‘รองนายกฯ สมศักดิ์’ ชี้นักโทษยาเสพติดล้นคุก แนะปรับวิธีจัดการ เน้นบำบัด ฟื้นฟู ควบคู่ปราบปราม ดึงชุมชน ร่วมดูแลผู้ใช้ – ผู้เสพ อาการไม่รุนแรง ติดตามดูแลผู้ป่วยทางจิตจากยาเสพติด เฝ้าระวัง ป้องกันไม่ให้กลับไปเสพ – ป่วยซ้ำ
เมื่อเร็ว ๆ นี้ สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยผลการประชุมกรรมการกองทุน สสส. ครั้งที่ 2/2567 ว่า ที่ประชุมฯ เห็นชอบแนวทางขับเคลื่อนกลไก คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยชุมชนเป็นฐาน บูรณาการทำงานระหว่างกระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงศึกษาธิการ และ สสส. โดยใช้ต้นทุนการทำงาน พชอ. 878 อำเภอ เชื่อมกลไกการขับเคลื่อนงานด้วยแนวคิดการบำบัดฟื้นฟูผู้ใช้ยาเสพติดโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน หรือ กระบวนการชุมชนล้อมรักษ์ (Community Based Treatment : CBTx) ของ สธ. และภาคีเครือข่าย สสส. ทั่วประเทศจัดทำแผนบูรณาการขับเคลื่อนงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในทุกมิติ สามารถบริหารจัดการดูแลผู้ใช้/ผู้เสพบางรายที่อาการไม่รุนแรงโดยไม่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล มีส่วนร่วมในการติดตามดูแลผู้ป่วยยาเสพติดมีอาการทางจิตที่ได้รับการบำบัดและอาการสงบเมื่อกลับคืนสู่ครอบครัว ตลอดจนช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพ เฝ้าระวังและป้องกันการกลับไปเสพซ้ำหรือป่วยซ้ำ โดยจะจัดเวทีเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ใน 6 ภูมิภาค เพื่อถอดบทเรียนความสำเร็จ
รองนายกรัฐมนตรี บอกด้วยว่า ยาเสพติดเป็นหนึ่งในต้นเหตุปัญหาความยากจนของคนไทย เห็นได้ว่านักโทษส่วนใหญ่ มากกว่า 81% หรือประมาณ 3.5 แสนคน เป็นนักโทษจากคดียาเสพติด แต่ศักยภาพของทัณฑสถานรองรับได้ประมาณ 2 แสนคน ทำให้เกิดปัญหานักโทษล้นคุก
ขณะเดียวกันข้อมูลระบบบำบัดของประเทศไทยมีศักยภาพสามารถดูแลผู้ใช้ยาเสพติดได้ 235,130 คน/ปี แต่ปัจจุบันมีผู้เข้ารับการบำบัดเพียง 53.23% ของศักยภาพการให้บริการ ซึ่งที่ผ่านการแก้ปัญหายาเสพติดจะเน้นไปที่การปราบปราม ออกกฎหมายยึดทรัพย์ผู้กระทำความผิด แต่จำเป็นต้องควบคู่ไปกับการบำบัดฟื้นฟู
“ผมเชื่อว่ากลไก พชอ.ที่มีตัวอย่างรูปธรรมในหลายพื้นที่ จะช่วยหนุนเสริมกระบวนการบำบัดในระดับพื้นที่ได้ดียิ่งขึ้น และขอให้มีกลไกการกำกับติดตาม เพื่อดึงต้นแบบ พชอ.ประสบความสำเร็จมานำเสนอเป็นต้นแบบในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป”
สมศักดิ์ เทพสุทิน
ล่าสุด นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. ระบุในงานประชุมสัมมนาแกนนำเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อร่วมออกแบบแนวทางการปฏิบัติการป้องกันปัญหายาเสพติด โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ว่า จากการสนับสนุนโครงการเครือข่ายภาคประชาชนสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากยาเสพติดและเสริมสร้างชุมชนสุขภาวะ ร่วมขับเคลื่อนงานป้องกันปัญหายาเสพติดในระดับพื้นที่หมู่บ้านชุมชนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 ทำให้เกิดพื้นที่ต้นแบบที่สามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากปัญหายาเสพติด 25 แห่ง ใน 48 จังหวัด สามารถปกป้องลูกหลานไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับวงจรยาเสพติดได้อย่างเป็นรูปธรรม ที่สำคัญทำให้เกิดแกนนำ ซึ่งเป็นกลไกการขับเคลื่อนงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ทั้งระดับชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ภูมิภาค และแกนนำเครือข่าย 5 ภูมิภาค จำนวน 2,683 คน จากประสบการณ์และบทเรียนการทำงานในพื้นที่ของแกนนำต่าง ๆ นำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้การจัดการปัญหายาเสพติดไปขยายผลสู่พื้นที่ชุมชนอื่น ๆ ได้
โดยหลักการสำคัญของการขับเคลื่อนงานป้องกันยาเสพติดในชุมชน ต้องมีฐานมาจาก
- พลังสังคม คือ กลไกภาคประชาชน ถือเป็นส่วนสำคัญของการขับเคลื่อนงาน จึงจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อให้มีศักยภาพ และเท่าทันสถานการณ์ปัญหายาเสพติดที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว
- พลังวิชาการ คือ เครือข่ายวิชาการ เช่น ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) มูลนิธิศูนย์วิชาการสารเสพติด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ต้องพัฒนาข้อมูลเชิงวิชาการ พัฒนาองค์ความรู้ เพื่อนำไปใช้ขยายผลการทำงาน
- พลังนโยบาย คือ การนำบทเรียนจากการทำงานของกลไกภาคประชาชน และข้อมูลวิชาการ มาพัฒนาสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหายาเสพติดทั้งในระดับพื้นที่และระดับชาติ
สมคิด แก้วทิพย์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า ในอดีตแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดจะเป็นลักษณะ การใช้อำนาจบังคับ คือ ผู้มีอำนาจทางกฎหมายสั่งการ ตรวจเจอแล้วจับ ขณะที่ชุมชนก็มองว่า ปัญหายาเสพติดเป็นเรื่องปัจเจก ที่หากจะแก้ไขต้องแก้ที่บุคคล หรือเรียกว่า ตัวใครตัวมัน ขณะที่ตัวแบบใหม่ของโครงการฯ ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ท่ามกลางแนวโน้มของปัญหายาเสพติดที่รุนแรงขึ้น คือพยายาม สร้างพื้นที่ปลอดภัย ที่ให้ทุกคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ทุกคนมองว่าเรื่องยาเสพติด เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน
โดยยกตัวอย่างผลการประเมินและศึกษาพื้นที่ตัวแบบการสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากยาเสพติด ที่เห็นภาพชัดเจน คือ ที่ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ พื้นที่เป็นการใช้ศิลปะในการสร้างพื้นที่ปลอดภัย หรือเรียกว่า ศิลปะสื่อสุข สามารถป้องกันเด็กได้ 40 คน ป้องกันกลุ่มเสี่ยงได้ 30 คน และเปลี่ยนจากผู้เสพให้เลิกได้ 6 คน
“การสร้างพื้นที่ปลอดภัย ในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างหลายหลาย แต่มีหลักการสำคัญคล้าย ๆ กัน คือ มีพื้นที่ตรงกลาง เน้นรับฟัง ไม่ตัดสิน ไม่ตีตรา มอบโอกาส และสร้างความเข้าใจ มีกลไกที่ช่วยประสาน เชื่อมโยงภายในและภายนอกที่เหมาะสม รวมทั้งส่วนสำคัญคือชุมชนได้ดำเนินการตามศักยภาพของตัวเอง ทำให้ชุมชนมีอิสระในการดำเนินโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
สมคิด แก้วทิพย์