ตัวแทนกรมสาธารณสุขและสวัสดิการของกะเหรี่ยง เผย สถานการณ์สู้รบในเมียนมายังหนัก ขอ รพ.ชายแดนไทย ช่วยรองรับการรักษา พร้อมวางแผนรับมือการขาดแคลนยา บุคลากร หวั่นกระทบการควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ชายแดน
สถานการณ์ความไม่สงบในประเทศเมียนมา ยังคงดำเนินต่อไป ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 68 ทหารเมียนมาได้ใช้โดรนทิ้งระเบิด 2 ลูกโจมตีกองบัญชาการของกลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) โดยระเบิดตกลงในบริเวณสนามฝึก ซึ่งห่างจากโรงพยาบาลของรัฐกะเหรี่ยง ประมาณ 1 ไมล์ ทำให้ต้องปิดให้บริการผู้ป่วยนอก และจำหน่ายผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล เหลือเพียง 5 คน ซึ่ง 2 คนเป็นผู้ที่มาจากในศูนย์พักพิงชั่วคราวผู้ลี้ภัยบ้านแม่หละ ฝั่งไทย อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลได้กลับมาเปิดให้บริการตามปกติอีกครั้งวันนี้ (3 ก.พ. 68)
The Active ลงพื้นที่ติดตามปัญหาระบบสาธารณสุขตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา พบว่า เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 68 ตัวแทนจาก กรมสาธารณสุขและสวัสดิการของกะเหรี่ยง หรือ KDHW (Karen Department of Health and Welfare) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านสาธารณสุขของ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง ได้เดินทางเข้ามาพบ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าสองยาง จ.ตาก เพื่อประชุมเพื่อหารือการทำงานร่วมกันในภาวะวิกฤติทั้งสถานการณ์สู้รบที่ยังไม่สงบ และการตัดงบประมาณความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่งผลกระทบต่อค่ายลี้ภัยบ้านแม่หละในพื้นที่ อ.ท่าสองยาง โดย The Active ได้รับอนุญาตให้เฝ้าสังเกตการณ์ ในการหารือครั้งนี้ด้วย

โดยอนุญาตให้ The Active ร่วมสังเกตการณ์
โดยตัวแทน KDHW ได้รายงานถึงสถานการณ์ภายหลังโรงพยาบาลสนาม ที่อยู่ภายใต้การดูแลของ IRC ซึ่งสหรัฐฯ ได้ตัดงบฯ สนับสนุน ในศูนย์พักพิงบ้านแม่แหละ จนทำให้ต้องปิดตัวลง มาตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา ทำให้มีกลุ่มผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงบางส่วน ข้ามไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลฝั่งรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับบ้านแม่สลิด อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ทั้งนี้โรงพยาบาลในรัฐกะเหรี่ยง ก็กำลังได้รับความเสียหายจากความไม่สงบเช่นกัน ฉะนั้นจึงอยากให้โรงพยาบาลฝั่งไทยรองรับการรักษาคนเหล่านี้
การประชุมครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่การเสริมสร้างระบบเฝ้าระวังโรคโดยเฉพาะ อหิวาตกโรค ที่ยังเป็นปัญหาที่น่ากังวลและอาจแพร่ระบาดมาถึงโรงพยาบาลแล้ว ขณะที่ปัญหาสุขภาพจิต มีรายงานกรณีฆ่าตัวตาย 2 คนในพื้นที่ ซึ่งอยู่ห่างจากโรงพยาบาลพอสมควร จำเป็นต้องมีแนวทางในการดูแลด้านสุขภาพจิตให้มากขึ้น รวมถึงระบบเฝ้าระวังโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน (ILI) นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะยกระดับห้องปฏิบัติการ ให้มีมาตรฐานความปลอดภัยทางชีวภาพสูงขึ้น เพื่อให้สามารถตรวจวิเคราะห์โรคได้แม่นยำขึ้น เช่น การตรวจ PCR

ตัวแทนของ KDHW กังวลว่า หากใน 3 เดือนข้างหน้า ไม่มีการสนับสนุนเพียงพอ อาจส่งผลต่อบุคลากรสาธารณสุขที่จะเข้ามาปฏิบัติงาน จำเป็นต้องเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคที่อาจเกิดจากการขาดแคลนยา และ มาตรการป้องกัน จึงต้องมีแผนเฝ้าระวังและรับมือโรคติดต่อที่ดีขึ้น
รวมถึงการตรวจสอบผู้ป่วยต้องสงสัย ต้องประสานงานกับองค์กรต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะการสนับสนุนด้านยาและบุคลากร และควรมีการติดตามความคืบหน้าของโครงการนำร่อง เพื่อพัฒนาศูนย์เฝ้าระวังโรคและห้องปฏิบัติการให้มีมาตรฐานสูงขึ้น
เฝ้าระวัง ‘อหิวาต์ – วัณโรค – HIV’
ขณะที่ นพ.ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าสองยาง ยอมรับว่า ที่น่าห่วงคือวัณโรค ซึ่งมีผู้ป่วยหลายร้อยคน และการรักษาที่ไม่ต่อเนื่องอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะหากมีการดื้อยา ซึ่งค่าใช้จ่ายในการรักษาก็จะสูงขึ้นไปอีก ถ้าหากไม่ดูแลและควบคุมเรื่องนี้ให้ดี ค่าใช้จ่ายในการรักษาก็อาจสูงถึง 2-3 แสนบาท
ขณะที่ผู้ป่วย HIV ซึ่งในแคมป์ก็มีจำนวนไม่น้อย การดูแลผู้ป่วย HIV อย่างต่อเนื่องก็เป็นสิ่งสำคัญ หากไม่สามารถรับยาต่อเนื่องได้ การรักษาจะมีความท้าทายมากขึ้น และอาจทำให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อน ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งผู้ป่วยเองและการแพร่กระจายของโรคในพื้นที่
“บางคนอาจมองว่าเราไม่ควรดูแลผู้ป่วยต่างด้าวหรือให้การรักษาฟรีๆ แต่จริงๆ แล้วการดูแลผู้ป่วยตั้งแต่เริ่มต้นจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในระยะยาว เช่น การคลอดก่อนกำหนดที่หากไม่ได้รับการดูแลตั้งแต่แรก อาจทำให้ต้องใช้เงินจำนวนมากในการรักษา แต่หากดูแลตั้งแต่แรกก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้มาก”
นพ.ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์

ผอ.รพ.ท่าสองยาง บอกอีกว่า การส่งเสริมและป้องกันสุขภาพจะคุ้มค่ากว่าการรักษาเมื่อเกิดปัญหาแล้ว และในส่วนของแนวคิดนำผู้ลี้ภัยมาแรงงานข้ามชาติ ก็มีข้อดีที่ควรพิจารณาเช่นกัน เพราะสามารถมีผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยได้ คิดว่าควรเปิดใจและหารือในประเด็นนี้ในสังคมไทย
เหนือความคาดหมาย สหรัฐฯ ตัดงบฯ ดูแลผู้ลี้ภัย
นพ.ธวัชชัย บอกอีกว่า จริงๆ แล้วตนไม่เคยคิดว่าจะเกิดการตัดงบประมาณแบบฉับพลันแบบนี้ เพราะตั้งแต่ที่ทำงานที่นี่มา 20 กว่าปี ก็ไม่เคยมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นเลย แต่จากที่เห็นการพยายามลดความช่วยเหลือจากยูเอ็น และการพยายามยุติการดำเนินงานของศูนย์ ก็รู้ว่าอาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในอนาคต แต่ยังไม่เคยคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นเร็วขนาดนี้ครับ
“ก่อนหน้านี้ก็เห็นว่าโครงการต่าง ๆ ลดลงบ้าง เช่น การอพยพไปประเทศที่ 3 และการลดการสนับสนุนจากยูเอ็น แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ถึงแม้ว่าจะลดงบประมาณลง แต่จำนวนประชากรในพื้นที่ก็ยังคงเพิ่มขึ้นทุกปีครับ โดยเฉพาะเด็กที่เกิดใหม่ทุกปี”
นพ.ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์

นพ.ธวัชชัย เปิดเผยอีกว่า เคยคิดเล่น ๆ ถ้ามีเงินทุนและสามารถเข้ามาบริหารจัดการได้เอง น่าจะสามารถทำงานได้ดีในเรื่องการควบคุมโรค และส่งเสริมสุขภาพในพื้นที่นี้ แต่เนื่องจากตอนนั้นมีองค์กรที่รับผิดชอบงานนี้โดยตรง “เราก็ไม่ได้คิดว่าเราจะต้องรับงานนี้มาทำเอง” แต่เมื่อมีข่าวการตัดงบประมาณออกมา ก็เริ่มมีการประชุมและเริ่มขอความช่วยเหลือเพื่อรับมือกับสถานการณ์นี้
“ตอนแรกที่ได้ยินข่าวเกี่ยวกับการปิดโรงพยาบาล ก็โทรไปถามเจ้าหน้าที่ IRC ว่ามันเป็นเรื่องจริงหรือเปล่า พอคุยกับเขา เขาก็บอกว่าจริง และเสียงดูเหมือนจะหมดหวัง โดยผู้ว่าฯ ได้สั่งให้เราเข้าไปช่วยดูแลเบื้องต้น แต่ยังไม่มีคำสั่งชัดเจนออกมา จนกระทั่งการประชุมภายในจังหวัดเริ่มขึ้น ทุกคนก็เริ่มแบ่งหน้าที่กันในการดูแล และประเมินว่าศูนย์ไหนจะรับผิดชอบอะไรบ้าง”
นพ.ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์
ผอ.รพ.ท่าสองยาง ทิ้งท้่ายว่า ถ้ามีงบประมาณพอก็สามารถดูแลได้ เพราะระบบสุขภาพที่ดูแลอยู่ในพื้นที่ก็ค่อนข้างจะเหมือนกัน แต่อาจจะมีความท้าทายเพราะบางพื้นที่ในท่าสองยางเป็นภูเขา ทำให้การจัดการบางอย่างอาจจะยากกว่าพื้นที่ราบทั่วไป แต่ตอนนี้สิ่งที่น่าห่วงคือเรื่องงบประมาณ ซึ่งมันอาจจะมีปัญหาบ้าง