ภาพอนาคต ‘สุขภาพจิต’ คนไทย ทำอย่างไร ? ไม่ไปสู่ระเบิดความหวาดกลัว

ไทยพีบีเอส จับมือ ภาคีฯ ค้นหานวัตกรรมสร้างความสุข ผ่าน ‘HACK ใจ’ หาจุดร่วมการส่งเสริมสุขภาวะทางจิต ที่ต้องอยู่ในทุกนโยบาย

วันนี้ (21 ก.พ.67) The Active ไทยพีบีเอส ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดเวที เปิดภาพอนาคตสุขภาพจิตคนไทย 2576 ร่วมพัฒนากลไก ค้นหานวัตกรรมขับเคลื่อนสังคมไปสู่ความร่วมมือในการส่งเสริมป้องกันสุขภาพใจได้มากขึ้น พร้อมนำเสนองานวิจัย อนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย พ.ศ. 2576 โดยความร่วมมือของ กรมสุขภาพจิต, สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม, สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) และ ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ โดย บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (FutureTales Lab by MQDC) มองหาสัญญาณการเปลี่ยนแปลง โดยปัจจัยสำคัญที่จะเข้ามาขับเคลื่อนทิศทางอนาคตของสุขภาพจิตของไทย ในอีก 10 ปีข้างหน้า ได้แก่

Terror outburst – การระเบิดของความหวาดกลัว ความเจ็บปวดจากปัญหาทางสังคมที่ถูกละเลยมานาน กลายเป็นความหวาดกลัว และก่อตัวเป็นปรากฏการณ์ความรุนแรงครั้งใหญ่ ที่บังคับให้ทุกภาคส่วน จําเป็นต้องยกระดับการแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการอย่างแท้จริง

Opportunity in adversity – วิกฤติที่แฝงด้วยโอกาส สถานการณ์ที่ผันผวนรุนแรงต่อเนื่องของสภาพสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี ส่งผลให้ผู้คนใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ความกังวล และพยายามเริ่มต้นสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยตนเอง

Packs of lone wolves – มวลชนผู้โดดเดี่ยว ผู้คนมีความสะดวกสบายในทุกด้าน แต่กลับมีความรู้สึกเหงา เครียด และกดดันมากขึ้น การใช้ชีวิตในเมืองที่ทันสมัยบีบบังคับให้เผชิญกับการแข่งขันที่สูง และวิถีชีวิตดิจิทัลที่โดดเดี่ยว

Decentralized mental well-being – สุขภาพใจที่กระจายถึงกัน ผู้คนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน สุขใจ และภูมิใจในท้องถิ่น เป็นผลจากการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นและเขตสุขภาพโดยสมบูรณ์ ทรัพยากรด้านสุขภาพจิตถูกจัดสรรและออกแบบให้เข้ากับความแตกต่างของแต่ละพื้นที่

Land of smiling minds – จุดหมายแห่งความสุข ประเทศไทย เป็นประเทศต้นแบบด้านสุขภาพจิต และเป็นจุดมุ่งหมายการใช้ชีวิตของผู้คนจากทั่วโลก ทุกภาคส่วนวางเรื่องสุขภาพจิตไว้ในทุกองค์ประกอบ ประชาชนรู้สึกมีความสุขและภาคภูมิใจ

พร้อมข้อเสนอต่อการปฏิบัติ โดยในส่วนของภาครัฐ ควรจัดลำดับความสำคัญประเด็นสุขภาพจิต ให้อยู่ในลำดับต้น ส่งเสริมและป้องกันสุขภาพจิตในทุกโครงสร้างพื้นฐาน เช่น เพิ่มพื้นที่สีเขียว, ที่อยู่อาศัย, การเข้าถึงการศึกษา โดยจับมือมีภาคเอกชน นวัตกรรม ท้องถิ่น เพื่อสร้างสุขภาพจิตที่ดี ส่งเสริมค่านิยมและวัฒนธรรมที่แสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจของคนในชุมชน

ผศ.ธีรพัฒน์ อังศุชวาล คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

มอง ‘สุขภาพจิต’ ที่มากกว่าการเป็นโรค

ผศ.ธีรพัฒน์ อังศุชวาล คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS) กล่าวว่า เพื่อทำให้สังคมไทยตระหนักถึงการส่งเสริม ป้องกันปัญหาสุขภาพจิต จำเป็นต้องย้อนกลับมาทำความเข้าใจคำว่า สุขภาพจิต (mental health) ซึ่งทั่วโลกใช้คำนี้ใน 3 แบบสำคัญ คือ ใช้เป็นส่วนขยายของบริการโดยรัฐ, มองในฐานะการเป็นโรค และ เป็นภาวะเชิงบวกทางจิตใจ

การมองภาพสุขภาพจิตในเชิงบวก เพื่อส่งเสริมให้ผู้คนมีจิตใจที่เข้มแข็ง มีความสัมพันธ์ที่ดีกับตัวเอง ผู้อื่น และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นคำนิยามของ สุขภาวะทางจิต (Mental Wellbeing)

“การมองสุขภาพจิตเป็นแค่โรค แสดงว่าเรากำลังมองปัญหาเป็นเส้นเดียวคือ มีคนป่วยต้องรักษากับคนไม่ป่วย แต่ลืมไปว่ายังมีเส้นแนวตั้งที่พูดว่าอยู่ในภาวะเชิงบวก หรือลบ ที่หมายถึงการมีความสุข ความสัมพันธ์ การออกนโยบายที่ยึดโยง ให้คุณค่ากับสุขภาวะให้กับผู้คน รวมถึงสภาพแวดล้อม จะป็นตัวกำหนดอนาคตสุขภาพจิตประเทศไทยว่า”

ผศ.ธีรพัฒน์ อังศุชวาล
นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต

กระจายศูนย์อำนาจ ทางรอด ‘ระเบิดเวลา’ สุขภาพจิตในสังคมไทย

ขณะที่ นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข บอกว่า การกำหนดว่าการป่วยหรือไม่ป่วย ยึดโยงกับการมีความสุขหรือไม่มีความสุข ทั้งที่ในความเป็นจริงคนไม่ป่วย ก็มีความทุกข์ในการดำเนินชีวิตได้เช่นกัน จึงอยากให้แยกการเจ็บป่วยและการสร้างความสุข ออกจากกัน

ดังนั้นภารกิจจะไม่ได้อยู่ที่กระทรวงสาธารณะสุข บุคลากรทางการแพทย์ เป็นหลักในการสร้างความสุข แต่อยู่ที่กลไกความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่มีความเชี่ยวชาญซึ่งใกล้ชิดกับคนในองค์กรหรือพื้นที่ โดยมีรัฐเป็นผู้สนับสนุนสร้างโมเดลต่าง ๆ กระจายไปในหลายพื้นที่ให้เกิดขึ้นจริง วัดผลได้ ที่สำคัญคือปัจจัยในการกำหนดความสุข ไม่สามารถแยกการพัฒนาเศรษฐกิจกับสุขภาพจิต รวมถึงความเหลื่อมล้ำได้

“อนาคตการกระจายศูนย์ แทนการรวมศูนย์เพื่อสร้างโมเดลของแต่ละพื้นที่จะมีความสำคัญ ส่วนกลางมีหน้าที่แค่ไปสนับสนุนทำให้เกิดขึ้นได้จริง เห็นความสำคัญของผู้เล่นอื่น ๆ ไม่ใช่แค่ด้านสาธาณสุข เอื้อมมือไปจับภาคีต่าง ๆ ที่ทำงานด้านส่งเสริม ป้องกันเข้ามามีส่วนร่วม”

นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์
ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส.

สอดคล้องกับ ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวถึงความสำคัญในการใช้นวัตกรรม เข้ามาแก้ปัญหาด้านสุขภาพจิตของผู้คน รวมถึงความเชื่อมโยงของภาคีทุกภาคส่วน ที่อาจไม่เคยถูกนับรวมเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ แต่จากดัชนีชี้วัดความสุขจากทั่วโลก พบว่า มีเรื่อง GDP ความโปร่งใส ความมีอิสระในการตัดสินใจ เป็นตัวกำหนดความสุขภาวะทางจิตที่ไม่ใช่แค่ด้านสาธารณสุข ดังนั้นภารกิจของ สสส. จึงเน้นไปที่การสนับสนุนหน่วยงานหรือชุมชนที่ขับเคลื่อนนวัตกรรมในการดูแลใจของผู้คน เชื่อมโยงข้อต่อต่างๆ เพื่อขยับไปสู่ระดับนโยบาย

สื่อสาธารณะ : พื้นที่สร้างความเข้าใจ ‘สุขภาวะทางจิต’ ตัวกำหนด ‘ความสุข’ ผู้คน

ขณะที่ รศ.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) กล่าวถึงบทบาทของสื่อกับการส่งเสริมด้านสุขภาพจิต ควรเปิดพื้นที่สร้างความเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของทุกคนจริง ๆ และสุขภาวะทางจิตเป็นปัจจัยในการกำหนดความสุขของผู้คน แต่เนื่องจากเป็นเรื่องที่ทับซ้อนหลายมิติ เช่น ศักยภาพของคน ๆ หนึ่ง จะปรับตัวให้มีความสุขได้ขึ้นอยู่กับสภาพครอบครัว โรงเรียน ที่ทำงาน เศรษฐกิจและสังคม และท้ายที่สุดคือระดับนโยบาย สิ่งที่ไทยพีบีเอส พยายามสื่อสารข้อความถึงประชาชน จึงไม่ใช่แค่เรื่องการเป็นโรค แต่ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบเหล่านี้ด้วย

รศ.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ Thai PBS

“Policy watch เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ไทยพีบีเอสให้ความรู้ ทำความเข้าใจว่าสุขภาพจิตคืออะไร เกี่ยวข้องกับใคร เพื่อให้คนทะลุออกจากกรอบเดิม ๆ โดยเฉพาะการตีตรา สิ่งที่เราจะทำงานร่วมกับภาคีฯ คือทำให้เห็นว่าสุขภาพจิตเป็นเรื่องของทุกคน ผ่านกิจกรรม ‘HACK ใจ’ ความท้าทายคือจะทำอย่างไรให้กระบวนการ ผลลัพธ์ ที่เกิดขึ้นส่งไปถึงรัฐบาล”

รศ.วิลาสินี พิพิธกุล

‘Hack ใจ’ ค้นหานวัตกรรมฮีลใจ ให้ความสุขกลับมา

ในเวทียังนำเสนอถึงความร่วมมือในการจัดโครงการ ‘HACK ใจ เพราะสุขภาพใจเป็นเรื่องของทุกคน’ Hackathon ด้านสุขภาพจิตครั้งแรกในประเทศไทย โดยเป้าหมายของการจัดกิจกรรม เพื่อรวบรวมไอเดียด้านการส่งเสริมป้องกันสุขภาพจิตอย่างยั่งยืน เป็นพื้นที่สำหรับแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และทักษะของแต่ละองค์กร นำไปปรับใช้ให้เกิดผลลัพธ์ด้านการส่งเสริมป้องกันสุขภาพจิต รวมถึงสร้างเครือข่ายการพัฒนาโครงการ เจตจำนง หรือนโยบายด้านการส่งเสริมป้องกันสุขภาพจิต

กิจกรรม HACK ใจ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 ก.พ. – 2 มี.ค. 67 ที่ไทยพีบีเอส ในรูปแบบของกิจกรรม Hackathon ระดมสมองหาไอเดียต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 2 วัน ก่อนนำเสนอผลงาน ประกอบด้วย 8 กลุ่ม ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ที่เกี่ยวข้องด้านการส่งเสริมป้องกันสุขภาพจิตแตกต่างกันไป ประกอบด้วย นวัตกรรม, เศรษฐกิจดิจิทัล, ระบบยุติธรรม, ผู้บังคับใช้กฎหมาย, การสื่อสาร, การออกแบบเมือง, ธุรกิจประกัน และ องค์กรแห่งความสุข

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active