ไลฟ์การ์ด หาดป่าตอง ร้องขออุปกรณ์ช่วยชีวิตเพิ่ม

วอนนักท่องเที่ยวประเมินตนเองก่อนช่วยเหลือผู้อื่น พบเดือน ก.ค. คนช่วยเสียชีวิตเอง 2 ราย ‘อาสาสมัคร’ ชี้ ติดขัดงบประมาณซื้ออุปกรณ์ อาจดูแลนักท่องเที่ยวได้ไม่ทั่วถึง

เฉพาะเดือนกรกฎาคมนี้ เราพบเหตุการณ์นักท่องเที่ยวจมน้ำเสียชีวิตที่ได้รับความสนใจจากสังคม โดยเมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2565 ‘หมอโต’ นพ.สุรสิทธิ์ พงศ์เลาหพันธุ์ แพทย์จากโรงพยาบาลลำปาง ได้เข้าช่วยเหลือนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่ถูกคลื่นซัดจมน้ำ ที่ จ.ภูเก็ตแต่ไม่สามารถช่วยไว้ได้ และทำให้ตนเองต้องเสียชีวิตไปด้วย 

The Active ลงพื้นที่หาดป่าตอง จ.ภูเก็ต พูดคุยกับคนในพื้นที่ที่มีข้อเสนอเพื่อสร้างกลไกที่มีความพร้อม เพื่อความปลอดภัยในชีวิตของทุกคนที่ลงเล่นทะเล

สมประสงค์ แสงชาติ หัวหน้าชุดไลฟ์การ์ดหาดป่าตอง จ.ภูเก็ต เปิดเผยว่า เหตุการณ์นักท่องเที่ยวเสียชีวิตทางทะเล ประกอบด้วยหลายปัจจัย ทั้งการปฏิบัติตามกฎการลงเล่นทะเล และการเข้าเผชิญเหตุของเจ้าหน้าที่เพื่อรักษาชีวิตกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน แต่หากต้นทางอย่างการปฏิบัติตามกฎทำได้ดี จะทำให้ลดโอกาสสูญเสียได้จำนวนมาก ที่ผ่านมาโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่การสื่อสารยังไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้ละเมิดกฎเกณฑ์ ลงเล่นน้ำทะเลในพื้นที่อันตรายอยู่เสมอ

ไลฟ์การ์ด
สมประสงค์ แสงชาติ หัวหน้าชุดไลฟ์การ์ดหาดป่าตอง จ.ภูเก็ต

“ต้องกล่าวแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิต แต่หากพูดอย่างตรงไปตรงมา เราต้องพิจารณาตนเองก่อนว่ามีศักยภาพช่วยเหลือได้หรือไม่ ต่อมา คือ สภาพคลื่นลม และองค์ประกอบอื่นทางทะเลตอนนั้นเป็นอย่างไร ในทะเลจะไม่มีธงเขียว เพราะมันไม่ปลอดภัย 100% นักท่องเที่ยวจึงต้องระวังอยู่เสมอ ส่วนใหญ่ผู้ที่เสียชีวิต เพราะไปอยู่ในจุดท้องน้ำ และเป็นแนวคลื่นตัด ทำให้ว่ายทวนกระแสน้ำ คิดว่าตนเองว่ายน้ำได้ แต่สุดท้ายก็ไม่รอด…”

สมประสงค์ อธิบายว่า โดยหลักการแล้ว ธงกำหนดเขตพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการลงเล่นน้ำทะเลนั้น จะมีอยู่ 3 ธงสี คือสีเขียว สีส้มแดง และสีแดง สำหรับสีเขียวนั้นในทางปฏิบัติไม่สามารถกำหนดได้ เนื่องจากไม่สามารถประเมินได้แบบ 100% ว่าทะเลปลอดภัยจริงหรือไม่ ในขณะที่สีส้มแดง หมายถึงให้นักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำอย่างระมัดระวัง สุดท้าย คือธงสีแดง เป็นจุดอันตรายที่ไม่ให้นักท่องเที่ยวลงเล่น เป็นส่วนท้องน้ำลึก และมีแนวคลื่นตัดสวนทางกัน ส่วนใหญ่ผู้ที่ตกน้ำ ก็จะว่ายทวนกระแสน้ำ จนทำให้เสียชีวิตนั่นเอง 

สมประสงค์ ยังกล่าวว่า เนื่องจากกฎหมายบ้านเรา ไม่ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ด สามารถออกคำสั่งนักท่องเที่ยวได้ ส่วนใหญ่เป็นการขอความร่วมมือ และตรวจตราเฝ้าระวังเท่านั้น ไม่เหมือนในต่างประเทศที่ไลฟ์การ์ดที่ผ่านการฝึกอบรม มีใบอนุญาตแล้วสามารถบังคับปรับกับนักท่องเที่ยวที่ฝ่าฝืนได้ทันที ซึ่งอาจเป็นมาตรการเชิงบังคับที่บ้านเรายังขาดไป 

ร้องขออุปกรณ์จำเป็น เครื่องกระตุกหัวใจ – ทุ่นช่วยชีวิต – โดรน และสวัสดิการอาสาสมัคร

สมประสงค์ ยอมรับว่าส่วนหนึ่งที่อาจช่วยลดการสูญเสียได้มากขึ้น คือ มาตรการช่วยเหลือและเข้าเผชิญเหตุของเจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ด ที่ตอนนี้มีข้อจำกัดทั้งด้านบุคลากร และอุปกรณ์จำเป็น เนื่องจากตอนนี้ เฉพาะในพื้นที่ชายหาดป่าตอง มีเจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ดอยู่ไม่ถึง 20 คน จากการประเมินพื้นที่ดูแลมากกว่า 1 กม. และพื้นที่ต่อเนื่องของชายหาดโดยเฉพาะในฤดูท่องเที่ยว ไลฟ์การ์ดที่มีไม่สามารถดูแลได้ทัน แม้จะพยายามมากเพียงใดก็ตาม จึงเสนอว่าจำนวนที่เหมาะสมอาจต้องมีอย่างน้อย 37 คน แต่ทั้งนี้ ตนใช้คำว่า “ให้เหมาะสมต่อการดูแลนักท่องเที่ยว” 

ไลฟ์การ์ด

นอกจากนั้น สมประสงค์ เสนอว่า เพื่อให้การดูแลช่วยเหลือนักท่องเที่ยวเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยังต้องการอุปกรณ์จำเป็นอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้า (AED) 4 เครื่อง, เจ็ทสกี 4 จังหวะ, ทุ่นช่วยชีวิต, วิทยุสื่อสารและโดรนถ่ายภาพทางอากาศ ซึ่งในปัจจุบันพบกรณีที่นักท่องเที่ยวไปติดตามซอกหิน หรือหลังเกาะ หากมีโดรนในการค้นหาจะช่วยประหยัดเวลาในการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวได้มาก

สมประสงค์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้มีการเสนอเรื่องไปยังเทศบาลเมืองป่าตอง ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลไลฟ์การ์ดมาโดยตลอด และเข้าใจในข้อจำกัดด้านงบประมาณ และกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง สิ่งสำคัญ ที่จะทำให้เจ้าหน้าที่มีกำลังใจในการทำงาน และสามารถดูแลตัวเองได้ คือ เรื่องสวัสดิการและค่าตอบแทน เพราะตอนนี้ อาสาสมัคร ทำงานล่วงเวลาทุกคน เริ่มทำงานตั้งแต่ 08.00 – 19.00 น. ไม่มีโอที และการดูแลรักษาพยาบาลยังไม่ตอบโจทย์กับความเสี่ยงที่พวกเขาต้องเผชิญในทุกวัน

ในขณะที่ ณัฐพงศ์ เก็บทรัพย์ ประธานสภาเทศบาลเมืองป่าตอง ได้ลงพื้นที่พร้อมกับ The Active เห็นตรงกันว่าข้อจำกัดสำคัญ คือ เรื่องงบประมาณ ปัจจุบันตนได้นำเสนอปัญหาและอุปสรรคการทำงานของเจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ดไปยังฝ่ายบริหาร และสภาเทศบาลฯ แล้ว จะพยายามผลักดันให้ได้รับอุปกรณ์และการดูแลที่เหมาะสม ซึ่งตอนนี้กำลังดำเนินการปรับปรุงที่ทำการของเจ้าหน้าที่ ห้องน้ำ และสถานที่ฝึกอบรมให้ดีมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับสถานการณ์ที่จะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นในอนาคต

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้