ยังไหว! หนุ่ม-สาว ออฟฟิศ ฝืนทำงาน ทั้งที่จิตป่วย

คณะจิตวิทยา จุฬาฯ เผยข้อมูล สุขภาวะองค์กร ปี 2566 ระบุ พนักงานออฟฟิศมีปัญหาสุขภาพจิต แต่ยังห่วงงาน กลัวไม่มีใครทำแทน หยุดแล้วกระทบประเมิน โบนัส เรียกร้องเพิ่มสวัสดิการดูแลสุขภาพกาย-ใจ ขอมีพื้นที่รับฟังปัญหา ขณะที่ สสส. ชวนเฟ้นหาสุดยอดองค์กรส่งเสริมสุขภาวะทางจิต  

วันนี้ (26 ก.ค. 67) นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุน สสส. ระบุภายในการแถลงข่าว เปิดรับสมัครองค์กรเพื่อเข้าร่วมคัดเลือกสุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต (Thai Mind Awards) ภายใต้โครงการพัฒนากลไกวิชาการสนับสนุนการขับเคลื่อนงานด้านสร้างเสริมสุขภาพจิต ว่า สสส. ดำเนินการด้านสร้างเสริมสุขภาพจิตมุ่งเป้าหมายให้ประชาชนมีสุขภาพจิตดี สอดคล้องกับแผนพัฒนาสุขภาพจิตแห่งชาติ ฉบับที่ 1 มุ่งเน้นการสร้างเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตทุกช่วงวัย โดยเฉพาะกลุ่มวัยแรงงาน

จากข้อมูล สายด่วนสุขภาพจิต 1323 เมื่อเดือนมิถุนายน 2567 พบ วัยแรงงาน อายุ 20-59 ปี ขอรับบริการเรื่องความเครียด วิตกกังวล ไม่มีความสุขในการทำงาน สูงอันดับ 1 รวมกว่า 6,337 สาย จากทั้งหมด 8,528 สาย สะท้อนความต้องการวิธีจัดการกับปัญหาสุขภาพจิต สสส. จึงร่วมกับ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดกิจกรรมการคัดเลือกสุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต เพื่อสำรวจสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เป็นเชิงบวก ทั้งด้านการงาน และด้านจิตใจของบุคลากร นำไปสู่การยกระดับเป็นต้นแบบองค์กรชั้นนำด้านการส่งเสริมสุขภาพจิตของประเทศ ขยายผลปรับใช้เพื่อพัฒนาสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตให้แก่พนักงานองค์กรอื่น ๆ ต่อไป

เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช รองคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ร่วมก่อตั้งสถาบัน TIMS ระบุว่า การสำรวจสุขภาวะของคนทำงาน และปัจจัยสำคัญในการสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กร ปี 2566 พบ พนักงานมีปัญหาสุขภาพจิต 42.7% ในจำนวนนี้มีภาวการณ์ฝืนทำงาน แม้มีปัญหาสุขภาพจิต 27.5% ส่วนใหญ่เกิดจาก 5 สาเหตุ ประกอบด้วย

  1. คิดว่าไม่มีใครทำงานแทนได้

  2. มีงานด่วน

  3. กลัวผลกระทบกับผลการประเมิน

  4. ความจำเป็นด้านการเงิน

  5. รู้สึกว่ายังทำไหวไม่จำเป็นต้องหยุดทำงาน

ที่สำคัญพบว่า พนักงานต้องการนโยบายการส่งเสริมสุขภาวะทางจิตที่ดีในการทำงาน 6 เรื่อง คือ

  1. เพิ่มสวัสดิการด้านการรักษาสุขภาพกายและใจ 41.7%

  2. อบรมให้ความรู้และจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพกายและจิตใจ 6.7%

  3. เพิ่มสวัสดิการการลา 13.1%

  4. ส่งเสริมการพูดคุยสื่อสารและรับฟังปัญหา 11.3%

  5. สร้างบรรยากาศและวัฒนธรรมที่ดีในองค์กร 10.1%

  6. เพิ่มสวัสดิการทางการเงิน (ค่าตอบแทน อาหาร โบนัส) 6%

ผศ.ประพิมพา จรัลรัตนกุล รองคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผู้รับผิดชอบโครงการ Thai Mind Awards กล่าวว่า การดูแลพนักงานที่ดี ไม่เพียงเฉพาะแค่สิ่งแวดล้อมทางด้านกายภาพ (Physical environment) เพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องดูแลสิ่งแวดล้อมทางด้านจิตใจ (Psychological environment) ของพนักงานควบคู่ไปด้วย

สิ่งสำคัญของการเสริมสร้างสุขภาวะทางจิตที่ดี ต้องครอบคลุมมิติทั้ง 5 ด้าน ที่เรียกว่า “GRACE” ประกอบไปด้วย

  • G : Growth & Development การสนับสนุนด้านการเติบโตและพัฒนาการ

  • R : Recognition การแสดงออกและการรับรู้ความสามารถและความสำเร็จ

  • A : All for inclusion การให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วม

  • C : Care for health & safety การดูแลด้านสุขภาพและความปลอดภัย

  • E : work-life Enrichment การมีนโยบายด้านความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน เพื่อสร้างความมั่นใจ ความรู้สึกถึงความสำเร็จ พนักงานรู้สึกว่าสามารถเติบโตได้ ถือเป็นแนวทางการพัฒนาที่เสริมสร้างสุขภาวะทางจิตที่ดีให้แก่พนักงานได้

สำหรับ การรับสมัครเข้าร่วมประกวดคัดเลือกเป็นสุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต (Thai Mind Awards) เปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ (26 ก.ค. 67) ถึง 15 ก.ย. 67 จำกัดสิทธิ์การรับสมัครเพียง 50 องค์กร โดยจะคัดเลือกผู้ชนะ 5 องค์กรที่มีความโดดเด่นใน 4 มิติภายใต้แนวคิด GRACE และมีสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมสุขภาวะทางจิตที่ดีให้แก่พนักงาน ทุกองค์กรที่เข้าร่วมประกวดจะได้รับประกาศนียบัตรการเข้าร่วม และได้รับผลการประเมินสุขภาวะทางจิตของพนักงานภายในองค์กรของตนเองที่ผ่านการวิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตวิทยา

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active