เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ หวั่น FTA ไทย-เอฟต้า กระทบเข้าถึงยา-บัตรทอง

หวั่นไทยถูกกดดันให้ยอมรับเงื่อนไขด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวด ชี้อาจทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาสูงขึ้น 72,000 ล้านบาท เรียกร้องรัฐบาล ย้ำจุดยืนไม่ยอมรับข้อผูกมัด เกินกว่าความตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลก

จากกรณี การประชุมระดับรัฐมนตรีระหว่างกลุ่มประเทศสมาคมการค้าเสรียุโรป หรือ เอฟต้า (EFTA) และ ประเทศไทย เพื่อหารือเกี่ยวกับ การเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ในประเทศไทย 

วันนี้ (17 ต.ค. 67) เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ผู้จัดการโครงการส่งเสริมการเข้าถึงยา เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กังวลว่า ประเทศไทยจะถูกกดดันให้ยอมรับเงื่อนไขด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่จะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยา เพื่อให้การเจรจาสามารถปิดจบได้ตามที่ รัฐบาลแพรทองธาร ตั้งเอาไว้ภายในปีนี้ โดย การเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยและกลุ่มประเทศสมาคมการค้าเสรียุโรป หรือ เอฟต้า (EFTA) ที่ประกอบไปด้วยไอซ์แลนด์, ลิกเตนสไตน์, นอร์เวย์ และ สวิตเซอร์แลนด์ ดำเนินการเจรจามาแล้ว 10 รอบ

เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ผู้จัดการโครงการส่งเสริมการเข้าถึงยา เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย

ประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและการเข้าถึงยาเป็นประเด็นที่มีการเจรจาต่อรองกันอย่างเข้มข้น และยังหาข้อสรุปร่วมกันไม่ได้ โดยที่ผู้แทนเจรจาฝ่ายไทยมีจุดยืนไม่ยอมรับข้อผูกมัดที่เข้มงวดเกินไปกว่าความตกลงว่าด้วยการค้าที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา หรือ TRIPs Agreement (ความตกลงทริปส์) ขององค์การการค้าโลก และส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยา ในขณะที่กลุ่มประเทศเอฟต้าเรียกร้องให้มีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้เข้มงวดเกินกว่าความตกลงทริปส์

แม้ว่าคณะผู้แทนเจรจาไทยมีท่าทีที่ชัดเจนในเรื่องการคุ้มครองการเข้าถึงยาของประชาชนมาตลอด แต่การเดินทางมาประชุมของคณะผู้แทนเจรจาระดับรัฐมนตรีของฝ่ายเอฟต้า เพื่อมาหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทยอย่างไม่เปิดเผย เกรงว่าอาจจะมีการขอให้รัฐมนตรีสั่งการหรือกดดันผู้เจรจาฝ่ายไทยให้ยอมรับประเด็นที่มีผลกระทบรุนแรงต่อฝ่ายไทย 

“เพราะกลุ่มประเทศเอฟต้าอาจใช้วิธีการเดียวกับที่เอฟต้าเจรจาเอฟทีเอกับอินเดีย โดยการเจรจาจบลงโดยมีเงื่อนไขเปิดช่องให้นำเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่ส่งผลกระทบการเข้าถึงยากลับขึ้นมาทบทวนได้อีก“

เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล

ทั้งนี้งานวิจัยประเมินผลกระทบของความตกลงเอฟทีเอที่มีข้อผูกมัดด้านทรัพย์สินทางปัญญาแบบที่เอฟต้าเรียกร้อง ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยจะมีค่าใช้จ่ายด้านยาสูงขึ้น 25,000 ล้านถึง 72,000 ล้านบาทเป็นอย่างน้อย ถ้าประเทศไทยลงนามในความตกลงเอฟทีเอ ที่มีข้อผูกมัดในเรื่องการผูกขาดข้อมูลทางยา (Data Exclusivity) และการขยายอายุสิทธิบัตร (Patent Term Extension)

ผู้จัดการโครงการส่งเสริมการเข้าถึงยา เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ บอกด้วยว่า กลุ่มประเทศเอฟต้าควรหยุดเรียกร้องให้ไทยยอมรับข้อผูกมัดด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ รวมถึงเงื่อนไขและข้อจำกัดในการนำมามาตรการใช้สิทธิโดยรัฐ หรือมาตรการซีแอล มาใช้ด้วย หรือแม้แต่จะให้มีเงื่อนไขเปิดช่องให้มีการเจรจาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาใหม่อีก หลังจากการเจรจาสรุปและลงนามแล้ว

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่ม FTA Watch

ขณะที่ กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ FTA Watch ขอให้ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หากยามีราคาแพงขึ้นมหาศาล รัฐบาลไม่สามารถใช้กลไกตามกฎหมายในการเจรจาต่อรองหรือจัดหายาในราคาที่ถูกลงได้ 

“ผลงานที่พรรคเพื่อไทยปลุกปั้นมาตั้งแต่ครั้งเป็นพรรคไทยรักไทย ที่นายกฯ และพรรคเพื่อไทย ให้ความสำคัญอย่างมาก จะกลายเป็นระบบที่ไม่สามารถดูแลประชาชนได้อย่างแท้จริง และยังทำลาย Policy Space ของรัฐบาลในการออกนโยบายสาธารณะเพื่อคุ้มครองประชาชน ดังนั้น รัฐบาลต้องสนับสนุนให้ผู้เจรจาฝ่าไทยยืนยันในหลักการไม่เอาทริปส์พลัส

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

รองประธานกลุ่ม FTA Watch ระบุ ย้ำว่า เอฟทีเอฉบับนี้มีความสำคัญกับทางเอฟต้าอย่างมาก อย่าให้ทางเอฟต้ามาขู่หรือกดดันเรื่องเวลาที่รัฐบาลอยากให้เจรจาจบสิ้นปีนี้ เพราะทางฝ่ายเอฟต้าก็ต้องการให้จบสิ้นปีนี้เช่นเดียวกัน รัฐบาลแพทองธารต้องรู้เขารู้เรา


TRIPs คืออะไร ?

TRIPs Agreement หรือ Agreement on Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights คือ ความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 1995 สาระสำคัญของ TRIPs Agreement มีดังนี้:

  1. กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศสมาชิก WTO

  2. ครอบคลุมประเภทของทรัพย์สินทางปัญญาที่สำคัญ เช่น ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า ความลับทางการค้า และสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

  3. กำหนดระยะเวลาการคุ้มครองขั้นต่ำสำหรับทรัพย์สินทางปัญญาแต่ละประเภท

  4. ระบุมาตรการบังคับใช้สิทธิและกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศสมาชิก

  5. ให้ความยืดหยุ่นแก่ประเทศกำลังพัฒนาในการปรับใช้ข้อตกลง รวมถึงการใช้มาตรการยืดหยุ่นเพื่อคุ้มครองสาธารณสุข เช่น การบังคับใช้สิทธิ (Compulsory Licensing)

TRIPs Agreement มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการส่งเสริมนวัตกรรมผ่านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และการส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีและยาที่จำเป็น โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา อย่างไรก็ตาม ในการเจรจาการค้าเสรีทวิภาคีหรือภูมิภาค บางประเทศพยายามผลักดันมาตรฐานที่สูงกว่า TRIPs ซึ่งเรียกว่า “TRIPs-Plus” ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยา และเทคโนโลยีในประเทศกำลังพัฒนา​​​​​​​​​​​​​​​​

FTA คืออะไร ?

FTA หรือ Free Trade Agreement คือ ความตกลงการค้าเสรี ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างสองประเทศหรือกลุ่มประเทศที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกัน เช่น การลดหรือยกเลิกภาษีศุลกากร การปรับปรุงกฎระเบียบ มาตรฐานสินค้า และขั้นตอนศุลกากรให้สอดคล้องกัน อนุญาตให้ธุรกิจบริการสามารถเข้าไปลงทุนหรือให้บริการในประเทศคู่สัญญาได้มากขึ้น มีข้อตกลงเพื่อคุ้มครองและอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนจากประเทศคู่สัญญา กำหนดมาตรฐานการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศคู่สัญญา และจัดตั้งกระบวนการสำหรับแก้ไขปัญหาหรือข้อขัดแย้งทางการค้าที่อาจเกิดขึ้น

EFTA (เอฟต้า) คืออะไร ?

EFTA หรือ European Free Trade Association คือสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างรัฐบาลที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการค้าเสรีและการบูรณาการทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิก ไอซ์แลนด์, ลิกเตนสไตน์, นอร์เวย์, สวิตเซอร์แลนด์ ก่อตั้งในปี 1960 โดยประเทศที่ไม่ได้เข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (EEC) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสหภาพยุโรป (EU) เดิมมีสมาชิกมากกว่าปัจจุบัน แต่หลายประเทศได้ออกจาก EFTA เพื่อเข้าร่วม EU

EFTA มีนโยบายการค้าเสรีที่ก้าวหน้า และมักเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในการเจรจา FTA กับประเทศที่สาม EFTA มักผลักดันมาตรฐานการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่สูง (TRIPS-Plus) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาและเทคโนโลยีในประเทศคู่เจรจา

แม้จะมีขนาดเล็ก แต่ EFTA มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เนื่องจากประเทศสมาชิกมีเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วและมีกำลังซื้อสูง EFTA เป็นคู่ค้าที่สำคัญสำหรับหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย การเจรจา FTA กับ EFTA จึงเป็นโอกาสทางการค้าสำหรับประเทศคู่เจรจา แต่ก็ต้องพิจารณาผลกระทบในด้านต่างๆ อย่างรอบคอบ

Policy Space คืออะไร ?

Policy Space หรือ พื้นที่ทางนโยบาย หมายถึง ขอบเขตหรือความสามารถของรัฐบาลในการกำหนดและดำเนินนโยบายภายในประเทศ โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจและสังคม โดยไม่ถูกจำกัดจากข้อผูกพันระหว่างประเทศมากเกินไป ช่วยให้รัฐบาลสามารถตอบสนองต่อความต้องการและปัญหาเฉพาะของประเทศได้ เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่สอดคล้องกับบริบทของแต่ละประเทศ และช่วยรักษาอำนาจอธิปไตยในการกำหนดนโยบายภายในประเทศ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active