วิเคราะห์ข้อดี – ข้อเสีย จาก 3 แนวทางผลศึกษา อนุ กมธ.บุหรี่ไฟฟ้าฯ ชูหลักฐานทางการแพทย์ ‘นิโคติน’ ในบุหรี่ไฟฟ้า ก่อมะเร็งไม่แพ้บุหรี่มวน ห่วง เด็ก เยาวชน เข้าถึงมากขึ้น หวั่นปอดพัง กระทบพัฒนาการสมอง
วันนี้ (10 ก.ค. 2567) ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) จัดเวทีนำเสนอข้อมูล ข้อดี ข้อเสีย 3 แนวทาง ของอนุกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย เพื่อเปิดเผยข้อดี ข้อเสีย ที่จะกำหนดมาตรการต่าง ๆ ในการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า หวังให้ กมธ.บุหรี่ไฟฟ้า นำข้อเท็จจริงไปพิจารณาอย่างรอบคอบ คำนึงถึงผลกระทบของประชาชน ปกป้องเด็ก และเยาวชนจากภัยบุหรี่ไฟฟ้า
‘บุหรี่ไฟฟ้า’ กระทบระบบทางเดินหายใจ
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตรศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงโทษของบุหรี่ไฟฟ้าในหนูทดลอง พบว่า นิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้า กระตุ้นทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุทางเดินหายใจ จมูก คอหอย หลอดลม ไปอุดกั้นปลายส่งถุงลมปอด ทำให้เซลล์ในร่างกายมีอายุสั้นลง บางเซลล์เกิดการกลายพันธุ์เป็นเซลล์มะเร็ง รบกวนเซลล์ควบคุมไขมัน ที่เป็นส่วนสำคัญของน้ำหล่อเลี้ยงถุงลมปอด ซึ่งมีผลในระยะยาวคือเกิดภาวะ “หลอดลมไวเกินต่อตัวกระตุ้น” หมายถึง เมื่อเจอกับอากาศเย็น ฝุ่นควัน พูดนาน ๆ จะเกิดอาการไออย่างหนัก ซึ่งนำไปสู่โรคหอบหืด ถุงลมโป่งพอง ปอดเป็นพังผืด
เช่นเดียวกันกับในคน ที่จะทำให้เกิดการระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ ผู้ที่มีโรคจะทำให้ควบคุมอาการได้ยากขึ้น ต้องปรับยามากขึ้น เป็นตัวเร่งให้เกิดถุงลมโป่งพองง่ายขึ้นโดยเฉพาะในเด็กและวัยรุ่น ที่บุหรี่ไฟฟ้าจะส่งผลต่อประสิทธิภาพเสื่อมถอยลง กล่าวคือ เมื่อแรกเกิดคนเราจะมีถุงลม 25 ล้านใบ และเมื่ออายุ 7 ปี จะเพิ่มมาเป็น 300 ล้านใบ จะโตและใช้งานได้อย่างเต็มที่ ในช่วงอายุ 20 – 25 ปี โดยหลังอายุ 25 ปี ถุงลมปอดจะเริ่มเสื่อมลง
“ลองนึกภาพเด็กไทยเริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้าตั้งแต่ 5 ขวบ ทีนี้จนกว่าจะไปถึงอายุ 25 ปี คิดดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะฉะนั้นในอนาคตถ้าเราปล่อยให้เด็กไทยสูบบุหรี่มวน บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น ยังไม่รวมว่าสูบกัญชา สูดดม PM2.5 เราจะได้ประชากรที่ไปแข่งฟุตบอล แข่งกีฬาโอลิมปิค คงไม่ไหว เพราะปอดเราไม่แข็งแรง วิ่งก็สู่เขาไม่ได้ เตะฟุตบอลก็คงเหนื่อยเร็ว สิ่งที่สำคัญคือว่าคนกลุ่มนี้เมื่ออายุ 40 50 ก็จะกลายเป็นภาระของสังคม เขาจะเจ็บป่วยด้านร่างกายด้วยโรคปอดมากขึ้น”
ศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ บอกอีกว่า ไอบุหรี่ไฟฟ้า มีน้ำมันและสารเคมีกว่า 7,000 ชนิด ทำให้เสี่ยงเกิดปอดอักเสบเฉียบพลัน EVALI (E-cigarette or Vaping product use associated Acute Lung Injury) อาจถึงตายได้อย่างเฉียบพลัน ทั้งนี้บุหรี่ไฟฟ้าทุกชนิดมีนิโคตินซึ่งเป็นสารเสพติด มีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดหดตัว สร้างสารอักเสบ และมีอนุมูลอิสระทำให้เซลล์ผิดปกติ จึงเป็นอันตรายต่อร่างกายทุกระบบ ไม่ควรนำมาใช้ทดแทนบุหรี่มวน และไม่แนะนำให้ใช้เป็นเครื่องมือในการเลิกบุหรี่
นอกจากนี้ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ ยังได้กล่าวถึง “บุหรี่ไร้ควัน” หรือ HTP: Electronic Nicotine Delivery Device ชนิดที่เป็น Solid นำใบยาสูบมาหั่นฝอย ซึ่งปัจจุบันยังไม่เป็นที่นิยมในไทย ซึ่งผู้ผลิตใช้กระบวนการเผาไหม้ที่ต่างจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ด้วยอุณหภูมิที่ต่ำกว่า ทำให้มีควันที่น้อยกว่านั้นว่า แม้จะมีควันน้อย แต่หากสูบเข้าไปปริมาณมาก ก็ได้รับพิษไม่ต่างกัน ยิ่งหากปนเปื้อนสารแต่งกลิ่นยิ่งอันตราย และเริ่มมีรายงานผู้ป่วยที่เกิดปัญหาจากการใช้ HTP แล้ว
ห่วงเด็กไทยเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าเร็ว กระทบพัฒนาการสมอง
รศ.นพ.ชัยยศ คงคติธรรม หัวหน้าหน่วยประสาทวิทยา ภาควิชากุมารแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึง พิษภัยบุหรี่ไฟฟ้าต่อเด็กและวัยรุ่นว่า ช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงเวลาของชีวิตที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาของสมองในการกำหนดความเป็นตัวตน การตัดสินใจ การควบคุมแรงกระตุ้น การคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหาต่าง ๆ อย่างมีเหตุผลและเป็นระบบ เพื่อเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ การได้รับนิโคติน โดยเฉพาะจากบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งมักจะมีนิโคตินในปริมาณที่สูงกว่าบุหรี่มวนหลายเท่าตัว จะกระทบต่อการทำงานของสารสื่อประสาทในสมองที่สำคัญต่อกระบวนการเรียนรู้ของวัยรุ่น
นิโคตินยังมีอำนาจในการเสพติดสูง สมองของวัยรุ่นเรียนรู้ได้เร็วจึงมีความเสี่ยงต่อการติดนิโคตินสูงกว่าผู้ใหญ่ และยังเป็นประตูสู่สารเสพติดอื่น ๆ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการทำงานของสมองในระยะยาว และยังพบอุบัติการณ์ “ภาวะซึมเศร้า” ในเด็กที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้ามากกว่าผู้ที่ไม่สูบ และพบว่า เด็กที่สมาธิสั้นเกิดจากแม่ที่มีประวัติใช้บุหรี่ไฟฟ้าอีกด้วย โดยในแต่ละช่วงของพัฒนาการเด็กยังช่วยตนเองไม่ได้ จึงเสี่ยงต่อการได้รับไอบุหรี่ไฟฟ้ามือสองและมือสามมากกกว่าผู้ใหญ่
“หากปล่อยให้มีการตลาดล่าเหยื่อมุ่งเป้าเด็กเล็กและซื้อขายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเสรี จะมีผลต่อการเพิ่มขึ้นของการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนอย่างมาก ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาการเกิดลดน้อยลง หากยังได้รับผลกระทบต่อการพัฒนาของสมองจากบุหรี่ไฟฟ้า จะก่อให้เกิดความเสี่ยงที่สำคัญต่อการพัฒนาสมองและสุขภาพในระยะยาวของอนาคตของชาติ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องปกป้องเด็กและเยาวชนเป็นพิเศษจากภัยบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเร่งด่วน”
รศ.นพ.ชัยยศ คงคติธรรม
เจาะลึก ข้อดี – ข้อเสีย 3 มาตรการคุมบุหรี่ไฟฟ้าไทยที่ต้องทบทวน
ศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ รองผู้อำนวยการ ศจย. ยังได้วิเคราะห์ ข้อดี ข้อเสีย 3 แนวทางของมาตรการด้านกฎหมายเพื่อควบคุมกำกับการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยนำประเด็นจากสรุปผลการประชุมของคณะอนุกรรมาธิการพิจารณามาตรการด้านกฎหมายเพื่อควบคุมกำกับการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย (เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 67) ซึ่งมีทั้งหมด 3 แนวทาง คือ
- การกำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย
- คงกฎหมายห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า ยกเว้น Heat not burn Tobacco Product (HTP)
- ยกเลิกกฎหมายห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า
โดยวิเคราะห์ออกมาเป็นข้อสรุป ดังนี้
แนวทางที่ 1 การกำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย มีข้อดีและข้อเสนอแนวทางการพัฒนาแก้ไข แบ่งเป็นประเด็นดังนี้
- ข้อดี กฎหมายปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าที่มีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันทั้ง 3 ฉบับ เป็นกฎหมายที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยและของโลก ที่มีการเพิ่มจำนวนประเทศที่แบนเป็น 40 ประเทศ อย่างรวดเร็ว แต่มีข้อเสนอว่า กลไกการบังคับใช้กฎหมายยังไม่เต็มประสิทธิภาพ ควรมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์จากประเทศที่แบน และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดจนควบคุมการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าได้ เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง และบราซิล
- ข้อดี ตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลในการปราบปรามยาเสพติด ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสารเสพติด และเป็นช่องทาง นำไปสู่การใช้สารเสพติดอื่น ๆ แต่การสร้างความตระหนักเกี่ยวกับโทษพิษภัยอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าไม่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายและขาดความต่อเนื่อง ดังนั้นภาครัฐควรร่วมมือกับภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้รุ่นใหม่แบบดิจิตอล อย่างมีส่วนร่วมเพื่อให้เข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย
- ข้อดี สามารถป้องกันการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อไม่ให้เข้าสู่การเสพติดนิโคติน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งต้องได้รับการปกป้อง ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 จากประสบการณ์ของต่างประเทศที่พบว่าประเทศที่แบนจะมีอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนต่ำกว่าประเทศที่ไม่แบน แต่มาตรการรองรับการบำบัดรักษาผู้เสพติดนิโคตินจากบุหรี่ไฟฟ้ายังไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน ควรพัฒนารูปแบบการให้บริการที่ทันสมัยมีประสิทธิภาพ เข้าถึงผู้บริการ ทุกรูปแบบ ทุกเวลา ในราคาที่สมเหตุสมผล
- มองว่าการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการประเมินต้นทุนผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้ายังมีไม่เพียงพอ ในระยะสั้นควรใช้การทบทวนวรรณกรรมจากการวิจัยของต่างประเทศ
แนวทางที่ 2 คงกฎหมายห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า ยกเว้น Heat not burn Tobacco Product (HTP) มีข้อดี และ ข้อเสีย จากการวิเคราะห์ สรุปได้ดังนี้
- ข้อดี HTP เป็น Electronic Nicotine Delivery Device ชนิดที่เป็น solid คือ นำใบยาสูบมาหั่นฝอย โดยจะใช้ความร้อนจากอุปกรณ์มากกว่า 300 องศาเซลเซียส แต่ไม่เกิน 600 องศาเซลเซียสเหมือนการเผาไหม้บุหรี่ทั่วไป แต่ มีข้อเสีย คือ ยังคงมีนิโคติน ผลิตภัณฑ์ HTP จะต้องมีคำเตือนว่า เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีนิโคติน ซึ่งเป็นสารเสพติด และองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ยังไม่อนุญาต ซึ่งผู้ผลิต IQOS ก็ยอมรับว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และไม่ได้ลดความเสี่ยงเมื่อเปลี่ยนมาใช้ HTP
- ข้อดี มีการเผาไหม้เป็นไอ ไม่มีเถ้า ไม่มีควัน (น้ำมันดิน) ไม่มีน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า ใช้ใบยาสูบซึ่งให้นิโคตินธรรมชาติ แต่ข้อเสียคือ HTP นิยมทำเป็น hybrid เลือกชนิดที่เป็น stick หรือ e-juice ได้ ในผลิตภัณฑ์เดียวจึงไม่สามารถแยกแยะว่าเป็น E- cig หรือ HTP
แนวทางที่ 3 ยกเลิกกฎหมายห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า ข้อดีที่กล่าวอ้างคือ ทันสมัย เทียบเคียงได้กับประเทศที่พัฒนาแล้ว จะได้ควบคุมอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนไทย จัดเก็บรายได้จากการเก็บภาษีได้เพิ่ม เป็นการให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนในการเลือกเสพ แต่ข้อเท็จจริง คือ
- ประเทศที่เคยแบนแล้วควบคุมได้ดี เปลี่ยนมาเป็นอนุญาตให้ขายได้ เกิดการระบาดเพิ่ม 2 – 5 เท่า เช่น แคนาดา นิวซีแลนด์
- ในประเทศที่อนุญาตให้ขายได้ถูกกฎหมาย โดยห้ามขายในเยาวชนอายุ 18 – 21 ปี ยังระบาดหนักในเยาวชน เช่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และแคนาดา
- ในงานวิจัยจาก 75 ประเทศ พบว่า ประเทศที่แบนจะมีอัตราการระบาดของเยาวชนต่ำกว่าประเทศที่ไม่แบน
- บุหรี่มวนที่ถูกกฎหมาย ก็ยังควบคุมไม่ได้ มีบุหรี่เถื่อนหนีภาษีถึงร้อยละ 25 (1.3 – 2.5 หมื่นล้านบาทต่อปี)
- ข้อกล่าวอ้างที่ว่าการยกเลิกแบน จะสามารถจัดเก็บภาษีให้แก่รัฐ ซึ่งมีงานวิจัยที่ได้รับทุนจากธุรกิจบุหรี่ ประเมินว่าจะมีรายได้จากบุหรี่ไฟฟ้า 5.7 – 6.4 พันล้านบาทต่อปี และจะเก็บภาษีได้ 567-913 ล้านบาทต่อปี อีกงานวิจัยเสนอให้เก็บภาษีตามอังกฤษจะได้ร้อยละ 5-20 ของมูลค่า ซึ่งทั้ง 2 งานวิจัยนี้มีข้อท้วงติงเรื่องความถูกต้องทางระเบียบวิธีวิจัย ส่วนทางการยาสูบแห่งประเทศไทยประเมินมูลค่าทางตลาดของบุหรี่ไฟฟ้าเกือบ 1.5 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งมีข้อท้วงติงว่าอาจจะจัดเก็บภาษีไม่ได้สูงดังประเมิน เนื่องจากผู้สูบหน้าเก่าไม่ได้ซื้อเพิ่ม เป็นแต่เปลี่ยนจากซื้อบุหรี่มวนมาซื้อบุหรี่ไฟฟ้า โดยหากรัฐต้องการรายได้เพิ่ม ต้องเพิ่มผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าหน้าใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชนอนาคตของชาติ และอาจกระทบกับชาวไร่ยาสูบ เพราะบุหรี่ไฟฟ้าใช้นิโคตินสังเคราะห์ ไม่ใช่จากใบยาสูบ รวมทั้งต้องเผชิญกับบุหรี่ไฟฟ้าหนีภาษีเหมือนเดิม ทั้งนี้ยิ่งขายมากก็ยิ่งต้องเจ็บป่วยจากบุหรี่มากขึ้น ดังงานวิจัยจาก UCSF ที่พบว่าค่าใช้จ่ายจากการรักษาพยาบาลโรคที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่สูงเป็น 1,666 เท่าของภาษีที่จัดเก็บได้
- ข้อกล่าวอ้างว่าเป็นการให้สิทธิเสรีภาพของผู้บริโภค ข้อกล่าวอ้างนี้อาจใช้ได้กับสินค้าทั่วไป ที่ไม่ใช่สินค้าทำลายสุขภาพ 4 อย่างรวมบุหรี่ (Commercial Determinants of Health ) ที่สุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่รัฐต้องปกป้องประชาชน โดยเฉพาะผู้ไม่สูบ (ซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่) ที่ได้รับผลกระทบจากบุหรี่มือสองมือสาม และสิ่งสำคัญยิ่งคือ เด็กที่ต้องได้รับการปกป้อง ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 นอกจากนี้สิทธิเสรีภาพนี้ยังรอนสิทธิ์ค่ารักษาโรคที่เกิดจากบุหรี่จากภาษีของคนไทยทั้งประเทศ และรอนสิทธิ์ทำลายสิ่งแวดล้อมของคนทั้งโลก
ศ.พญ.สุวรรณา สรุปข้อดีข้อเสียของ 3 แนวทาง ของกรรมาธิการฯ ว่า แนวทางที่ 1 การคงกฎหมายห้ามนำเข้าและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จะสามารถลดอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนไทย