‘ษัษฐรัมย์’ แฉ ‘บอร์ดแพทย์ประกันสังคม’ กุมอำนาจ – งบฯ กระทบคุณภาพบริการ เพื่อผู้ประกันตน

เผย บอร์ดแพทย์ประกันสังคม กุมงบฯ 6 หมื่นล้าน ไร้การตรวจสอบ ส่งผลต่อการเข้าถึงการรักษาพยาบาล หลังมีข้อร้องเรียนมากถึง 70% ชี้ ‘ระบบรักษาพยาบาล’ ต้องเป็นหนึ่งเดียว ลดเหลื่อมล้ำ เพื่อผู้ประกันตน

รศ.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กรรมการบอร์ดประกันสังคม สัดส่วนผู้ประกันตน (ลูกจ้าง) ให้สัมภาษณ์ The Active ภายหลังเพจประกันสังคมก้าวหน้า เปิดเผยสาเหตุการแก้ปัญหาและพัฒนาการรักษาของผู้ประกันตนไม่ได้ เพราะกฎหมายไม่เอื้อ โดยชี้ไปที่บอร์ดการแพทย์ ที่มาจากรัฐมนตรี ไม่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์สาธารณะค่อนข้างลึกลับนั้น  

ระบุว่า จุดยืนของทีมประกันสังคมก้าวหน้า มีเป้าหมายให้ระบบการรักษาพยาบาลเป็นระบบเดียวกันสำหรับทุกคนในประเทศ ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ โดยปัจจุบัน ประกันสังคมได้รับงบประมาณจากการหักเงินสมทบของผู้ประกันตน ส่งไปยังโรงพยาบาลทั้งรัฐ และเอกชน ซึ่งทำให้เกิดปัญหาในการควบคุมคุณภาพและการร่วมจ่าย ผู้ประกันตนยังต้องจ่ายเงินเองมากกว่าผู้ใช้สิทธิ์บัตรทอง ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญ

ในทางปฏิบัติ แม้จะมีการเจรจากับ สปสช. แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนในการจัดสรรงบประมาณให้ครอบคลุมผู้ประกันตนทั้งหมด ทั้งนี้ยังมีผู้ประกันตนบางส่วนที่มองว่าการใช้สิทธิ์ในโรงพยาบาลเอกชนเป็นสิ่งพิเศษ ขณะที่ สปสช. ก็มีการพัฒนาจุดแข็งขึ้นมาก เช่น การให้บริการที่ไม่ต้องเข้าโรงพยาบาล 

ประกันสังคมมีการจัดสรรงบประมาณจำนวนมากให้กับโรงพยาบาลเอกชน โดยไม่ได้เป็นการกุศล จึงมีค่ารักษาพยาบาลที่สูงกว่าปกติ รศ.ษัษฐรัมย์ จึงเสนอว่า หากสามารถเปลี่ยนแปลงให้ผู้ประกันตนใช้สิทธิ์บัตรทองได้เป็นพื้นฐาน จะช่วยลดปัญหาความไม่เท่าเทียมลงได้ 

“การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของระบบสุขภาพต้องได้รับการสนับสนุนทางการเมือง เพื่อให้เกิดการปรับปรุงที่แท้จริง ลดปัญหาผู้ประกันตนต้องควักเงินเอง หรือได้รับการรักษาที่ไม่เท่าเทียมกับบัตรทองในปัจจุบัน” 

รศ.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี 

รศ.ษัษฐรัมย์ ยังมองว่า ระบบประกันสังคมควรพัฒนาไปในทิศทางที่เสริมสร้างสุขภาพผู้ประกันตน เช่น ในเยอรมณีที่ประกันสังคมจ่ายค่าพักผ่อนในที่อากาศดีเพื่อฟื้นฟูสุขภาพ แนวทางนี้สามารถยกระดับการรักษาในไทยให้มีคุณภาพมากขึ้นและลดความเหลื่อมล้ำได้ 

ความลึกลับของ ‘บอร์ดแพทย์’ ประกันสังคม

รศ.ษัษฐรัมย์ ยังอธิบายถึง ปัญหาของประกันสังคมเป็นภาพรวมที่ต้องการความโปร่งใสในการบริหารจัดการ ปัจจุบันประกันสังคมไม่ค่อยเปิดเผยข้อมูล โดยเฉพาะ บอร์ดแพทย์ มีส่วนเกี่ยวข้องในการตัดสินใจที่สำคัญในด้านการแพทย์ กับงบประมาณทางการแพทย์ที่สูงถึง 60,000 ล้านบาทต่อปีนั้น ควรมีความโปร่งใสมากขึ้น และควรเชื่อมโยงกับประชาชนให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดความไว้วางใจและลดข้อสงสัยต่าง ๆ

“ถึงแม้ว่า ไม่ใช่เพียงบอร์ดแพทย์เท่านั้น ที่มีหน้าที่ในเรื่องนี้ การบริหารงานเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลต้องมาจากบอร์ดใหญ่อีกที โดยที่บอร์ดแพทย์มีอำนาจในการจัดสรรงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล”

รศ.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี 

แต่ถึงอย่างนั้น บอร์ดแพทย์ ก็ถือว่ามีอำนาจทางพฤตินัยสูง อำนาจในการปรับเปลี่ยนสวัสดิการด้านการรักษายังคงถูกกักไว้ที่บอร์ดแพทย์ ซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐมนตรี โดยไม่มีการเปิดเผยรายชื่อบนเว็บไซต์ ทำให้กลุ่มบุคคลนี้ยังคงมีความลึกลับ และยากต่อการตรวจสอบ นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมบอร์ดประกันสังคมที่มาจากการเลือกตั้งของผู้ประกันตนยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้านบริการทางการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“เราได้เสนอแนะและสะท้อนปัญหาไปหลายประเด็นแล้ว เช่น การเพิ่มร้านยาใกล้บ้าน การเพิ่มเงินค่าคลอดบุตรเป็น 20,000 บาท การพัฒนาการบริการทำฟัน และอื่น ๆ แต่การแก้ปัญหายังคงติดขัดเพราะโครงสร้างที่ไม่เอื้ออำนวย”

รศ.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่พบมากในระบบประกันสังคมคือข้อร้องเรียนของผู้ประกันตน ซึ่งกว่า 70% เป็นเรื่องการบริการทางการแพทย์ ส่วนเรื่องการบริการด้านอื่น ๆ เช่น การเบิกจ่าย ไม่มีปัญหามากนัก ดังนั้น การพัฒนาการทำงานของบอร์ดแพทย์จึงเป็นเรื่องสำคัญในการยกระดับคุณภาพการบริการทางการแพทย์ในระบบประกันสังคม

ปรับสิทธิประโยชน์เพื่อผู้ประกันตน

รศ.ษัษฐรัมย์ ยังระบุด้วยว่า ขณะนี้ประชาชนกำลังจับตามองนโยบาย และสิทธิประโยชน์ที่ประกันสังคมมอบให้ โดยทีมประกันสังคมก้าวหน้า ได้ดำเนินการปรับปรุงหลายเรื่องที่สำคัญ เช่น การเพิ่มเงินช่วยเหลือเลี้ยงดูบุตร, การปรับเพิ่มเงินชดเชยกรณีว่างงานเป็นสูงสุด 9,000 บาทต่อเดือนสำหรับผู้ที่ถูกเลิกจ้าง ซึ่งผ่านการอนุมัติจากบอร์ดเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ยังมีโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งได้รับการอนุมัติไปเช่นกัน

ในส่วนของการลงทุน ได้พยายามปรับปรุงเพื่อเพิ่มผลตอบแทนและบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ โดยในช่วงปีที่ผ่านมา ผลตอบแทนจากการลงทุนได้เพิ่มขึ้นจากเดิมที่อยู่ประมาณ 3% ต่อปี มาเป็นประมาณ 4% ซึ่งทำให้กองทุนประกันสังคมมีเงินเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 40,000 ล้านบาทต่อปี ช่วยยืดอายุของกองทุนไปได้อีก 3-4 ปี

นอกจากนั้นยังได้เน้นการปรับปรุงพอร์ตการลงทุนให้มีความโปร่งใสมากขึ้น พร้อมทั้งจัดการงบประมาณที่มีมูลค่าสูงถึงหลายหมื่นล้านบาท ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด โดยลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในองค์กร และเปลี่ยนทัศนคติให้เห็นว่าเงินเหล่านี้คือเงินของผู้ประกันตน การประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะช่วยให้มีเงินกลับไปเพิ่มสิทธิประโยชน์และการลงทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนกลับคืนสู่ผู้ประกันตนได้

รพ.ประกันสังคม 97 แห่ง รับผู้ประกันตนเพิ่ม

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 68 สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้เผยแพร่รายชื่อโรงพยาบาลเอกชนคู่สัญญา เพื่อให้ผู้ประกันตนที่ต้องการเปลี่ยนหรือเลือกโรงพยาบาลใหม่สามารถพิจารณาได้ รายชื่อดังกล่าวอัปเดตล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2568 ครอบคลุมโรงพยาบาล 97 แห่ง โดยบางแห่งสามารถรับผู้ประกันตนได้ตั้งแต่หลักพันจนถึงหลักแสนคน

ผู้ประกันตนสามารถติดต่อเปลี่ยนหรือเลือกโรงพยาบาลได้ที่ สปส. ทุกสาขา หรือผ่านเว็บไซต์ www.sso.go.th แอปพลิเคชัน Sso Plus+ และไลน์ OA @ssothai รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถตรวจสอบได้ตามข้อมูลด้านล่างนี้

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active