น่ากังวล เด็ก เยาวชน ติดบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 5.3 เท่า ภายใน 7 ปี โอกาสเสี่ยงโรคเพียบ สสส. – มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ดึงท้องถิ่น เร่งคุมบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ลดปัจจัยเสี่ยง เดินหน้า Kick Off ชุมชนปลอดบุหรี่ 1,794 แห่ง
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ระบุภายในกิจกรรม Kick Off ชุมชนท้องถิ่นปลอดบุหรี่ สร้างสังคม ลด ละ เลิกบุหรี่ ลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพในระดับชุมชน โดยระบุว่า จากผลสำรวจของการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในเยาวชนไทย (Global Youth Tobacco Survey : GYTS) ปี 2565 พบว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็ก และเยาวชนเพิ่มสูงขึ้นก้าวกระโดด จาก 3.3% ในปี 2558 เพิ่มเป็น 17.6% ในปี 2565 เพิ่มขึ้นถึง 5.3 เท่า
การระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในเด็ก และเยาวชนที่ไม่เคยสูบบุหรี่ จะกลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหม่ เพราะเด็กที่ติดบุหรี่ไฟฟ้า โอกาสจะเลิกสูบได้ยาก เนื่องด้วยบุหรี่ไฟฟ้าเสพติดหนักกว่าติดบุหรี่ธรรมดา อีกทั้งมีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายไม่น้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา โดยเฉพาะหลักฐานที่บ่งว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เป็นมะเร็งได้
“อัตราการสูบบุหรี่ของไทยของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2534-2564 กลุ่มอายุ 15 ปีขึ้นไป มีอัตราการสูบบุหรี่ในเขตเทศบาลมากถึง 15.6% และนอกเขตเทศบาล 19% องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงมีส่วนสำคัญในการเข้ามามีบทบาทดำเนินงานควบคุมบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าทำให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่ดี สำหรับเด็กและเยาวชนที่จะเติบโตขึ้นอย่างมีสุขภาพดี ห่างไกลจากบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และยาเสพติด”
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ
นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการ สสส. บอกว่า บุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีผลรุนแรง ก่อให้เกิดผลกระทบด้านสูงภาพสูง โดยเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด 2-4 เท่า เพิ่มความเสี่ยงเกิดมะเร็งปอด 25 เท่า
ข้อมูลจากรายงานภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชากรไทยปี 2562 โดยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ พบว่า บุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญต่อการเสียชีวิตในประชากรไทย 15.6% โดยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งมากที่สุด 22,561 คน คิดเป็น 26.1%
จุดเน้นในการดำเนินงานควบคุมยาสูบของ สสส. คือการพัฒนาศักยภาพเครือข่าย ทั้งส่วนกลาง ภูมิภาค ท้องถิ่น ชุมชน ครอบครัว ในการดำเนินงานควบคุมยาสูบ โดยในระยะที่ผ่านมา สสส. ได้สนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นดำเนินงานดูแลสุขภาพชุมชน ควบคุมยาสูบ สารเสพติด และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชน และได้สนับสนุนมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ดำเนินโครงการพัฒนาสมรรถนะนักขับเคลื่อนนโยบายควบคุมการบริโภคยาสูบระดับท้องถิ่น
รองผู้จัดการ สสส. บอกด้วยว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถือเป็นองค์กรหลักที่ดูแลประชาชนในชุมชนท้องถิ่นในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการลดอัตราการสูบบุหรี่ให้สำเร็จ ต้องอาศัยศักยภาพ และพลังของเครือข่ายนักรณรงค์ในระดับท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ส่งเสริม และสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับทราบสถานการณ์ และร่วมกันแก้ไขปัญหาให้ครอบคลุมพื้นที่ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ ทั้งด้านการพัฒนากำลังคน การป้องกันนักสูบหน้าใหม่ การสร้างสิ่งแวดล้อมให้ปลอดควันบุหรี่ การบังคับใช้กฎหมาย และการบำบัดรักษาผู้ติดบุหรี่
“กิจกรรม Kick Off ชุมชนท้องถิ่นปลอดบุหรี่ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสานพลัง และการสร้างความร่วมมือกับท้องถิ่นในการร่วมขับเคลื่อนการทำงานเพื่อการควบคุมการบริโภคยาสูบ นำไปสู่การลดอัตราการสูบบุหรี่ในระดับพื้นที่ในอนาคต”
นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม
ขณะที่ นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ กรรมการกองทุน สสส. และ กรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 ระบุว่า สสส. ดำเนินงานขับเคลื่อนงานตำบลสุขภาวะในประเด็นการควบคุมการบริโภคยาสูบตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบันมี อปท. สะสมเป็นจำนวน 1,794 แห่งทั่วประเทศ โดยแผนสุขภาวะชุมชนมุ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นกับการควบคุมการบริโภคยาสูบ ใน 7 แนวทางคือ
- รณรงค์ทุกระดับ สร้างบุคคลต้นแบบจากผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ หรือผู้ที่เลิกบุหรี่ ต้นแบบครอบครัว ลด ละ เลิก สร้างอาสาสมัคร เพื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์
- จัดสภาพแวดล้อม เช่น ร้านค้าปลอดบุหรี่ สร้างเครือข่ายสถานบริการปลอดบุหรี่
- สร้างกติกาหรือมาตรการทางสังคม
- สร้างมาตรการขององค์กร กลุ่มทางสังคม หน่วยงาน เช่น ที่ทำงานปลอดบุหรี่ อปท.ปลอดบุหรี่ ครัวเรือนปลอดบุหรี่
- บังคับใช้กฎหมายการควบคุมยาสูบ
- เสริมทักษะบุคคลครอบครัว พัฒนาหลักสูตร ศูนย์ฝึกอาชีพ ให้ห่างไกลจากบุหรี่
- จัดตั้งศูนย์บำบัด และฟื้นฟูในโรงพยาบาลชุมชน รพสต. พัฒนาหมอพื้นบ้าน อสม. กลุ่มสมุนไพร นวดกดจุด สู่การลด ละ เลิก สร้างค่านิยมไม่สูบบุหรี่ตั้งแต่ระดับชุมชน
ภาคิน ติระพงศ์ไพบูลย์ นายกเทศมนตรีเมืองมหาสารคาม จ.มหาสารคาม บอกว่า การทำงานชุมชนปลอดบุหรี่ของเทศบาลเมืองมหาสารคาม ได้ดำเนินงานชุมชนปลอดบุหรี่ 5 มาตรการ
- นโยบายในการควบคุมบริโภคยาสูบ
- จัดสถานที่เขตปลอดบุหรี่ ติดสัญลักษณ์พื้นที่ห้ามสูบ เฝ้าระวัง ติดตาม ตรวจ เตือน
- จัดกิจกรรมให้ความรู้และรณรงค์
- จัดทำแผนการดำเนินงาน กำหนดบทบาทการทำงาน และผู้รับผิดชอบ
- สนับสนุนให้เกิดการเลิกบุหรี่ เกิดระบบส่งต่อไปยังสถานบริการฟื้นฟู หรือคลินิกปลอดบุหรี่
จากมาตรการทั้งหมดทำให้ปัจจุบันเกิดบุคคลต้นแบบกว่า 60 คน บ้านปลอดบุหรี่ 2,307 หลัง ชุมชนต้นแบบ 4 ชุมชน ร้านค้าปลอดบุหรี่ 305 ร้าน มีตาสับปะรด คอยสอดส่องดูแล 775 คน มี อสม. และ อพปร. ที่คอยเฝ้าระวัง ป้องกันปัญหาบุหรี่ และยาสูบอื่น ๆ กว่า 850 คน