เวทีประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพ ประกาศเจตนารมณ์ แบนบุหรี่ไฟฟ้า! พร้อมข้อเสนอเชิงนโยบาย ย้ำต้องมีกฎหมายคุมเฉพาะ ขณะที่ ตัวแทนพรรคการเมือง มองผลกระทบเยาวชนน่าเป็นห่วงสุด ลุ้นบทสรุป กมธ.บุหรี่ไฟฟ้า แบนหรือไม่ ?
วันนี้ (2 ส.ค. 67) ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตรรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีการประชุมวิชาการ “บุหรี่ไฟฟ้ากับสุขภาพแห่งชาติ” ครั้งที่ 22 เรื่อง สานพลังปกป้องเด็กไทยจากบุหรี่ไฟฟ้า: รอดด้วยรัฐสภา พร้อมแถลงข่าวแสดงจุดยืนร่วมเดินหน้าแก้ไขปัญหาบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า
สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ ให้ความสำคัญกับเรื่องยาเสพติดในสถานศึกษาอย่างมาก จะเห็นได้จากประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการหลายครั้ง เกี่ยวกับการเฝ้าระวังป้องกันและหาแนวทาง ในการควบคุมยาเสพติด โดยกระทรวงศึกษาธิการยังได้ร่วมลงนาม MOU กับ กระทรวงมหาดไทย กำจัดยาเสพติดออกจากสถานศึกษา ซึ่งการทำงานร่วมกันจะมีหลายรูปแบบ เช่น มีแนวทางในการตรวจหาสารเสพติดในสถานศึกษาด้วยการตรวจปัสสาวะ ขณะที่เรื่องบุหรี่ไฟฟ้าได้มีการหารือมาตลอด และมีแนวทางออกมาเป็นระยะ ๆ และมีคำสั่งจากรัฐมนตรีหลายครั้งในเรื่องการตรวจจับ ได้เน้นย้ำไปที่เขตพื้นที่การศึกษาว่า ต้องพยายามเสริมความรู้และทักษะให้กับครูรู้เท่าทันบุหรี่ไฟฟ้าที่มีหลากหลายรูปแบบ รู้เท่าทันกลไกทางตลาด เพราะสถิติที่ได้รับจากกระทรวงสาธารณสุข คือ ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีอายุน้อยลง พบอายุของผู้ที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าต่ำที่สุดคือ ป.3 และ ผู้หญิงสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากกว่าผู้ชาย
ดังนั้นการเฝ้าระวังติดตามเปลี่ยนไป รวมไปถึงการขอความร่วมมือกับผู้ปกครองที่จะคอยสอดส่องดูแลลูกหลาน เพราะในสถานศึกษามีข้อจำกัดทางกฎหมาย แต่ผู้ปกครองที่อยู่ใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุด รวมไปถึงชุมชนที่ต้องมีส่วนร่วมในการดูแล
“ข้อจำกัดของกระทรวงศึกษาธิการมีอยู่พอสมควร เช่น จะขอเปิดกระเป๋านักเรียนถ้าเด็กยินยอมสามารถทำได้ แต่ถ้าเด็กไม่ยินยอมให้เปิด แล้วเราไปเปิดเองก็จะไปผิดกฎหมายคุ้มครองเด็ก การตรวจจับการยึดบุหรี่ไฟฟ้าก็ยังไม่สามารถทำได้ ดังนั้นอาจจะต้องมีกฎหมายที่จะมาคุ้มครองบุคลากรทางการศึกษาในการที่จะปฏิบัติหน้าที่เพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง ขณะที่การร่วมมือกับ สช. มีการทำธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา ซึ่งอยู่ระหว่างการนำร่องดำเนินการถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี หากมีตัวอย่างที่ทำได้เป็นรูปธรรมก็จะสามารถนำไปต่อยอดได้”
สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ
นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) บอกว่า ก่อนหน้านี้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ มีมติออกมาในเรื่องนี้ ว่า มาตรการต่าง ๆ ต้องทำอย่างไรบ้าง และหน่วยงานแต่ละหน่วยต้องทำอย่างไรมีประเด็นสำคัญอยู่ 6 ประเด็น คือ
- การให้คงนโยบายห้ามนำเข้า หรือการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า
- การบังคับใช้กฎหมายให้มากขึ้น
- การให้ความรู้ความเข้าใจกับสังคม
- การเฝ้าระวังตามสื่อต่าง ๆ ที่อาจจะทำให้เกิดการชักจูงไปในทางที่ผิด
- อยากให้มีผู้นำ ผู้บริหาร ผู้ที่เป็นผู้นำทางความคิด เป็นแบบอย่างที่ดี ในการไม่ยุ่งเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า
- การสร้างการมีส่วนร่วม
“โดยมติดังกล่าวได้เตรียมเสนอต่อคณะรัฐมนตรีบรรจุเป็นวาระ เพื่อขายไปสู่หน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ และต้องเริ่มทำทันที เอาจริงเอาจังตั้งแต่วันนี้ เพราะหากปล่อยไว้นานปัญหาก็จะยิ่งมากขึ้น”
นพ.สุเทพ เพชรมาก
ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ย้ำว่า หากปล่อยให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายก็จะทำงานเหนื่อยกันมากขึ้น เพราะคงสู้กับบริษัทบุหรี่ไม่ได้เพราะเขามีเงิน ดังนั้นจึงอยากจะเชิญชวนทุกท่านที่พบเห็นว่าใครทำผิดมีบุหรี่ไฟฟ้าในครอบครอง หรือขายบุหรี่ไฟฟ้าสามารถไปแจ้งที่ สคบ.
“หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะยืนอยู่ฝ่ายเราหากมีอะไรที่ต้องการให้ทางสมาพันธ์สนับสนุนก็ยินดีทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ”
ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์
ขณะที่ นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการ สสส. ระบุว่า จากข้อมูลการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในปัจจุบันจะเห็นว่ามีผู้ใช้ 700,000 คน โดยในกลุ่มนี้มีเด็กและเยาวชนที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษเพราะมีอัตราการเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า และการสูบบุหรี่ไฟฟ้าจะนำมาสู่การสูบบุหรี่มวนถึง 7 เท่า และการที่เราเข้ามาใส่ใจในการปกป้องเด็กและเยาวชน คือ การทำให้อนาคตของชาติมีสุขภาพที่ดี แต่ต้องป้องกันไม่ให้ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อสุขภาพเข้าถึงเยาวชน ทำให้จำเป็นต้องหาร่วมกันดำเนินหลายมาตรการไม่ว่าจะเป็นทางด้านกฎหมาย แต่ยังขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมายให้มากขึ้น
เสียงจากพรรคการเมือง เอายังไงกับ ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ ?
ขณะที่ก่อนหน้านี้ เวทีเสวนาโดยผู้แทนจากพรรคการเมือง ได้พูดคุยถึงแนวทางที่จะขับเคลื่อนการปกป้องเด็กและเยาวชนไทยจากบุหรี่ไฟฟ้าผ่านกลไกของรัฐสภาได้อย่างไร
นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล ตัวแทนพรรคชาติพัฒนา ระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นคลื่นลูกใหม่ของบุหรี่ที่คุกคามทำลายสุขภาพชีวิตและอนามัยของมนุษยชาติ นับเป็นคลื่นลูกที่ 2 หลังจากที่มีบุหรี่มวนมาช้านานกว่า 500 ปี อย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่าบุหรี่มีอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะต่อระบบทางเดินหายใจ ที่ผลสุดท้ายก่อให้เกิดโรคมะเร็ง บุหรี่ไฟฟ้านี้ก็เช่นเดียวกัน แม้ว่าจะพึ่งมีมาไม่นานแต่แพร่ระบาดไปถึงคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัว ผลกระทบระยะยาวเราอาจจะต้องรอดูกันต่อไป แต่ผลระยะสั้นเราเห็นกันอยู่ในสังคมทุกวันนี้
“ผมอยากจะเรียกมัน ว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็น Weapon of mass destruction เป็นอาวุธที่มีอนุภาพทำลายล้างที่รุนแรงมากที่สุดอัน 1 ต่อมนุษยชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแพร่ระบาดเข้าไปในกลุ่มเด็กและเยาวชน ทั่วทุกมุมโลก ทำให้เกิดความเสี่ยงในทุกโรค จากสถิติบอกว่าตั้งแต่บริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตไฟฟ้าขึ้นมามีอัตราการเติบโตกว่า 180% เห็นชัดเจนว่ามันระบาดรวดเร็วมาก และจากสถิติของประเทศไทยเราปี 58 มาถึงปี 65 การติดบุหรี่ในเด็กสูงถึง 15 เท่า เป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่ง ถ้าเราไม่ทำอะไรกันเลยนั้น อนาคตของประเทศชาติจะอยู่ที่ไหน ถ้าเด็กของเราเติบโตมาอย่างไร้คุณภาพ สมองพิกลพิการจากพิษภัยของบุหรี่ ที่กระทบต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโตของระบบสมองและประสาท สติปัญญา สมาธิ ก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ทางด้านจิต และทางกาย จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกันอย่างจริงจังในการป้องกันปราบปรามไม่ให้แพร่ระบาดไปอย่างกว้างขวาง”
นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล
นพ.วรรณรัตน์ บอกอีกว่า เวลานี้มาตรการทางสังคมได้เริ่มดำเนินการไปมากพอสมควรแล้ว ทั้ง ศจย. สสส. กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งชุมชนภาคีเครือข่าย แต่มองว่ายังไม่กว้างขวางพอ จำเป็นต้องมีการสร้างองค์ความรู้เรื่องพิษภัยอย่างแท้จริง ขณะที่การบริหารภาครัฐ ต้องใช้เครื่องมือมาตรการต่าง ๆ ที่มีอยู่ ในการดำเนินการไม่ให้เกิดการนำเข้า ผลิต จำหน่าย หรือการสูบ การให้บริการต่าง ๆ ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ มาตรการทางกฎหมาย ในฐานะที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า มองว่า เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วที่รัฐบาลก่อนหน้านี้ตัดสินใจแบนบุหรี่ไฟฟ้า และแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายบางฉบับ ให้ครอบคลุมใช้ได้กับบุหรี่ไฟฟ้า
อย่างไรก็ตาม มาตรการบังคับใช้ทางกฎหมายยังไม่สัมฤทธิ์ผลเท่าที่ควร เหตุผลคือ ไม่มีกฎหมายที่ควบคุมปราบปรามบุหรี่ไปไฟฟ้าโดยเฉพาะต้องยืมกฎหมายอื่นมาใช้ เห็นว่าควรมีการบัญญัติกฎหมายเฉพาะขึ้นมา เพื่อให้ผู้บังคับใช้กฎหมายสามารถบังคับใช้กฎหมายได้ เพื่อให้การป้องกันปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้ามีประสิทธิภาพมากที่สุด
“แต่การที่จะบัญญัติกฎหมายอาจจะต้องใช้เวลานาน 2-3 ปี ดังนั้น จึงเห็นด้วยที่ขณะนี้ที่รัฐบาลรัฐบาลยังแบนบุหรี่ไฟฟ้า แต่ขอเสนอว่าควรจะแก้ไขเพิ่มเติมในตัวกฎหมายที่แก้ไขไปก่อนหน้านี้ คือ ประเด็นเรื่องการผลิตในประเทศ และการครอบครองให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้บังคับใช้กฎหมายได้อย่างเคร่งครัดและแนะนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษ”
นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล
พญ.กัลยพัชร รจิตโรจน์ สส.พรรคก้าวไกล และ กมธ.บุหรี่ไฟฟ้าฯ บอกว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมานาน เพราะว่าคนสูบกันอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะเยาวชน ซึ่งเป็นกลุ่มที่เราความกังวลมากที่สุด จากการได้พูดคุยกับเพื่อน ที่นั่งอยู่ใน กมธ. ความมั่นคง ได้ไปดูพื้นที่ชายแดนใต้ พบว่าสินค้าที่เข้ามาแทบจะ 80-90% เป็นบุหรี่ไฟฟ้า และยังมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และด้วยตัวกฎหมายที่ยังไม่มีความชัดเจน เจ้าหน้าที่ก็เกิดคำถามว่าจะต้องทำอย่างไร อาจจะมีการรับเข้ามาก่อน หรือหากเลวร้ายก็จะเป็นการรับส่วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีการรับจริง และอีกช่องทางคือ ขายผ่านออนไลน์ และสมัยนี้มีออกมาเป็นตุ๊กตา แต่งกลิ่น ล่อตาล่อใจให้เยาวชนสูงมากขึ้น
“ส่วนเรื่องความอันตรายด้วยความที่เราเป็นแพทย์ แต่เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ว่ามันอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน เราก็ไม่ควรจะอนุญาตร่วมกัน อย่างที่ประธาน กมธ. กล่าวว่า เรากำลังอยู่ในช่วงแสดงความเห็น ว่าจะแบนหรือไม่แบน แต่ในส่วนของพรรคก้าวไกล เราคิดไว้ 3 แนวทาง คือ 1. แบนทั้งหมด 2. ทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย และควบคุม Heat Not Burn ชนิดที่เป็นไอคอสใช้ความร้อนแทนการสันดาป เพราะราคาสูงและเข้าถึงยาก 3. ที่อาจจะเป็นไปไม่ได้ คือ ทำให้ถูกกฎหมายทั้งหมด แล้วก็กำหนดอายุ และแบน ประเภทเติมสีเติมกลิ่น รวมถึงชนิดใช้แล้วทิ้ง ที่เข้าถึงง่ายและแต่งกลิ่น หากเป็นประเภทนี้คิดว่าควรแบน 100%”
พญ.กัลยพัชร รจิตโรจน์
ขณะที่ ภัทรพล แก้วสกุณี พรรครวมไทยสร้างชาติ ย้ำว่า พรรคไม่เห็นด้วยกับการให้มีบุหรี่ไฟฟ้ามาตั้งแต่ต้น ถึงแม้กระทั่งบุหรี่ที่เป็นแบบมวน อยากให้รัฐบาลสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยการนำของนายกรัฐมนตรี เพราะยังเห็นมีการวางขายเกลื่อนตลาด เปิดท้ายขายของ มีรูปแบบ รูปลักษณ์ต่าง ๆ ซึ่งเด็กเด็กอาจไม่รู้ถึงโทษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าว่าอันตรายขนาดไหน เพราะว่ามีกลิ่นหอม โดยอยากให้เริ่มจากสถาบันครอบครัว ช่วยกันปลูกฝังลูกหลาน คอยตรวจสอบกระเป๋านักเรียน ว่ามีอะไรผิดแปลกไปจากอุปกรณ์การเรียนการสอนหรือไม่ เพราะลักษณะของบุหรี่ไฟฟ้าคล้ายอุปกรณ์การเรียน รวมถึงสถานศึกษา ครู อาจารย์ ควรช่วยกันตรวจสอบ และร่วมช่วยกันแก้ปัญหา
“ส่วนตำรวจ เชื่อว่า งานเยอะอยู่แล้ว แต่ต้องหมั่นตรวจสอบด้วย แถวคอนโดฯ ผมก็มีขาย ส่งข้อมูลไปแล้วก็ยังไม่มีการดำเนินการจับกุม ทางที่ดีขอให้นายกรัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการเฉพาะเข้ามาปราบปรามเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าโดยเฉพาะ เพิ่มโทษจำคุก เพิ่มโทษปรับอย่างชัดเจน”
ภัทรพล แก้วสกุณี
ด้าน นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ได้สะท้อนความกังวลจากหลายฝ่ายว่า คณะกรรมาธิการจะพิจารณาโดยใช้การออกความเห็นในการกำหนดแนวทาง มีสิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ คณะกรรมาธิการอาจจะไม่ได้รับรู้ข้อมูลความจริงทั้งหมด เนื่องจากส่วนตัวเคยได้รับการประสานให้เข้าไปนำเสนอข้อมูลในฐานะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แต่กลับพบว่า กรรมาธิการฝั่งที่เห็นด้วยกับบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้เข้าร่วมการประชุมครั้งนั้น ทำให้ต้องปฏิเสธที่จะพูด และครั้งต่อมาได้เข้าไปอีกครั้ง พบว่า คณะกรรมาธิการจาก 35 คนเหลือ 25 คน จึงกังวลว่ากรรมาธิการที่ได้ไม่รับฟังข้อมูลต้องมาเป็นผู้สรุปรายงาน รายงานนั้นจะออกมาเป็นอย่างไร
นอกจากนี้ยังแสดงความเห็น กรณีกรรมาธิการ 2 คน ที่ไม่เหมาะสมต่อการเป็นคณะกรรมาธิการ เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจ โดยได้ร้องเรียนไปยังประธานรัฐสภา ซึ่งก็ยอมรับแต่ไม่ได้มีการกฎระเบียบของสภาฯ ที่จะไม่ให้คนที่มีธุรกิจเข้ามามีส่วนในการพิจารณากฎหมาย ตามอนุสัญญาควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกห้ามไว้