แนะ สธ. เตรียมวัคซีนฝีดาษลิงรุ่นใหม่ ชี้ เคสจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ศูนย์โรคอุบัติใหม่คลินิก ระบุ ผู้ติดเชื้อฝีดาษวานรยืนยัน 5 คนในไทยยังเป็นเคสนำเข้า ให้เฝ้าระวังติดเชื้อภายในประเทศ​ เสนอยกระดับแล็บตรวจหัวเมืองใหญ่ จังหวัดท่องเที่ยว ฝากผู้ประกอบการซาวน่าซักผ้าเช็ดตัวให้สะอาด 

เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2565 กรมควบคุมโรค พบผู้ติดเชื้อฝีดาษวานรยืนยันรายที่ 5 เป็นเพศหญิง สัญชาติไทย เดินทางกลับจากประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยเป็นการตรวจพบที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ  

เจ้าหน้าที่ด่านฯ พบผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยเพลีย มีตุ่มที่ใบหน้าและแขน 2 ข้าง จึงเรียกผู้ป่วยเข้ารับการตรวจคัดกรอง จากการสอบถามผู้ป่วยมีประวัติเสี่ยง คือระหว่างที่อยู่ต่างประเทศมีประวัติเปลี่ยนคู่นอน โดยเริ่มป่วยตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค. 2565 พบมีตุ่มขึ้นที่อวัยวะทั่วร่างกาย จากนั้นเริ่มมีไข้ หนาวสั่น ปวดหลัง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เจ็บคอ อ่อนเพลีย ได้รับการรักษาโดยการฉีดยาฆ่าเชื้อไม่ทราบชนิด แต่อาการไม่ดีขึ้น จึงเดินทางกลับประเทศไทย 

กองด่านกรมควบคุมโรคประจำท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ สถาบันบำราศนราดูร และห้องปฏิบัติการที่ศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก TRC-EIDCC โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยยืนยันพบเชื้อฝีดาษวานร นับเป็นผู้ป่วยรายที่ 5 ของไทย และเป็นเพศหญิงรายที่ 2 

เฝ้าระวังการระบาดภายในประเทศ 

ผศ. นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก TRC-EIDCC โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยกับ The Active ว่าแนวโน้มสถานการณ์ฝีดาษวานรน่าจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะว่าเมื่อมีการเปิดประเทศ ก็มีโอกาสที่จะมีผู้ติดเชื้อฝีดาษวานรจะเดินเข้ามา ซึ่งอาจจะอยู่ในช่วงเวลาฟักตัวยังไม่มีอาการ ในอนาคตเคสก็จะเพิ่มขึ้นอีก เพียงแต่ว่าต้องมีการดักเคสให้ทันและจำกัดไม่ให้มีการระบาดขยายเป็นวงกว้าง อย่างประเทศสิงคโปร์ตอนนี้มีปัญหามีเคสนำเข้ามา และเริ่มมีการระบาดภายในประเทศ ทั้งที่เป็นคนที่ไม่ได้มีการเดินทางไปนอกประเทศ นี่คือจุดที่เป็นกังวลสำหรับการระบาด

“สำหรับในประเทศไทยยังไม่ชัดเจนว่าเกิดการติดต่อกันภายในประเทศหรือยัง แต่ก็ยังถือว่าทั้ง 5 คนที่ติดเชื้อยืนยันเป็นเคสนำเข้าอยู่ แต่ให้ระวังว่ามันอาจจะไม่เป็นอย่างที่เห็น บางเคสที่ได้รับการรายงานอาจเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็ง”

ผศ. นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก TRC-EIDCC โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

เสนอขยายแล็บตรวจฝีดาษวานรในจังหวัดท่องเที่ยว

หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก กล่าวอีกว่าเนื่องจากการระบาดในขณะนี้เป็นการระบาดที่เราตามหาเคสแรก ๆ ซึ่งจะต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญผู้มีประสบการณ์ในการวินิจฉัย ตอนนี้เราก็ใช้ 2 แล็บยืนยันซึ่งกันและกัน ก็คือแล็บของศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก และแล็บของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งอาจจะทำไปสักระยะหนึ่ง หากมีความต้องการในการตรวจเพิ่มขึ้น ก็ควรจะต้องปลดล็อก ก็คือให้ห้องปฏิบัติการอื่น ๆ สามารถตรวจได้ ควรจะเป็นห้องปฏิบัติการที่อยู่ในจังหวัดใหญ่ ๆ ที่อาจมีการระบาดของโรคนี้ เช่น แหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่จะมีคนเดินทางเข้ามา 

“ขณะนี้การตรวจเชื้อฝีดาษลิงยังเป็น RT-PCR อยู่ แต่อนาคตหากมีการพัฒนาการตรวจให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น จำนวนของบริษัทหรือชนิดของเทสเพิ่มขึ้นราคาก็จะถูกลง แต่ยังมีข้อจำกัดทางเทคนิคซึ่งยังไม่ถึงตรวจไปทั่วไปแบบ ATK ที่ใช้ตรวจโควิด” 

ฝีดาษวานรติดง่ายกว่า HIV เชื้ออยู่ในสิ่งแวดล้อมได้เป็นชั่วโมง 

สำหรับการเปรียบเทียบระหว่าง HIV กับ ฝีดาษวานร มีความคล้ายกันอยู่ HIV ติดต่อผ่านทางสารคัดหลังที่ผ่านทางเพศสัมพันธ์ ส่วนการไปสัมผัสใกล้ชิดหรือการไปร่วมกอดกันโอกาสติดน้อยกว่า แต่ถ้าเป็นฝีดาษวานรหลัก ๆ เป็นการสัมผัสในระหว่างที่มีกิจกรรมทางเพศอยู่แล้ว การกอด การจูบ การสัมผัสในที่ต่าง ๆ ซึ่งถ้ามีผื่นโอกาสก็จะติดกันก็ง่าย ฝีดาษวานรก็ใช้คำว่า เป็นโรคติดต่อผ่านทางเพศสัมพันธ์ได้ เพราะมีข้อมูลว่าตรวจเจอไวรัสในน้ำอสุจิของผู้ชายที่เป็นโรคนี้เกิน 80% 

หลักการในการป้องกันคือต้องเข้มงวดการล้างมือ แอลกอฮอล์ก็ยังใช้ได้ เรื่องของการใส่หน้ากาก การทำความสะอาดสิ่งแวดล้อม เพราะว่าเชื้อสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้เป็นชั่วโมง แล้วก็บางรายงาน เช่น ในซาวน่าการใช้ผ้าเช็ดตัวก็อาจจะติดได้ ทำความสะอาดผ้าเช็ดตัว สิ่งที่ใช้ร่วมกันก็มีสำคัญที่จะป้องกันการติดเชื้อ

แนะฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยงสูงภายใน 40 ชั่วโมง หลังสัมผัส 

ผศ. นพ.โอภาส กล่าวต่ออีกว่า ขณะนี้มีความพยายามวัดภูมิคุ้มกันคนที่เคยปลูกฝีไปแล้ว ยังมีภูมิป้องกันฝีดาษวานรได้หรือไม่ ต้องมีการฉีดวัคซีนกระตุ้นหรือไม่ จากการมีวัคซีนใหม่ ๆ มา กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาต้องติดตามข้อมูล แต่โดยทั่วไปคิดว่าคนที่ปลูกฝีไปแล้วสักระยะหนึ่ง ภูมิก็จะตกลง ต้องมีการกระตุ้นด้วยวัคซีนหากอนาคตมีการระบาด

“ควรจะต้องมีการเตรียมวัคซีน ไว้เพราะ 1) วัคซีนใช้ป้องกันก่อนไปสัมผัส เช่น บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ ที่ทำการเจาะสารคัดหลั่งสิ่งส่งตรวจที่อาจจะมีไวรัส 2) กลุ่มหนึ่งที่วัคซีนอาจจะช่วยลดการติดเชื้อกับผู้สัมผัสเสี่ยงสูง หากฉีดวัคซีนหลังจากสัมผัสไม่เกิน 40 ชั่วโมง” 

ปัจจุบันมีวัคซีนฝีดาษวานรยุค 3 เป็นยุคใหม่ที่ใช้กันอยู่ เป็นวัคซีนที่มีผลข้างเคียงน้อยมาก ในช่วงที่เราปลูกฝีกันเป็นเชื้อเป็น เมื่อปลูกฝีเข้าไปก็จะไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันเหมือนจำลองการติดเชื้อ แต่ถ้าเป็นวัคซีนในยุคใหม่จะไม่มีคุณสมบัติในการแบ่งตัว ก็จะกระตุ้นภูมิได้ดี แล้วผลข้างเคียงน้อย 

“ตอนนี้ความต้องการวัคซีนฝีดาษลิง มีเยอะมาก แล้วก็ต้องยอมรับว่าผลิตไม่ทัน คิดว่าจะต้องเตรียมไว้เพราะเคสจะต้องมีมากขึ้นเรื่อย ๆ อาจจะต้องฉีดให้คนที่ไปสัมผัสคนที่เป็นฝีดาษลิงพวกนี้อาจจะต้องฉีดได้ก่อน” 

ทั้งนี้ สถานการณ์โรคฝีดาษวานร ในขณะนี้มีแนวโน้มพบผู้ป่วยสูงขึ้นในแถบอเมริกาและแคนาดา ส่วนแถบทวีปยุโรปผู้ป่วยยังคงตัวเฉลี่ย 900 ราย (ข้อมูลณ วันที่ 14 ส.ค. 65) พบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษวานรยืนยันทั่วโลก จำนวน 35,910 ราย เสียชีวิต 13 ราย ประเทศที่มีผู้ป่วยสูงสุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 11,177 ราย สเปน 5,856 ราย เยอรมนี 3,102 ราย อังกฤษ 2,914 ราย และบราซิล 2,849 ราย 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS