ชี้ชัดเสี่ยงมากกว่าบุหรี่ธรรมดา หากสูบนานเกิน 3 ปี ยิ่งเสี่ยงเพิ่ม 2 เท่า ‘หมอประกิต’ ย้ำ กมธ.บุหรี่ไฟฟ้า เล็งทางเลือก อนุญาตขายบุหรี่ไฟฟ้า ส่อย้อนแย้งนโยบาย สธ. หวังลดโรค NCDs
วันนี้ (6 ม.ค. 68) รศ.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดงานวิจัยใหม่ระบุ “สูบบุหรี่ไฟฟ้าแบบให้ความร้อน หรือ Heated tobacco products (HTPs) เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกลุ่มโรคไม่ติดต่อ หรือ NCDs สูงถึง 68% ซึ่งมากกว่าการสูบบุหรี่ธรรมดา”
โดยงานวิจัยนี้ เป็นงานวิจัยร่วมระหว่างนักวิจัยประเทศเกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา ได้ศึกษาติดตามกลุ่มตัวอย่าง 183,870 คน ที่ไม่มีประวัติของภาวะเมทาบอลิกซินโดรม ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มโรค NCDs ได้แก่ ภาวะอ้วนลงพุง, ความดันโลหิตสูง, เบาหวาน, ไขมันไม่ดีในเลือดสูง, ไขมันดีในเลือดต่ำ เป็นเวลา 2 ปี (ปี 2562-2563) เมื่อครบกำหนดได้ทำการตรวจร่างกายกลุ่มตัวอย่าง และหาความสัมพันธ์ระหว่างการเกิดโรค NCDs กับการสูบบุหรี่ไฟฟ้าแบบ HTPs โดยได้ควบคุมปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรค NCDs เช่น อายุ เพศ การออกกำลังกาย การดื่มสุรา และการสูบบุหรี่ธรรมดา
รศ.พญ.เริงฤดี ระบุด้วยว่า ผลการศึกษาที่สำคัญสรุปได้ว่า
- ความเสี่ยงของการเกิดโรค NCDs เพิ่มขึ้น 68% สำหรับผู้สูบบุหรี่ HTPs ในปัจจุบัน เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่ใด ๆ เลย
- ในกลุ่มผู้สูบบุหรี่ HTPs ที่ปัจจุบันไม่ได้สูบบุหรี่แบบธรรมดา ความเสี่ยงของการเกิดโรค NCDs จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า เมื่อมีการสูบบุหรี่ตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป
- ความเสี่ยงของการเกิดโรค NCDs เพิ่มขึ้น 33% ในกลุ่มผู้สูบบุหรี่ HTPs ที่สูบมากกว่า 16 ครั้งต่อวัน
- การสูบบุหรี่ HTPs เสี่ยงต่อการเกิดโรค NCDs สูงกว่าการสูบบุหรี่ธรรมดา
ทั้งนี้ งานวิจัยชิ้นนี้ย้ำว่า บุหรี่ไฟฟ้า HTPs ไม่ได้ปลอดภัยกว่าบุหรี่ธรรมดา ตามที่มีการกล่าวอ้าง แท้จริงแล้วเป็นผลิตภัณฑ์คนละประเภท แม้จะไม่มีการเผาไหม้ แต่ไม่ได้แปลว่าปลอดภัยกว่า เพราะมีสารพิษที่แตกต่างกัน ซึ่งบุหรี่ HTPs มีสารพิษหลายชนิดที่สูงกว่าบุหรี่ธรรมดา และที่สำคัญองค์กรสุขภาพอย่าง องค์การอาหารและยาสหรัฐ (US FDA) ก็ประกาศชัดเจนว่า ห้ามโฆษณาว่าบุหรี่ไฟฟ้า HTPs เป็นผลิตภัณฑ์ลดอันตราย ซึ่งนอกจากเรื่องอันตรายต่อสุขภาพแล้ว ยังไม่มีหน่วยงานด้านสุขภาพใดในโลกที่รับรองว่าบุหรี่ไฟฟ้า HTPs ช่วยทำให้เลิกบุหรี่ธรรมดาได้
หวั่นเปิดขายบุหรี่ไฟฟ้า ย้อนแย้งนโยบาย สธ. หวังลดโรค NCDs
ขณะที่ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ บอกว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย แถลงข้อเสนอเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า 3 ทางเลือก ที่จะนำเข้าสู่วาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร โดย 2 ใน 3 ทางเลือก จะอนุญาตให้เปิดขายบุหรี่ไฟฟ้าแบบ HTPs ซึ่งจากข้อมูลงานวิจัยใหม่ชิ้นนี้ ทำให้ข้อเสนอดังกล่าวน่าจะขัดแย้งกับนโยบายของรัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข ที่มีนโยบายลดการป่วยจากโรค NCDs ที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญด้านสาธารณสุข
โดยปัจจุบันคนไทยป่วยเป็น เบาหวาน 6.5 ล้านคน, ความดันโลหิตสูง 14 ล้านคน และเสียชีวิตจาก NCDs ปีละกว่า 400,000 คน สูญเสียต้นทุนทางเศรษฐกิจ กว่า 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี โดยเป็นค่ารักษาพยาบาลทางตรง 139,000 ล้านบาท และความสูญเสียทางอ้อม 1.5 ล้านล้านบาท
ดังนั้นหากจะมีการเปิดให้ขายบุหรี่แบบ HTPs ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรค NCDs และเป็นการย้อนแย้งต่อนโยบายของรัฐบาล นอกจากนี้จะยิ่งทำให้ภาระโรคของ NCDs สูงมากขึ้นไปอีก จึงอยากให้ผู้เกี่ยวข้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ