‘ตัวแทนสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน’ เผยเบื้องหลัง รพ.รัฐ-เอกชน เจอปัญหาเดียวกัน ต้องคุมค่าใช้จ่าย ส่งผลต่อคุณภาพการรักษา ทำคนไข้รอนาน แต่ได้เวลาตรวจเพียงน้อยนิด พบสิทธิประกันสังคม ยังมีข้อจำกัดการรักษาที่เท่าเทียม
วันนี้ (7 ม.ค. 68) นพ.ณัฐ ศิริรัตน์บุญขจร ตัวแทนสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน เปิดเผยกับ The Active กรณีคุณหมอรายหนึ่งออกมาเผยแพร่คลิป เล่าประสบการณ์เกี่ยวกับการตรวจคนไข้ประกันสังคม ว่า ปัจจุบันมักได้ยินเรื่องคนไข้รอนานมากเพื่อพบแพทย์ หลายคนรอครึ่งวัน แต่เมื่อได้พบแพทย์ กลับใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที บางครั้งถึงขั้นที่คนไข้ยังไม่ทันได้นั่งเก้าอี้ก็ต้องออกไปแล้ว
การที่แพทย์ใช้เวลาตรวจคนไข้หนึ่งคนขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของแต่ละเคส เช่น หากคนไข้เป็นหวัดธรรมดา การตรวจอาจจบภายในไม่กี่นาที แต่หากเป็นโรคที่ต้องตรวจเพิ่มเติม เช่น อัลตราซาวด์ หรือปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง อาจใช้เวลานานถึงครึ่งชั่วโมง หรือมากกว่านั้น โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องแจ้งข่าวร้าย เช่น ผลชิ้นเนื้อเป็นมะเร็ง
“สิ่งที่สะท้อนจากคนไข้คือความรู้สึกว่าแพทย์ใช้เวลาไม่มากพอกับพวกเขา ซึ่งไม่มีแพทย์คนใดต้องการเร่งรัดการตรวจ ทุกคนถูกสอนให้ตรวจอย่างละเอียดตั้งแต่โรงเรียนแพทย์ แต่ข้อจำกัดอยู่ที่จำนวนคนไข้ที่ต้องรับในแต่ละวัน หากแพทย์ใช้เวลานานกับคนไข้หนึ่งคน คนไข้ที่เหลือก็ต้องรอนาน”
นพ.ณัฐ ศิริรัตน์บุญขจร
มองความจริง ‘แพทย์’ ภายใต้ข้อจำกัดเวลาตรวจที่มีไม่มากพอ
นพ.ณัฐ ยังระบุอีกว่า ปัญหาเกิดจากจำนวนแพทย์ที่ไม่เพียงพอต่อคนไข้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการกระจายตัวของแพทย์ที่กำหนดไว้ที่ 1:1,000 แต่หลายจังหวัดยังไม่ถึง เช่น บึงกาฬที่มีแพทย์ 1 คนต่อคนไข้ 5,000 คน ความหวังที่จะได้รับการตรวจนานตามที่ต้องการจึงแทบไม่มี โดยเฉพาะเมื่อคำนวณจากแพทย์ทุกสาขารวมกัน ทั้งที่แพทย์เฉพาะทางแต่ละคนมีหน้าที่เฉพาะทางของตน
กระทรวงสาธารณสุข กำหนดมาตรฐานการตรวจที่ 7 นาทีต่อคน หรือประมาณ 9 คนต่อชั่วโมง ซึ่งน้อยกว่าที่ระบุในคู่มือโครงสร้างและกรอบอัตรากำลังปี 2560-2564 ที่กำหนดให้ตรวจมากกว่านั้น และกำหนดเวลาตรวจเคสฉุกเฉินที่ 15 นาทีต่อคน แต่ในความเป็นจริงการตรวจเคสฉุกเฉินอาจต้องใช้เวลานานกว่านั้น
การเปรียบเทียบกับงานวิจัยในอเมริกาที่ใช้เวลาตรวจเคสฉุกเฉิน 1 ชั่วโมงต่อคน พบว่า งานแพทย์ไทยและอเมริกามีความคล้ายคลึงกัน แต่จำนวนคนไข้ในห้องฉุกเฉินของไทยในบางช่วงเวลาอาจเทียบได้กับสภาพในหนังสงคราม แทบไม่มีที่ว่างให้เดิน
“โรคบางโรคที่สามารถบรรเทาอาการด้วยยาสามัญประจำบ้าน อาจทำให้แพทย์ใช้เวลาตรวจน้อยลง แต่การใช้เวลานานกับคนไข้หนึ่งคน อาจทำให้แพทย์ต้องเร่งตรวจคนไข้รายอื่นที่จำเป็นต้องการเวลาเพิ่ม นอกจากนี้ พยาบาลและผู้ช่วยก็ต้องรับแรงกดดันและทำงานนอกเวลาเพิ่ม แต่ได้ค่าตอบแทนน้อยมาก”
นพ.ณัฐ ศิริรัตน์บุญขจร
นพ.ณัฐ บอกด้วยว่า คนไข้หลายคนต้องการความใส่ใจและการพูดคุยนาน ๆ แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย เช่น หวัดธรรมดา แต่ในบางประเทศที่มีทรัพยากรเพียงพอ จึงแนะนำว่า การพบแพทย์ควรใช้เวลาประมาณ 15 นาทีต่อเคส ซึ่งในกรณีของไทยนั้น คำตอบว่าเหมาะสมหรือไม่ขึ้นอยู่กับแต่ละกรณี ไม่สามารถเฉลี่ยกันได้ดีที่สุด คือ แพทย์ควรมีเวลาพอที่จะพูดคุยและดูแลคนไข้ทุกคนอย่างเหมาะสม
ปัจจุบันยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนในเรื่องนี้ ตัวเลขที่ใช้อาจมาจากการพูดคุยและประเมินโดยแพทย์หลายคน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขกำลังปรับปรุงสูตรใหม่เกี่ยวกับอัตรากำลังคน และคาดว่าจะประกาศใช้ในเร็ว ๆ นี้
เมื่อการคุมรายจ่าย ส่งผลต่อคุณภาพการรักษา
ในกรณีของ โรงพยาบาลรัฐ นพ.ณัฐ มองว่า ปัญหาคือการควบคุมค่าใช้จ่าย โรงพยาบาลรัฐซึ่งไม่แสวงหากำไร ต้องเผชิญกับปัญหาการเบิกจ่าย เช่น การเบิกจ่ายกรณีโรคมะเร็ง ส่งผลให้โรงพยาบาลต้องจำกัดค่าใช้จ่ายและจำกัดการส่งตรวจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการให้บริการของแพทย์และคนไข้ แพทย์ต้องพยายามตรวจอย่างละเอียดและให้ยาที่ดีที่สุด แต่ก็ต้องต่อสู้กับข้อจำกัดเหล่านี้
สำหรับ โรงพยาบาลเอกชน ที่ดำเนินการเพื่อหวังกำไร การให้บริการต้องคำนึงถึงต้นทุน หากการวินิจฉัยหรือการรักษามีค่าใช้จ่ายสูงเกินไป ผู้บริหารอาจจำกัดการสั่งตรวจหรือการใช้ทรัพยากร ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานของแพทย์และการรักษาคนไข้
ในกรณีของประกันสังคม สิทธิประโยชน์ควรจะเป็นไปตามสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่า มีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น การจำกัดการให้ยา ซึ่งบางครั้งประกันสังคมอาจไม่ครอบคลุมเท่ากับสิทธิ 30 บาท โดยเฉพาะในกรณียารักษามะเร็งที่เพิ่งเพิ่มเข้าในสิทธิ 30 บาท แต่ประกันสังคมกลับล่าช้าในการพิจารณา ส่งผลให้คนไข้รู้สึกว่าประกันสังคมมีข้อจำกัดมากกว่า
“แนวโน้มและความรู้สึกของบุคลากรในปัจจุบันเริ่มมองว่าประกันสังคมมีข้อจำกัดที่ทำให้คนไข้ไม่ได้รับการดูแลที่เท่าเทียมกับสิทธิอื่นๆ ทั้งหมดนี้สะท้อนถึงความจำเป็นในการปรับปรุงระบบและการบริหารจัดการทรัพยากรในระบบสาธารณสุขไทย”
นพ.ณัฐ ศิริรัตน์บุญขจร