ผู้ป่วยมะเร็งเริ่มกังวล หลังได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลว่าต้องมีใบส่งตัว ด้าน สปสช.ชี้แจงเพียงปรับเงื่อนไขการจ่ายเพื่อลดความซ้ำซ้อน ย้ำไม่กระทบสิทธิผู้ป่วย พร้อมเชิญหน่วยบริการหารือหาทางออกร่วมกัน
The Active ได้รับข้อมูลจากผู้ป่วยมะเร็ง ที่ใช้สิทธิมะเร็งรักษาทุกที่ Cancer Anywhere ว่าได้รับการแจ้งจากโรงพยาบาลที่รักษาอยู่ว่า “ผู้ใช้บริการต้องมีหนังสือรับผิดชอบค่าใช้จ่ายมาจากต้นสังกัด เนื่องจากโครงการมะเร็งรักษาทุกที่ สปสช. รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเฉพาะรังสีรักษาและยาเคมีบำบัดเท่านั้น”
ขณะที่อีกรายซึ่งรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช ก็ได้รับแจ้งว่า “เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย สปสช.ทำให้โครงการมะเร็งUC-CA 43-44 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 กรณีมารับบริการที่โรงพยาบาลศิริราช ผู้ป่วยต้องมีเอกสารส่งตัวจากโรงพยาบาลตามสิทธิของท่าน”
ญาติของผู้ป่วยอีกรายหนึ่งก็เปิดเผยกับ The Active ว่า แม่ป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งขณะนี้รักษาจบแล้วมะเร็งไม่ลุกลาม แต่คุณหมอนัดมาติดตามว่าจะมีเซลล์ผิดปกติหรือเนื้องอกเกิดขึ้นซ้ำอีกหรือไม่ ซึ่งล่าสุดก็ได้รับการแจ้งจากโรงพยาบาลเช่นกันว่าจะตรวจติดตามให้ครั้งนี้เป็นสุดทาย และหลังจากนั้นให้กลับไปใช้บริการที่โรงพยาบาลตามสิทธิ์
เธอบอกว่ากังวล เนื่องจากแม่รักษากับที่โรงพยาบาลศิริราชมาตั้งแต่เริ่มต้นจนหาย และอยู่ในระยะการติดตาม และเข้าใจไปว่าโครงการมะเร็งรักษาทุกที่ซึ่งเป็นโครงการที่ดีอยู่แล้วจะยุตติลงในปี 2568 ใช่หรือไม่ ซึ่งผู้ป่วยที่รักษาอยู่โรงพยาบาลเดิมอาจต้องลำบากใจ เพราะประวัติการป่วยและผลตรวจต่างๆ ถูกบันทึกไว้ที่โรงพยาบาลนั้นอยู่แล้ว
ด้าน ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ ศูนย์จีโนมิกส์ศิริราช ได้แชร์โพสต์จาก สปสช. ที่ออกมาระบุว่ายังไม่ได้ยกเลิกโครงการมะเร็งรักษาทุกที่ โดยระบุความเห็นว่า เวลาชี้แจงกับประชาชนโปรดบอกให้ชัดเจนตรงกับที่บอกโรงพยาบาลด้วยพูดลอยๆแบบนี้พอปีหน้าอาจมีคนไข้ทะเลาะกับบุคลากรหน้างาน
- Cancer Anywhere ปัจจุบัน = มะเร็งรักษาทุกที่ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว รวมการวินิจฉัยแล็บ CT/MRI ผ่าตัด เคมี ฉายแสง แพทย์นัดตรวจติดตาม และรักษาภาวะแทรกซ้อน
- Cancer Anywhere ปี 2568 = คนไข้มะเร็งที่ต้องรักษาเคมีฉายแสงเท่านั้นที่ไม่ต้องใช้ใบส่งตัวที่เหลือถ้าไม่มีโรงพยาบาลอาจเบิกคืนไม่ได้
ล่าสุด วันนี้ (26 พ.ย. 2567) ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะโฆษก สปสช. ชี้แจงว่า สปสช.เตรียมหารือหน่วยบริการหาทางออกและทบทวนเงื่อนไขการจ่ายมะเร็งรักษาทุกที่ (Cancer Anywhere) ยืนยันไม่ยกเลิก Cancer Anywhere แต่สาเหตุที่ต้องปรับเงื่อนไขการจ่ายเนื่องจากมีการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายเรื่อง investigation (สอบสวนโรค) ค่ารักษาโรคอื่นที่ไม่สัมพันธ์กับการรักษามะเร็งเกินครึ่ง
ทพ.อรรถพร บอกว่า เพื่อให้การจัดการงบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความซ้ำซ้อนของการเบิกจ่ายงบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงได้เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการจ่ายใหม่ โดยแยกรายการเบิกจ่ายการรักษาโรคแทรก โรคร่วม หรือโรคอื่นๆ ที่ไม่สัมพันธ์กับโรคมะเร็ง ออกจากการจ่ายมะเร็งรักษาทุกที่ ซึ่งโรคเหล่านี้เป็นค่าบริการที่อยู่ในงบเหมาจ่ายรายหัวที่ได้จัดสรรให้กับหน่วยบริการไว้อยู่แล้ว และจ่ายเฉพาะบริการที่เกี่ยวกับมะเร็ง ได้แก่ เคมีบำบัด ฮอร์โมน หรือรังสีรักษา
ด้วยเหตุนี้ สปสช.จะเชิญหน่วยบริการในระบบ Cancer Anywhere มาประชุมและหารือทางออกร่วมกันกับ สปสช.อีกครั้ง เพื่อทบทวนเงื่อนไขการเบิกจ่าย โดยจะนำเสนอข้อมูลการเบิกจ่ายที่ผ่านมา และหาทางออกร่วมกันกับหน่วยบริการต่อไปเพื่อไม่ให้กระทบการให้บริการของหน่วยบริการและเพิ่มความไม่สะดวกให้กับผู้ป่วย
สปสช. ยืนยันว่าไม่ได้มีการยกเลิกมะเร็งรักษาทุกที่ หรือ Cancer Anywhere แต่อย่างใด ผู้ป่วยมะเร็งที่มีนัดรักษาและผู้ป่วยมะเร็งที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลที่มีศักยภาพด้านมะเร็ง ยังคงสามารถเข้ารับบริการได้เช่นเดิมโดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว
ส่วนกรณีเงื่อนไขการจ่ายรูปแบบใหม่ที่จะเริ่มในวันที่ 1 มกราคม 2568 นั้น สปสช.จะหารือร่วมกับหน่วยบริการในเร็วๆ นี้ เพื่อทบทวนเงื่อนไขการจ่ายเพื่อไม่ให้กระทบผู้ป่วยและการให้บริการของหน่วยบริการ