ตัวแทนองค์การอนามัยโลก และผู้แทนจาก 10 ประเทศ ร่วมแสดงจุดยืน เดินหน้า การมีส่วนร่วมของสังคมเพื่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ความเป็นอยู่ที่ดี ยืนยัน พร้อมทำงานร่วมกันในระดับโลก ขณะที่ สธ. ย้ำ ประชาชน กลุ่มเปราะบาง-ชายขอบ ต้องมีส่วนร่วมพัฒนานโยบาย
สืบเนื่องจากที่ประชุม สมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 77 (77th World Health Assembly, WHA) ประกาศรับรองมติ “การมีส่วนร่วมของสังคมเพื่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตลอดจนสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Social Participation for UHC, Health and Well-being)” ที่เสนอโดยประเทศไทย ณ สํานักงานองค์การสหประชาชาติ (Palais des Nations) นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส อย่างเป็นทางการ โดยได้รับเสียงสนับสนุนจากกว่า 30 ประเทศสมาชิก เช่น บราซิล, สโลวาเนีย และฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมานั้น
วันนี้ (27 พ.ย. 67) เครือข่ายการมีส่วนร่วมของสังคม (Social Participation) นานาชาติ ได้มาร่วมประกาศเจตนารมณ์เพื่อขับเคลื่อน มติสมัชชาอนามัยโลก เรื่อง การมีส่วนร่วมของสังคมเพื่อสุขภาวะ ภายในงานประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ประจำปี 2567 ในหัวข้อ “เศรษฐกิจยุคใหม่ สร้างสุขภาวะไทยยั่งยืน” ณ อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี
โดยตัวแทนจาก 10 แกนนำ มาร่วมแสดงเจตนารมณ์ที่ทำให้เห็นความตั้งใจ และแนวทางในการขับเคลื่อนภารกิจนี้ร่วมกัน ได้แก่ ตัวแทนจากประเทศสโลวาเนีย ฝรั่งเศส บราซิล สภาเยาวชนองค์การอนามัยโลก (WHO Youth Council) คณะกรรมการภาคประชาสังคมขององค์การอนามัยโลก (WHO CS Commission) ภาคประชาสังคม (Civil Society Engagement Mechanism, CSEM) ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงผู้แทนจากคณะกรรมการกลุ่มสุขภาพแห่งชาติภาคเอกชน เขต 8 ประเทศไทย
หนึ่งในตัวแทนนานาชาติอย่าง เวสนา เคอร์สติน เปทริก (Vesna Kerstin Petric) อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ประเทศสโลวาเนีย กล่าวว่า แม้เป็นประเทศเล็ก ๆ แต่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมทางสังคมเป็นอย่างมาก ตอนนี้มีการทำงานกับกลุ่มเยาวชนเป็นหลักซึ่งส่งผลดีต่อประชาชนในด้านสุขภาพ จึงคิดว่ามีความจำเป็นต้องติดตามเรื่องนี้ต่อไป
“ฉันมาจากประเทศที่มีประชากรแค่ 2 ล้านคนเท่านั้น แต่รัฐบาลเลือกลงทุนเยอะมากกับการทำงานด้านนี้ เราลงทุนกับการทำงานกับเยาวชน เพราะไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของพวกเขาจะส่งผลต่อเพื่อนรุ่นเดียวกัน เช่น ควบคุมการใช้ยาสูบในเยาวชนซึ่งเป็นการทำงานในเชิงป้องกัน และพัฒนาให้เข้าถึงบริการสุขภาพได้ง่าย รวมถึงมีการคัดกรองมะเร็ง และกลุ่มโรคไม่ติดต่อด้วย”
เวสนา เคอร์สติน เปทริก
เวสนา ยังเสริมอีกว่า ในอนาคตจะส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสังคมในระดับสถาบันให้มากขึ้น โดยหวังว่าจะได้เรียนรู้จากประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ด้วย
ตัวแทนจาก สภาเยาวชนองค์การอนามัยโลก (WHO Youth Council) อย่าง คริสตินา วิลเลียมส์ (Christina Williams) จากประเทศจาไมกา ชี้ว่า เยาวชนคือกลุ่มที่เปราะบางและได้รับผลกระทบทางสุขภาพอันเลวร้ายมากมาย แต่กลับไม่เคยได้มีสิทธิเสียงในการออกแบบโยบายเลย นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมสภาเยาวชนฯ จึงมุ่งมั่นจะทำงานกับเยาวชนในภูมิภาคเอเชียและทั่วโลก
“หากมองที่การเกิดของโรคระบาดใหญ่หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกแล้ว เยาวชนเป็นกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด แต่เรากลับไม่เคยได้เข้าร่วมอยู่ในการพูดคุยเกี่ยวกับนโยบายเหล่านี้เลย การทำงานกับเยาวชนจะดีขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากเยาวชนอยู่ในนั้น การมีส่วนร่วมทางสังคมจึงต้องนับรวมพวกเราด้วย”
คริสตินา วิลเลียมส์
ปาสกาล เมลิฮัน-เชแนน (Pascal MELIHAN-CHEININ) เลขาธิการการประชุมสุขภาพแห่งชาติ (NCS) แห่งกรมสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ฝรั่งเศส เล่าว่า สมัชชาสุขภาพแห่งฝรั่งเศสตั้งขึ้นมาตั้งแต่ช่วงกลาง ศตวรรษที่ 19 ซี่งมีประสบการณ์การทำงานการมีส่วนร่วมของสังคมมาอย่างยาวนาน และมติดังกล่าวก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับการทำงานในประเทศของตน
“มติของสมัชชาอนามัยโลก (WHA) ที่ว่าด้วยการมีส่วนร่วมทางสังคมสอดคล้องอย่างมากกับประสบการณ์การทำงานของเรา เราเรียกมันว่า ‘Health Democracy’ หรือ ประชาธิปไตยทางสุขภาพ ผมคิดว่านี่เป็นโอกาสที่ดีที่จะเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานร่วมกัน”
ปาสกาล เมลิฮัน-เชแนน
สธ. ย้ำ ประชาชน กลุ่มเปราะบาง-ชายขอบ ร่วมพัฒนานโยบาย
ขณะที่ เดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมประกาศเจตนารมณ์ดังกล่าวในฐานะประเทศไทย และเครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พร้อมกล่าวว่า ไทยจำเป็นต้องมีการผสานความร่วมมือกับระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน วิชาการ องค์กรภาคีเครือข่ายเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพสู่ความเป็นธรรม นำไปสู่แก้วิกฤตต่าง ๆ เพื่อให้ตรงตามเป้าหมายของมติการมีส่วนร่วมทางสังคม ในสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 77 ด้วย
โดยมี 2 ประเด็น ได้แก่
- จัดกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างสม่ำเสมอและมีคุณภาพ คือ ต้องมีตัวแทนประชาชนกลุ่มเปราะบาง และชายขอบเข้าร่วมการพัฒนานโยบายที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบทางสุขภาพ โดยต้องได้ ร่วมคิด ตัดสินใจ และรับผลประโยชน์ร่วมกัน
- ปรับปรุงพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมของสังคมให้หลากหลาย ทันสมัย เหมาะสมกับประชาชนทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ และเพิ่มศักยภาพให้หน่วยงานรัฐและภาคประชาสังคมไปจนถึงชุมชนด้วย
“เราจะสานพลังการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของสังคม เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และความร่วมมือระหว่างรัฐกับประชาชนให้เข้มแข็ง เพื่อนำไปสู่การยกระดับสุขภาพแลความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของสังคม”
เดชอิศม์ ขาวทอง