ไทย ลดอุบัติเหตุ ยังห่างเป้า นักบิดไม่สวมหมวกกันน็อคตายเพิ่ม

อุบัติเหตุทางถนน ยังเป็นปัญหาใหญ่ สร้างความสูญเสียหนัก ฉายภาพซ้ำ ๆ พฤติกรรมการขับขี่ เมินกฎจราจร บังคับใช้กฎหมายไม่เข้มข้น รับสภาพยังอีกไกล เป้าหมายลดตาย เหลือ 8,474 คน ในปี 2570

วันนี้ (20 ธ.ค. 67) ในงาน “รัฐสภาไทย…สานพลังเพื่อความปลอดภัยทางถนน” ครั้งที่ 2 เพื่อเร่งขับเคลื่อนทิศทางและเข็มมุ่งในการขับเคลื่อนภารกิจงานของคณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุ ในการสร้างความปลอดภัยทางถนน

พล.อ. เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง เปิดเผยว่า อุบัติเหตุทางถนนส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนมาอย่างยาวนาน ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตในปี 2566 อยู่ในอันดับที่ 18 ของโลก ซึ่งสูงสุดในภูมิภาคเอเชีย การสูญเสียเกิดขึ้นมากในกลุ่มผู้ใช้จักรยานยนต์ เด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต ดังนั้น ต้องมีความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคนิติบัญญัติ รัฐสภา ซึ่งมีส่วนในการบัญญัติกฎหมาย เพื่อลดอุปสรรคในการดำเนินการ

พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง บอกว่า อุบัติเหตุทางถนนเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชีวิต และความปลอดภัยของประชาชนไทยอย่างรุนแรง การสูญเสียที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่ส่งผลต่อชีวิต แต่ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึงประมาณ ร้อยละ 6 ของจีดีพี หรือกว่าปีละ 600,000 แสนล้านบาท ทั้งที่เป็นเรื่องที่ป้องกันได้ โดยล่าสุดข้อมูล ณ สิ้นปี 2566 แสดงให้เห็นว่าจำนวนผู้เสียชีวิต ยังคงสูงถึงกว่า 17,000 คน ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายถึง 3,600 คน

ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานครอบคลุมในมิติต่าง ๆ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการป้องกันและลดอุบัติเหตุเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนนขึ้น 4 คณะ ได้แก่

  1. คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย

  2. คณะอนุกรรมการประสานงาน บริหารจัดการ รณรงค์แสะการประชาสัมพันธ์

  3. คณะอนุกรรมการด้านโครงสร้างพื้นฐานและด้านยานพาหนะ

  4. คณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ

“เพื่อให้บรรลุเป้าหมายลดผู้เสียชีวิต จำเป็นต้องมีความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และประชาสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคนิติบัญญัติ ซึ่งรัฐสภามีบทบาทสำคัญในการบัญญัติกฎหมาย สนับสนุนและลดอุปสรรคการดำเนินงาน การอนุมัติงบประมาณประจำปี และการกำกับติดตามการดำเนินการของรัฐบาล ตามแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนนที่วางไว้”

พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน

WHO ชี้ “หมวกกันน็อค-ควบคุมความเร็ว-ดื่มไม่ขับ” มาตรการลดเสี่ยง

ขณะที่ มาร์ค แลนดรี้ รักษาการผู้แทนองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย กล่าวชื่นชมบทบาทของรัฐสภาไทย ในการสนับสนุนการดำเนินงานป้องกันอุบัติเหตุทางถนน เพราะเป็นหน่วยงานที่ถือว่ามีบทบาทสำคัญ ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงผ่านการออกกฎหมาย การจัดสรรงบประมาณ การกำกับดูแล และการสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสังคม ซึ่งการจัดตั้งคณะกรรมการและอนุกรรมการ 4 คณะ สะท้อนแนวทางการทำงานแบบองค์รวมที่สามารถเป็นต้นแบบให้ประเทศอื่นเรียนรู้ได้

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก จะร่วมสนับสนุนการดำเนินงานใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1. การใช้มาตรการเชิงหลักฐาน 2. การพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากร และ 3. การสร้างความร่วมมือระดับนานาชาติ ควบคู่ไปกับแนวทางแก้ไขสำคัญ โดยเน้นย้ำมาตรการที่คุ้มทุนและมีประสิทธิภาพ เช่น การสวมหมวกนิรภัย 100% การบังคับใช้กฎหมายความเร็ว และดื่มไม่ขับ รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ปลอดภัย และการดูแลหลังเกิดเหตุ

“การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด การพัฒนาความปลอดภัยของจักรยานยนต์ การออกแบบถนนที่ปลอดภัย และการจัดสรรทรัพยากรในจุดสำคัญ ถือเป็นความท้าทายที่ต้องเร่งแก้ไข เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ในแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน”

มาร์ค แลนดรี้

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุถึง บทบาทของ สสส. มุ่งเน้นสนับสนุนการขับเคลื่อนงานในทุกภาคส่วน เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาความเสี่ยงจากอุบัติเหตุทางถนน ที่ทำให้คนไทยตาย พิการ ก่อนวัยอันควร (ค่าเฉลี่ยอายุปี 2567 อันดับ 78 ของโลก) โดยสนับสนุนให้เกิดการทำงานภายใต้แผนแม่บท ผ่าน ศปถ. โดยอาศัยการจัดการข้อมูล การใช้เทคโนโลยี การบังคับใช้กฎหมาย และการบูรณาการระหว่างสามกองทุน เพื่อลดความเสี่ยงในกลุ่มเยาวชน

นอกจากนี้ ยังได้ขับเคลื่อนในพื้นที่ โดยเข้าไปหนุนเสริมภาคีเครือข่าย ให้ทำงานป้องกันและแก้ไข เช่น ผลักดัน อนุกฎหมายระดับจังหวัด การดึงภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมผ่านกองร้อยอาสาตาจราจร การจัดการพื้นที่เสี่ยงอำเภอ/ตำบล มีการจัดโครงการสวมหมวกกันน็อก 100% ในสถาบันอุดมศึกษา และเยาวชนปลอดภัย เช่น ธนาคารหมวกกันน็อคในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เป็นต้น

อ่อนบังคับใช้กฎหมาย ‘ดื่มแล้วขับ’ ?

สำหรับเวทีเสวนา “รัฐสภาไทย…สานพลังเพื่อความปลอดภัยทางถนน” ได้สะท้อนปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะกับการบังคับใช้กฎหมาย ที่ยังขาดความเคร่งครัด โดย ศุภชัย สมเจริญ ประธานอนุกรรมการด้านกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย ยอมรับว่า ที่ผ่านมาการบังคับใช้กฎหมายยังขาดความเคร่งครัด ซึ่งอนุกรรมการฯ มีบทบาทดำเนินการและจัดทำข้อกฎหมาย เพื่อนำเสนอความเห็น โดยข้อเสนอเชิงนโยบายในการลดอุบัติเหตุ เช่น จากพฤติกรรมการดื่มแล้วขับ พบว่า ประเด็นปัญหาที่สำคัญในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายยังมีจุดอ่อน

ดังนั้น ต้องยกระดับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะผลักดันแนวทางปฎิบัติให้กฎหมายเมาแล้วขับ ให้สามารถปฏิบัติให้เกิดผลตามเจตนารมณ์ของกฎหมายได้ ต้องมีบทลงโทษผู้สนับสนุนให้เด็กและเยาวชนดื่มสุรา โดยในช่วงเทศกาลปีใหม่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตัองเข้ามีบทบาทมากยิ่งขึ้นในการดูแลความปลอดภัยทางถนน

สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานอนุกรรมการด้านโครงสร้างพื้นฐานและด้านยานพาหนะ ย้ำว่า สาเหตุหลักของอุบัติเหตุ มาจากคน ถนน และยานพาหนะ ซึ่งการแก้ปัญหาที่ผ่านมาของไทยยังไม่บรรลุเป้าหมาย เพราะติดกับวิธีการบริหารจัดการ และหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการจัดการปัญหานี้ ยังขาดการบูรณาการงานร่วมกัน เช่น ตัวอย่างการฝ่าฝืนกฎหมายจราจรของพนักงานขนส่งในแอพพลิเคชันต่าง ๆ ที่ดูโทรศัพท์มือถือในขณะขับขี่เพื่อดูเส้นทาง ซึ่งสวนทางกับตัวบทกฎหมายที่ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับขี่ รวมถึงพฤติกรรมเสี่ยงอื่น ๆ ทั้งจากการขับขี่ด้วยความเร็วเกินกำหนดดื่มแล้วขับ ซึ่งการแก้ปัญหาจำเป็นต้องเชื่อมการดำเนินงานทั้งหน่วยงานปฏิบัติ และอนุกรรมการด้านกฎหมายในการกำกับดูแล

ไทยลดสูญเสียบนถนนยังห่างเป้า

ขณะที่ นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ประธานอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ และประธานแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) เน้นย้ำข้อมูลสำคัญว่า ในปี 2567 ความสูญเสียทางถนนของไทยยังคงมีแนวโน้มเท่ากับปีที่ผ่านมา ซึ่งห่างจากเป้าหมายลดจำนวนผู้เสียชีวิตกว่า 5,000 คน และ 80% ของผู้ตายยังคงเป็นผู้ใช้รถจักรยานยนต์ และกลุ่มคนเดินเท้า ท่ามกลางโครงสร้างประชากรเด็กเกิดใหม่ลดลง ประชากรสูงอายุเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ หากไม่สามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงได้ ไทยจะขาดกำลังคนในการพัฒนาประเทศ

นพ.วิทยา ระบุว่าองค์การอนามัยโลกประเมินประเทศไทย ยังขาดหน่วยงานที่เข้มแข็ง และการแปลงแผนแม่บทไปปฏิบัติยังจำกัด ซึ่งในการประชุมที่ Stockholm มองว่าไทยขาดเจตจำนงค์ทางการเมืองอย่างมุ่งมั่น (ในด้านลงทุน การให้อำนาจ การมอบหมายและกำกับติดตามอย่างใกล้ชิด) สะท้อนความอ่อนแอของการบังคับใช้กฎหมายการสวมหมวกนิรภัย

สอดคล้องกับผลการประเมินครึ่งแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน ฉบับที่ 5 โดย TDRI ที่พบว่า คนเสียชีวิตมีแนวโน้มไม่สวมหมวกกันน็อคเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังต้องพัฒนาถนนให้ได้มาตรฐาน ยานพาหนะให้ปลอดภัย รวมถึงยกระดับมาตรฐานการออกใบอนุญาตขับขี่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น

สอดคล้องกับ นิกร จำนง ประธานอนุกรรมการด้านประสานงาน บริหารจัดการ รณรงค์และการประชาสัมพันธ์ เสนอแนะการปรับใช้แนวทางแบบ PACTS ของประเทศอังกฤษ ให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย โดยเน้นการสร้างกลไกที่เชื่อมโยงกับระบบการกำกับดูแลของรัฐผ่านกลไกรัฐสภาและการใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ให้กรรมาธิการสามารถทำหน้าที่ในการติดตาม ตรวจสอบ และเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือแนวทางปฏิบัติและการแก้ไขปัญหา รวมทั้งผลักดันให้เกิดการปฏิบัติจริงโดยหน่วยงาน ผ่านการกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัด

“ความสำคัญในการดำเนินงานด้านการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน ไม่ใช่แค่การมีกฎหมายบังคับใช้ แต่หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ปฏิบัติตามแนวทาง หรือมาตรการที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน ก็อาจถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดจริยธรรม หรือ ละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้เช่นกัน”

นิกร จำนง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active