ชายคนไร้บ้าน วัย 42 ปี พบปัญหาใบส่งตัว เมื่อ 4 เดือนก่อน ทำเข้าถึงการรักษาล่าช้า จนอาการเนื้องอกในสมองรุนแรงหนัก แพทย์หมดหนทางยื้อชีวิต ร้อง สปสช. เยียวยา สอบคลินิก
วันนี้ (20 มิ.ย. 2567) ถิรนันท์ ช่วยมิ่ง ผู้จัดการฝ่ายงานบริหารนโยบายและวางแผนงาน โครงการผู้ป่วยข้างถนน,จ้างวานข้า มูลนิธิกระจกเงา เปิดเผยกับ The Active ถึงเรื่องราวของ “พงษ์ศักดิ์ เยาวชัย” อายุ 42 ปี คนไร้บ้าน ซึ่งเป็นสมาชิกของโครงการจ้างวานข้า ทำงานคัดแยกเสื้อผ้ามือสองอยู่ภายในมูลนิธิฯ โดยช่วง ม.ค. 2567 Case Maneger ได้พบเห็นความผิดปกติทางสายตาของพงษ์ศักดิ์ จึงย้ายสิทธิ์การรักษาบัตรทองจาก จ.บุรีรัมย์ มาอยู่ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
ในเดือน ก.พ. 2567 จึงได้เข้าสู่การรักษาระดับปฐมภูมิที่ คลินิกแห่งหนึ่งภายในซอยวิภาวดี 60 และถูกส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ แพทย์ตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดแต่ยังไม่ฟันธงว่าสาเหตุเกิดจาก มะเร็ง หรือ เนื้องอก พร้อมทั้งได้ทำการนัดหมายมาพบอีกครั้งในวันที่ 7 มี.ค.
กรณีของ พงษ์ศักดิ์ เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่ สปสช. เปลี่ยนนโยบายรูปแบบการจ่าย ทำให้ผู้ป่วยต้องขอใบส่งตัวจากคลินิก โดยก่อนวันหมอนัด ได้ไปขอใบส่งตัวที่คลินิกดังกล่าว แต่โดนปฏิเสธ เพราะออกใบส่งตัวจำกัดแค่วันละ 4 คน และต้องมาก่อนวันนัดหมาย 3-5 วัน จึงต้องเลื่อนนัดรอพบหมออีกครั้งในวันที่ 18 เม.ย. เจ้าหน้าที่คลินิก บอกด้วยว่า ระบบใหม่คนไข้บางราย ต้องมารอตั้งแต่ ตี 2 และคนไข้ต้องมาขอใบส่งตัวด้วยตัวเอง
Case Maneger ของพงษ์ศักดิ์ จึงเปลี่ยนมาใช้สิทธิ์ผู้พิการแทน ตามคำแนะนำของ สายด่วน 1330 สปสช. ซึ่งต้องยื่นเอกสารทำเรื่องที่สำนักเขต แต่ก็เพื่อความสะดวกต่อการรักษา โดยแพทย์โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ได้ตรวจพบก้อนเนื้อที่สมอง ซึ่งเกินศักยภาพที่จะทำการผ่าตัด จึงส่งตัวไปยังโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เมื่อมาถึงแผนกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ก็ปิดในวันหยุดราชการ กว่าจะได้พบแพทย์และกว่าจะผ่านกระบวนการต่าง ๆ จนได้รับการผ่าตัด ล่วงเลยไปถึงวันที่ 24 พ.ค. 2567 ซึ่งเวลาล่วงเลยมาถึง 4 เดือนแล้ว
“อาจารย์แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมสมอง ของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ก็ตกใจว่าทำไมปล่อยทิ้งไว้นานขนาดนี้ จนก้อนเนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง เคลื่อนไปทับเส้นประสาทตา จนฮอร์โมนผิดปกติ อาการหนัก”
ถิรนันท์ กล่าว
ถิรนันท์ เล่าอีกว่า หลังจากผ่าตัดแล้ว อาการของพงษ์ศักดิ์ ยังไม่ดีขึ้นแพทย์จึงต้องผ่าตัดครั้งที่ 2 พบว่าน้ำท่วมโพรงสมอง หลังจากนั้นอาการทรุดลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งเสียชีวิต เมื่อในวันที่ 15 มิ.ย. 2567
ผู้จัดการฝ่ายงานบริหารนโยบายและวางแผนงาน โครงการผู้ป่วยข้างถนนฯ มองว่ากรณีนี้ หากไม่มีปัญหาใบส่งตัว และเข้าพบแพทย์ตามนัด ไม่ได้เลื่อนบ่อย ๆ ตั้งแต่เดือน มี.ค. ก็อาจจะทำให้พงษ์ศักดิ์ เข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็ว และอาจยังมีชีวิตรอด โดยกรณีนี้ได้ร้องเรียน สปสช. เพื่อเรียกร้องค่าชดเชย และขอให้ตรวจสอบคลินิกดังกล่าว ที่ไม่ยอมออกใบส่งตัวให้ตั้งแต่เดือน มี.ค.
ถิรนันท์ บอกอีกว่า ยังมีสมาชิกในโครงการจ้างวานข้า มูลนิธิกระจกเงา ที่ผู้ดูแลจะต้องติดตามสุขภาพปัญหาสุขภาพ เพราะส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และใช้สิทธิ์บัตรทอง ซึ่งหลังจากที่ทราบว่า กรุงเทพฯ เป็นหนึ่งใน 42 จังหวัด ที่ถูกประกาศว่าสามารถใช้สิทธิ์รักษาทุกที่ได้แล้ว โดยที่ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว ก็ดีใจ แต่เมื่อไปถาม ศูนย์บริการสาธารณสุข กลับพบว่า ยังไม่สามารถใช้สิทธิ์รักษาทุกที่ได้
สปสช. แจงยังไม่เริ่ม 30 บาทรักษาทุกที่ใน กทม.
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) บอกว่า ตามที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เรื่องจังหวัดที่ดำเนินงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว พ.ศ. 2567 โดยมีรายชื่อทั้งสิ้น 42 จังหวัด ซึ่งรวมถึง กทม. ในลำดับที่ 42 ด้วยนั้น
สปสช. ขอชี้แจงว่า ในส่วนของ กทม.นั้น ยังไม่ได้เริ่มตามแนวทาง 30 บาทรักษาทุกที่ โดยขณะนี้ สปสช. เขต 13 กทม. อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมรองรับ ทั้งในส่วนของการเตรียมงบประมาณ การเชื่อมต่อระบบบริการ และการจัดเตรียมหน่วยบริการเพื่อให้การดูแลประชาชน ซึ่งต้องยอมรับว่าในพื้นที่ กทม. เป็นพื้นที่มีความซับซ้อน ทั้งในด้านประชากรและจำนวนหน่วยบริการที่ไม่เพียงพอ
นพ.จเด็จ บอกอีกว่า หากในพื้นที่ กทม. มีความพร้อมแล้วที่จะดูแลประชาชนภายใต้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ก็จะมีการเปิดตัวนโยบายอย่างเป็นทางการ เพื่อแจ้งการเริ่มบริการให้ประชาชนรับทราบต่อไป ส่วนที่มีรายชื่อ กทม. อยู่ในประกาศของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เรื่องจังหวัดที่ดำเนินงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่นั้น เพื่อเป็นการจัดเตรียมงบประมาณจำนวน 64 ล้านบาทเพื่อใช้ในการดำเนินการรองรับในส่วนที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากเป็นพื้นที่ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการเตรียมการ
“วันนี้ประชาชนใน กทม. หากมีอาการเจ็บป่วย ขอเริ่มรับบริการที่หน่วยบริการประจำตามสิทธิหรือหน่วยบริการปฐมภูมิก่อน หลังจากประกาศวันเริ่ม 30 บาทรักษาทุกที่ใน กทม.อย่างเป็นทางการแล้ว ก็จะมีทางเลือกใหม่เพิ่มความสะดวกให้ประชาชนในการใช้บริการที่หน่วยบริการนวัตกรรม ลดความแออัดในโรงพยาบาลต่อไป”
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี
ขณะที่ สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ประกาศเชิญชวนกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากระบบบัตรทองใน กทม. ที่สนใจ ลงทะเบียนร่วมงาน รับจำนวนจำกัดเพียง 15 คน ในเวทีสภาผู้บริโภค เรื่อง “แนวทางแก้ไขปัญหาการส่งต่อผู้ป่วยบัตรทองในกรุงเทพมหานคร เพื่อการคุ้มครองสิทธิผู้ของบริโภค” ในวันเสาร์ ที่ 29 มิ.ย. 2567 เวลา 09.00-12.00 น. ณ ห้องประชุมรัชดาภิเษก ชั้น 2 โรงแรมเดอะบาซาร์ แบงค็อก ซึ่งในเวทีนี้จะมีตัวแทน สปสช. ตัวแทน กทม. และอาจจะมีตัวแทนคลินิกฯ เข้ามาร่วมรับฟังข้อเสนอด้วย