญชาทั้งโดยตรงและโดยอ้อม

รวมถึงการสูญเสียเด็กนักเรียนที่ต้องออกจากระบบการศึกษา เพราะอัตราการเสพผลิตภัณฑ์กัญชาในรูปแบบต่าง ๆ จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในหมู่นักศึกษา คือ เสพแล้ว เพลิดเพลิน เรียนน้อย เสพบ่อยยิ่งมีแนวโน้มพฤติกรรมเนือยนิ่ง เพราะมัวแต่นั่ง นอนฝันหวาน ถึงสรรพคุณรักษาโรคสารพัดร้อยแปดพันเก้า หรือมีชีวิตเป็นอมตะ ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงระยะยาวส่งผลต่อสุขภาพ เพราะข้อมูลชี้ชัดว่า การใช้กัญชาจะนำไปสู่การใช้ยาเสพติดชนิดอื่น หรือจะมีการเสพยาเสพติดชนิดอื่นควบคู่ไปด้วย


จากข้อมูล ยังพบอีกว่า คนเสพกัญชา 27% ยอมรับว่า เสพแล้วไปขับรถอยู่ทุกวัน แถม 67% ระบุว่า เคยขับรถขณะเคลิบเคลิ้มอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ดังนั้นหากเกิดอุบัติเหตุชนคนจนเสียชีวิต หรือพิการ จะทำอย่างไร หากรัฐไม่สามารถควบคุมป้องกันการใช้กัญชาได้ สังคมก็ไม่ปลอดภัย เพราะระหว่างรอการพิจารณากฏหมายเกี่ยวข้องกับ กัญชา-กัญชง หลายคนอาจกำลังกังวลใจเรืองการใช้กัญชาในเด็ก ในช่วงสุญญากาศที่กฏหมายยังไม่คลอด ยังไม่มีข้อกำหนดการใช้ที่ชัดเจน


สอดคล้องกับ รศ.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มองว่า เยาวชน คนรุ่นใหม่ หาข้อมูลเองมากกว่าเชื่อข้อมูลจากรัฐ สิ่งที่หน่วยงานรัฐต้องเร่งทำตอนนี้ คือการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง และข้อมูลทางวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อการใช้ และมีนโยบายที่ชัดเพราะไม่เช่นนั้น เด็กและเยาวชนจะเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบ

สำหรับข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ไม่สามารถยืนยันจำนวนผู้ติดกัญชาที่แน่นอนได้ เพราะสามารถจัดเก็บข้อมูลได้เฉพาะผู้ที่เข้ารับการบำบัด แต่ก็พบว่าตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 ถึงปลายเดือนพฤษภาคม 2565 มีผู้เข้ารับการบำบัดเพราะติดกัญชามากถึง 8,475 คน อยู่ในช่วงอายุ 20-24 ปี มากที่สุด คือ 2,438 คน รองลงมาคือ 15-19 ปี จำนวน 2,008 คน


เมื่อจำแนกตามอาชีพแล้ว พบว่า อันดับ 4 เป็นกลุ่มนักเรียน/นักศึกษา 1,124 คน อันดับ 3 คือผู้ใช้แรงงานจำนวน 1,516 คน อันดับ 2 คือผู้ว่างงาน 1,642 คน และคนทำงานรับจ้าง มากที่สุด 1,933 คน

สำหรับจังหวัดที่พบเข้ารับการบำบัด 5 อันดับแรก คือ นครราชสีมา, ชลบุรี, ปทุมธานี, กรุงเทพมหานคร และสงขลา

ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ตั้งคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพืชกัญชาและกัญชง ขึ้นมา เพื่อกํากับดูแลการใช้กัญชาให้สอดคล้องกับเป้าหมายการอนุญาตให้ใช้กัญชาในประเทศไทย พร้อมกำหนดมาตรการ ควบคุมไม่ให้เกิดการใช้ผิดวัตถุประสงค์ เพื่อลดผลกระทบทางสังคม และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนว่าการปลดล็อกครั้งนี้ ไม่ใช่เพื่อสันทนาการ

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์