ขอปาฏิหาริย์! 2 ทุ่มวันนี้ เครือข่ายภาคประชาสังคม นัดหมายร่วมภาวนาขอพรให้ ‘เอกชัย อิสระทะ’ นักกิจกรรมเพื่อสังคม “ฟื้น” หลังหมดสติ ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ แพทย์ชี้ อาการที่เกิดขึ้นกับเอกชัย เกิดขึ้นบ่อยในพื้นที่ออกกำลังกาย แนะ ลดความเสี่ยง
เพจเฟซบุ๊กของนักกิจกรรมเพื่อสังคม เครือข่ายองค์กรภาคประชาชน ได้โพสต์เชิญชวนร่วมส่งกำลังใจให้ ‘เอกชัย อิสระทะ’ หรือ “เอก” นักกิจกรรมเพื่อสังคม และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ที่อยู่ระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาล หลังหมดสติที่สนามกีฬาเมื่อวานนี้ (6 ก.ย.)
เนื้อหาสำคัญของการโพสต์เชิญชวน ระบุว่า ค่ำวันนี้ (7 ก.ย. 2565) เชิญชวนร่วมกันสวดมนต์ขอพร ขอดุอาร์จากพระผู้เป็นเจ้า ให้เอกชัยปลอดภัย ตั้งจิตอธิษฐานขอพรพร้อมกันในเวลา 20.00 น. ผ่านระบบซูมด้วยลิงก์และรหัส ดังนี้
Join Zoom Meeting
https://us02web.zoom.us/j/83482791997?pwd=dGhFaytBVllPTFB1YXdmRXlEczFOZz09
Meeting ID: 834 8279 1997
Passcode: 725293
‘บรรจง นะแส’ ที่ปรึกษานายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ระบุว่า ในส่วนของพี่น้อง มิตรสหาย ชาวบ้านที่ได้ทำงานร่วมกับเอกชัย แม้จะถึงมือหมอแล้ว ก็ยังน่าเป็นห่วง ยังคงติดตามอย่างใกล้ชิด สิ่งที่ทำได้ในตอนนี้ คือการส่งแรงใจไปให้เอกชัยและครอบครัว โดยพวกเราที่เป็นชาวพุทธ ก็จะภาวนาสวดมนต์ พี่น้องชาวคริสต์ก็ร่วมกันอธิษฐาน ส่วนพี่น้องมุสลิม ที่เป็นเพื่อนพี่น้องที่ทำงานร่วมของเอกชัย ก็ละหมาด ขอดูอาร์หรือขอพรต่อพระผู้เป็นเจ้า ก็เป็นเรื่องที่ทำให้พวกเราสบายใจขึ้น คิดว่าอยากจะให้เอกชัยผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้ เพราะรู้อยู่ว่าเป็นวิกฤตที่หนักหนาพอสมควร
“เราก็คาดหวังว่า อยากจะให้มีปาฏิหาริย์ให้เอกชัย ได้ฟื้นและก็ได้กลับมาใช้ชีวิตด้วยกัน ทำงานด้วยกัน อีกอย่างเพื่อจะบอกกับสังคมว่า แม้เราจะเป็นกลุ่มคนไม่ใหญ่โตนัก ไม่ใช่ผู้มีชื่อเสียง แต่เราจะไม่มีทางทิ้งกัน ไม่ว่าตอนที่มีชีวิตอยู่ หรือกำลังเผชิญกับปัญหาของชีวิต พวกเรากลุ่มคนจำนวนหนึ่ง ยินดีที่จะผนึกกำลังกันในการที่จะดูแลช่วยเหลือกัน“
บรรจง นะแส ที่ปรึกษานายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย
“ถ้าเอกฟื้น เขาเป็นเสาหลักที่สำคัญ เขามีบุคลิกที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แต่ก็กล้าหาญ หลาย ๆ ครั้ง เอกชัยพิสูจน์ให้เห็นว่า ถ้าเป็นเรื่องของสังคม หรือเรื่องส่วนรวม เอกชัยไม่เคยหนีไม่เคยถอย”
นี่คือนิยามความเป็นตัวตนและการต่อสู้เพื่อส่วนรวมของเอกชัย ที่เพื่อนพ้องอย่างบรรจงนิยามถึง เขาบอกว่า สำหรับเอก ในวงการของนักกิจกรรมหรือคนทำงานในภาคใต้ เอกถือว่าเป็นคนสำคัญคนหนึ่ง ที่ยืนหยัดทำงานเพื่อสังคมนานกว่า 20 ปี ที่สำคัญคือ “เขามีบุคลิกที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แต่ก็กล้าหาญ” หลาย ๆ ครั้ง เอกชัยพิสูจน์ให้เห็นว่า ถ้าเป็นเรื่องของสังคม หรือเรื่องส่วนรวม เอกชัยไม่เคยหนี ไม่เคยถอย ช่วยเหลืออย่างเต็มที่ อย่างกรณีเรื่องความเดือดร้อนพี่น้องประชาชน ร่วมคัดค้านการระเบิดหินทำเขื่อน จ.พัทลุง
บรรจงกล่าวต่อว่า ถ้าหากจำกันได้กรณีคัดค้านเหมืองเขาคูหา อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ที่ต้องต่อสู้กับกลุ่มอิทธิพล เขาสามารถกอบกู้เขาคูหาซึ่งกำลังจะถูกทำลายหมดไปทั้งภูเขา ฉะนั้น ต้องให้เครดิตเอกชัย ว่าการที่สามารถปกป้องเขาคูหาเอาไว้ได้ เป็นเพราะว่าเอกชัยเทหมดหน้าตัก ถ้าพูดตรงไปตรงมา คือชีวิตไม่มีเกี่ยง แม้โดนขู่อะไรต่าง ๆ เขาก็พิสูจน์ตัวเองว่าสิ่งที่เขาคิดเขาทำ ไม่ได้สนใจประเด็นอื่น สนใจเรื่องการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน หากเอกชัยสามารถฟื้นกลับคืนมา นอกจากจะยังคงเป็นกำลังที่สำคัญแล้ว ก็น่าจะเป็นขวัญกำลังใจให้พี่น้องอีกหลายกลุ่มที่เอกชัยมีส่วนลงไปช่วยเหลือพี่น้อง ตนคาดหวังว่า ถ้าเอกฟื้นเขาจะเป็นเสาหลักเสาหนึ่งที่สำคัญ
อาการที่เกิดขึ้นกับเอกชัย เกิดขึ้นบ่อยในพื้นที่ออกกำลังกาย แพทย์แนะ ลดความเสี่ยง
สำหรับความคืบหน้าอาการของเอกชัย เครือข่ายภาคประชาชนบอกว่า ได้รับแจ้งจากภรรยาว่าเอกชัย เอกชัยสามารถลืมตาได้ในบางครั้ง แต่ไม่มีการตอบสนองอื่น ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลจากเมื่อวานนี้ ที่เอกชัยไปออกกำลังกายเตะฟุตบอล แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงพักเดินออกมาข้างสนาม เกิดอาการวูบล้มลงไป
จากการพูดคุยกับ ‘นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ’ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา บอกว่า อาการที่เกิดขึ้นกับเอกชัย เป็นภาวะที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในสนามฟุตบอล โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีอายุค่อนข้างมาก คือ 40-50 ปีขึ้นไป
สำหรับสาเหตุ จากการสอบถามจากแพทย์เฉพาะทาง นายแพทย์สุภัทร ระบุว่า ผลเบื้องต้นจากการ CT (Computerized Tomography Scan) ทรวงอกปกติ คือ ไม่พบกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ ไม่พบหลอดเลือดที่ปอดมีการอุดตัน (ไม่มีการอุดตันเส้นเลือดใหญ่ที่ปอด pulmonary embolism) หลอดเลือดแดงใหญ่ที่ส่งเลือดไปช่องท้องและแขนขาปกติ (ไม่มี dissecting or anurysm of aorta) โดยสรุป จากการ CT ทรวงอกไม่พบความผิดปกติหรือสาเหตุที่ทำให้หัวใจหยุดเต้น จึงเชื่อว่า หัวใจมีภาวะเต้นผิดจังหวะ (cardiac arrhythmia)
ภาวะเหล่านี้ การออกกำลังกายที่หนักและเหนื่อยจะไปกระตุ้นได้ กล่าวคือ ภาวะหัวใจหยุดเต้น เมื่อหัวใจหยุดเต้น เลือดก็ไม่เลี้ยงร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมองก็จะเกิดภาวะไม่รู้สึกตัว เพราะสมองต้องการออกซิเจนเยอะ ถ้าภายใน 4 นาทีออกซิเจนไม่ไปเลี้ยงสมอง จะส่งผลให้สมองตาย หมดสติ
โดยสิ่งที่จะลดความเสี่ยง ให้ช่วยเหลือชีวิตได้ทัน คือพื้นที่สนามกีฬาหรือพื้นที่ที่มีคนออกกำลังกายเป็นประจำ ควรต้องมีเครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือ AED ซึ่งเมื่อหัวใจหยุดเต้น ให้รีบหยิบเครื่องนี้มาทำตามขั้นตอนที่ระบุไว้ในเครื่อง เครื่องจะช่วยปล่อยกระแสไฟฟ้าเพื่อช็อกหัวใจให้กลับมาเต้น ทำให้เลือดสูบฉีดอีกครั้ง และให้รีบนำส่งโรงพยาบาล อีกส่วนสำคัญ คือ ระบบรถกู้ชีพ รถกู้ภัยที่ต้องได้มาตรฐาน
และส่วนที่จะเป็นการป้องกันได้เบื้องต้น คือการตรวจสุขภาพ เลือกรับประทานอาหาร ลดอาหารที่จะเป็นสาเหตุของไขมันในเลือด เช่น ของทอด ของมัน หมั่นสังเกตอาการตัวเอง เหนื่อยหอบบ่อยหรือไม่ และต้องออกกำลังกายให้สอดคล้องกับสุขภาพ เริ่มจากการออกกำลังกายเบา ๆ จากน้อยไปหามาก แล้วค่อย ๆ เพิ่มระยะเวลาความเร็ว ไม่เร่งออกกำลังกายหักโหมจนเกินไป