เผยโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ มีพยาบาลจิตเวช หน่วยละ 2-3 คน ท่ามกลางภาระงานหนัก จากนโยบาย “ผู้เสพคือผู้ป่วย” ชุมชน CBTx วอน สธ. เกลี่ยอัตรากำลัง อย่างน้อยหน่วยละ 5 คน ขอโอกาสเติบโตในสายงาน พร้อมหนุนออกจาก ก.พ.
เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 67 ที่รัฐสภา คณะทำงานพยาบาลหัวหน้ากลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด โรงพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย เข้าพบ สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเสนอปัญหาความไม่เป็นธรรมเรื่องความก้าวหน้าในวิชาชีพพยาบาล โดยเฉพาะพยาบาลจิตเวช พยาบาลยาเสพติดที่ปฏิบัติในกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดในโรงพยาบาลชุมชน จำนวน 775 แห่ง
พว.ศุภชัย นวลสุทธิ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ประธานคณะทำงานพยาบาลวิชาชีพ หัวหน้ากลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด โรงพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย บอกว่า ปัจจุบันปัญหาผู้ป้วยโรคทางจิตเวช พบมากขึ้น ผู้ป่วยยาเสพติดมีอาการทางจิตมากขึ้นและเป็นอันตรายต่อประชาชนในชุมชน นอกจาก ภาระหน้าที่ในการป้องกันปัญหาสุขภาพจิตยาเสพติดในชุมชนทุกกลุ่มวัยแล้ว ยังต้องปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลผู้ป่วย จิตเวชยาเสพติด ทั้งผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน ชุมชนล้อมรักษ์ (CBTX) รวมทั้งประสานงานเพื่อให้การช่วยเหลือผู้ป่วยและครอบครัว
โดยการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ ต้องใช้สมรรถนะของพยาบาลเฉพาะทางการพยาบาลจิตเวช และการพยาบาลยาเสพติด ต้องแยกโรคร่วมทางกาย ทางจิต การดูแลให้ครอบคลุม เพื่อให้ผู้ป่วยไม่มีอาการกำเริบ จนเป็นอันตรายต่อคนรอบข้างและชุมชน เช่น ผู้ป่วยได้รับการฉีดยา และรับประทานยาอย่างอย่างต่อเนื่อง ลดอาการกำเริบ ลดการกลับมาเป็นซ้ำ
สำหรับ “กลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด” เป็นกลุ่มงานใหม่ มีพยาบาลผู้ปฏิบัติงานเพียงหน่วยละ 2-3 คน ซึ่งเป็นอัตราบุคลากรที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับงานที่มีความยาก ซับซ้อน มีความเสี่ยงอันตรายจากคนไข้ที่ติดยาเสพติดที่อาการรุนแรงจากการหลงผิด หูแว่ว ประสาทหลอน (SM-V) แต่ในปัจจุบันกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด ไม่ได้รับการเกลี่ยอัตรากำลังพยาบาลให้อย่างเหมาะสมและเพียงพอ หลายแห่งมีพยาบาลปฏิบัติงานเพียง 1 คน โดยมีภาระงานมากขึ้น
“เหตุผลหลัก คือ การขาดแคลนพยาบาล ทำให้โรงพยาบาลชุมชนมักเลือกคัดสรรบรรจุพยาบาลใหม่ให้กับกลุ่มงานอื่น ๆ เพิ่มเติม เป็นผลให้ขาดบุคลากรในการปฏิบัติงานของกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด ส่งผลให้การเข้าถึงบริการของผู้ป่วยไม่ผ่านเกณฑ์ เนื่องจากภาระงาน การประชุม อบรม การเจ็บป่วย การลางานของผู้ปฏิบัติงาน ต้องปิดคลินิกให้บริการปรึกษาปัญหา สุขภาพจิต จิตเวช การคัดกรองและการบำบัดยาเสพติด”
ตัวแทนพยาบาลหัวหน้ากลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด
พว. ศุภชัย ย้ำว่า การขาดบุคคลากรยังทำให้ขาดโอกาสเติบโต ก้าวหน้าในวิชาชีพทางการพยาบาล สร้างความขัดแย้งภายในองค์กรพยาบาลอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน อีกทั้ง ยังไม่สามารถเตรียมคนเข้าสู่การปฏิบัติงานด้านการพยาบาลจิตเวชและยาเสพติดได้อย่างต่อเนื่อง เพราะต้องใช้พยาบาลที่มีคุณวุฒิการศึกษาเฉพาะทางด้านสุขภาพจิต จิตเวชและการบำบัดยาเสพติด เพื่อที่จะสามารถปฏิบัติงานได้และมีทักษะที่จำเป็นเฉพาะของงานจิตเวชและยาเสพติด ซึ่งต้องแยกประเมินโรคร่วมทางกาย ทางจิตการบำบัดรักษาฟื้นฟูติดตาม ซึ่งแตกต่างจากพยาบาลที่ปฏิบัติงานทั่วไปในโรงพยาบาล ตลอดจนภาระงานที่มีมากขึ้นในปัจจุบันไม่สัมพันธ์กับอัตรากำลังพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานจริง
จากปัญหาดังกล่าวนำมาสู่ ข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ประกอบด้วย
- ให้มีการมีการเกลี่ยอัตรากำลังพยาบาลวิชาชีพ โดยเร่งรัดการสั่งการจากระดับกระทรวงไปยังสำนักงานเขตสุขภาพ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และโรงพยาบาลชุมชนโดยตรง โดยเกลี่ยอัตรากำลังพยาบาล วิชาชีพให้กลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดในโรงพยาบาลชุมชนในอัตรากำลังที่เหมาะสมกับภาระงาน อย่างน้อยขั้นต่ำ จำนวน 5 คน เพื่อให้การปฏิบัติงานเชิงรุกและเชิงรับสามารถกระทำได้ตามบทบาทภารกิจ ภาระงานของกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดที่เป็นความจริงตามนโยบายสำคัญแห่งชาติดังกล่าว
- การเพิ่มขวัญและกำลังใจตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ ให้กับพยาบาลวิชาชีพผู้ปฏิบัติงานในฐานะหัวหน้ากลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดที่กำลังอ่อนล้าทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ในโรงพยาบาลชุมชนทุกระดับ
- หากกระทรวงสาธารณสุข ได้รับการพิจารณาออกนอกระบบของสำนักงาน ก.พ. กลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด โรงพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย ขอเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญของภาระงานอันยิ่งยวด และมีบุคลากรที่มีคุณค่าที่ทัดเทียมเทียบเท่ากลุ่มงานอย่างอื่น ๆ
ทั้งนี้ หากบริหารจัดการกำลังคนด้านจิตเวชอย่างเหมาะสม ก็จะสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วย ลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับครอบครัว ชุมชน โดย ส่วนรวม ตลอดจนถึงการลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยและญาติที่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาลจังหวัด ลดภาระค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลชุมชน ในการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านจิตเวชและยาเสพติดได้อย่างเป็นรูปธรรม