ผอ.รพ.อุ้มผาง ย้ำ ดูแล ‘ผู้ลี้ภัย’ งานฉุกเฉิน หวังระยะยาวมีหน่วยงานรับช่วงต่อ

ยืนยัน ภาระงาน รพ.ชายแดนเพิ่ม แต่ไม่กระทบคิวคนไทย หากบริหารจัดการดี แนะดูแลเชิงป้องกัน เพื่อลดภาระโรงพยาบาล ย้ำ ไม่มีการโอนภาระงานเพิ่มเติมให้โรงพยาบาลแม่สอด

วันนี้ (6 ก.พ. 68) นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง อ.อุ้มผาง จ.ตาก ให้สัมภาษณ์ The Active เกี่ยวกับภาระงานสาธารณสุขชายแดน กรณีผู้ลี้ภัยอาจทำให้การรอคิวบริการของคนไทยยาวนานขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีประชากรข้ามชาติเพิ่มเข้ามาในระบบ ว่า การเพิ่มประชากรข้ามชาติไม่ได้ทำให้จำนวนคนไข้เพิ่มขึ้นโดยตรง เนื่องจากผู้ป่วยจากค่ายผู้ลี้ภัย ก็ยังคงได้รับการส่งต่อมารักษาในโรงพยาบาลเช่นเดิม สิ่งที่เพิ่มขึ้นคือปริมาณงานที่ต้องทำ แต่จำนวนผู้ป่วยโดยรวมไม่ได้เพิ่มมากขึ้น โรงพยาบาลชุมชน 4 แห่งในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น โรงพยาบาลท่าสองยาง, โรงพยาบาลแม่ระมาด, โรงพยาบาลพบพระ และโรงพยาบาลอุ้มผาง ก็ยังคงดูแลประชากรในพื้นที่นั้น ๆ ตามปกติ 

“งานที่เพิ่มขึ้นนั้นจริงอยู่ แต่หากเรามีการบริหารจัดการอย่างชาญฉลาดโดยการเข้าไปดูแลเชิงป้องกันในศูนย์เหล่านี้ เราก็จะสามารถลดการเจ็บป่วยและการระบาดของโรคได้ โดยที่ไม่ต้องเพิ่มภาระงานในโรงพยาบาลอย่างมาก” 

นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์

นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง อ.อุ้มผาง จ.ตาก

ขณะที่ในการประชุมที่ผ่านมา เข้าใจว่าคุณหมอบางท่านอาจจะมีความกังวลเกี่ยวกับการเพิ่มภาระงาน ซึ่งอาจเกิดจากความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการแบ่งหน้าที่ในการดูแลคนไข้ จริง ๆ แล้วไม่มีการแบ่งงานให้หมอในโรงพยาบาลต้องออกไปดูแลผู้ป่วยนอกสถานที่ เช่น การนำผู้ป่วยมารักษาที่โรงพยาบาลนั้น ไม่ได้เพิ่มภาระให้กับหมอในโรงพยาบาลแต่อย่างใด เพราะการขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อส่งผู้ป่วยมารักษายังคงเป็นการดูแลแบบเดิม และไม่ได้มีการเพิ่มงานให้กับบุคลากรในโรงพยาบาลโดยตรง

นพ.วรวิทย์ ยืนยันว่า ผู้ป่วยเหล่านี้ได้รับการดูแลอยู่แล้วตามระบบ ไม่ได้มีภาระงานเพิ่มขึ้นอย่างที่เข้าใจกันผิด ๆ สำหรับงานที่เกี่ยวข้องกับโรควัณโรค หรือ ผู้ป่วย HIV โรงพยาบาลชุมชนทั้ง 4 แห่ง ที่รับผิดชอบอยู่แล้ว จะยังคงดูแลตามปกติ ไม่มีการโอนภาระมาให้โรงพยาบาลแม่สอดเพิ่มเติม

กรณีของ HIV และวัณโรค คนไข้จะเข้ารับการรักษาตามรอบที่กำหนด เช่น เดือนละครั้งหรือสองเดือนครั้ง และในบางกรณี เช่น ผู้ป่วย HIV การรับยาก็สามารถดำเนินการภายในศูนย์ได้เลย โดยโรงพยาบาลจะเป็นผู้จัดยาและส่งไปให้ถึงที่

ส่วนผู้ป่วยวัณโรคที่ต้องเอกซเรย์ปอด พวกเขาจำเป็นต้องเข้ามาโรงพยาบาล เพราะในศูนย์ไม่มีเครื่องเอกซเรย์ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นแนวทางที่ดำเนินการกันมาอยู่แล้ว ไม่ได้เป็นงานที่เพิ่มขึ้นใหม่แต่อย่างใด

ขณะที่ โรงพยาบาลแม่สอดดูแลผู้ป่วยฟอกไตอยู่แล้ว ปัจจุบันมีผู้ป่วยฟอกไต ในระบบ 10 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่บริหารจัดการได้ และเป็นสิ่งที่ทำอยู่เป็นปกติ การดำเนินการที่พูดถึงคือให้โรงพยาบาลแม่สอด รับหน้าที่ฟอกไตต่อโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม และขอให้กระทรวงมหาดไทย สนับสนุนการจัดหารถรับส่งผู้ป่วยสัปดาห์ละ 2 ครั้งเท่านั้น ซึ่งไม่ได้เป็นการเพิ่มภาระงานให้แพทย์เลย

“ผมอยากให้พวกเราตั้งสติและพิจารณาอย่างรอบคอบถึงบทบาทของเราในฐานะบุคลากรทางการแพทย์ หากเรายึดหลักการดูแลเชิงป้องกันและคำนึงถึงหลักมนุษยธรรม เราก็จะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่ทิ้งผู้ป่วย ผมเข้าใจว่าหมอบางท่านอาจจะมีความเครียดหรือกังวลเกินไปเกี่ยวกับภาระงานที่อาจเพิ่มขึ้น แต่ข้อเท็จจริงคือไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ภาระงานเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ” 

นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์

นพ.วรวิทย์ บอกอีกว่า ในที่ประชุม ไม่มีการกำหนดให้แพทย์จากโรงพยาบาลแม่สอดต้องออกไปให้การรักษานอกโรงพยาบาลแต่อย่างใด สิ่งที่มีการพูดคุยกันคือแนวคิดเรื่องการจัดหารถรับส่งผู้ป่วย โดยแนวทางคือขอความร่วมมือจากศาลากลางจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ รวมถึงให้อาสาสมัคร (อส.) เป็นผู้ขับรถรับส่งคนไข้ที่เคยได้รับการรักษาในศูนย์ IRC อยู่แล้ว

เมื่อถามว่า เรื่องนี้นำไปสู่ประเด็นที่ว่าคนไทยต้องเสียสละมากเกินไปหรือไม่ ผอ.รพ.อุ้มผาง บอกว่า เป็นข้อถกเถียงที่ซับซ้อน หากปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ง่าย ก็คงได้รับการแก้ไขไปนานแล้ว ความเป็นจริง คือ พื้นที่ชายแดนมีลักษณะเฉพาะของมันเองอยู่แล้ว จึงต้องตั้งคำถามว่า คนไทยที่กล่าวถึงนั้นหมายถึงใคร ?

กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินนี้มาเป็นเวลานานแต่ยังไม่มีสัญชาติไทย ควรถูกจัดอยู่ในกลุ่ม “คนไทย” หรือไม่ ? ตามกฎหมาย พวกเขาอาจถือว่าเป็น “ต่างด้าว” แต่ในความเป็นจริง พวกเขาอาศัยอยู่ที่นี่มาตลอด การที่บุคลากรทางการแพทย์เลือกปฏิบัติต่อคนไข้โดยใช้สัญชาติเป็นเกณฑ์ แทนที่จะใช้หลักมนุษยธรรม และหลักการควบคุมโรค ย่อมทำให้เกิดปัญหาทางศีลธรรมและสังคมมากขึ้น

หากเรายึดถือเพียงเชื้อชาติ สัญชาติ ภาษา หรือประเด็นเรื่องงบประมาณเป็นหลัก เราจะพบว่างานของเราจะไม่จบสิ้น และสุดท้ายอาจต้องย้อนกลับมาถามตัวเองว่า เราทิ้งคนไข้ไปเพียงเพราะพวกเขาไม่มีสัญชาติไทยหรือเปล่า ? การตัดสินใจเช่นนั้นอาจกลายเป็นสิ่งที่ติดอยู่ในใจเราไปตลอดชีวิต

คนไทยอาจเข้าใจผิด คิดว่าการรับภาระดูแลผู้ป่วยในศูนย์อพยพจะทำให้ระบบสาธารณสุขของไทยแย่ลง หรือทำให้คนไทยต้องรอนานขึ้น จนเกิดการโทษว่า “ต้องรอนานเพราะมีคนอื่นมาแย่งใช้บริการ” จึงอยากชี้แจงว่า ปัญหาเรื่องการรอคิวนานในโรงพยาบาลรัฐ ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่นี่ แต่เป็นปัญหาระดับประเทศและระดับโลก โรงพยาบาลใหญ่ ๆ อย่างราชวิถี ศิริราช หรือ จุฬาฯ ก็เผชิญปัญหาเดียวกัน

“ในสถานการณ์ที่มีชีวิตคนเป็นเดิมพัน เราต้องตัดสินใจบนพื้นฐานของความถูกต้องและจริยธรรม การตัดสินใจของเราต้องมีความรับผิดชอบสูงสุด เพราะถ้าเราทำตามความคิดเห็นของคนที่ไม่ได้อยู่หน้างาน และเกิดปัญหาขึ้น ใครจะรับผิดชอบ หากเกิดการแพร่ระบาดของโรคร้ายแรง ใครจะรับผิดชอบ ? หากมีคนเสียชีวิตจากการขาดการรักษา ใครจะรับผิดชอบ ? คนที่ออกความเห็นอาจไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ เราคือคนที่ต้องรับผิดชอบชีวิตของผู้คน ดังนั้น เรารับฟังทุกความคิดเห็น แต่เมื่อถึงเวลาตัดสินใจ เราต้องเลือกแนวทางที่ดีที่สุด ตามหลักมนุษยธรรมและหลักสาธารณสุข

นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์

ผู้ลี้ภัย

ย้ำ รพ.ชายแดน ดูแลผู้ลี้ภัย แค่งานฉุกเฉิน หวังระยะยาวมีหน่วยงานรับช่วงต่อ

อย่างไรก็ตาม นพ.วรวิทย์ เห็นด้วยว่า การดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่ควรเป็นภาระระยะยาวของโรงพยาบาลชายแดนเพียงฝ่ายเดียว นี่เป็นงานฉุกเฉินที่เราต้องรับมือในช่วงเวลาสั้น ๆ ด้วยหลักมนุษยธรรม และเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคร้ายแรง หากเพิกเฉย ผลกระทบที่ตามมาจะรุนแรงกว่ามาก

“แม้ว่าแพทย์หรือประชาชนบางส่วนจะมีมุมมองแตกต่างออกไป เรารับฟังเสมอ แต่ก็ต้องอธิบายข้อเท็จจริงให้เข้าใจตรงกัน สิ่งสำคัญคือ ต้องมีหน่วยงานที่เข้ามารับช่วงต่อจากเรา เพราะในระยะยาว โรงพยาบาลในพื้นที่ไม่สามารถแบกรับภาระนี้ได้เพียงลำพัง” 

นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์

สำหรับข้อมูล จำนวนผู้ป่วยในศูนย์พักพิงชั่วคราวบ้านแม่หละ ซึ่งเป็นค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยนั้น ข้อมูลจาก นพ.วรวิทย์ ที่ได้รับมีดังนี้

  • ผู้ป่วยวัณโรค (TB) 18 คน
  • ผู้ป่วย HIV 161 คน
  • ผู้ป่วยโรคไต 36 คน ต้องฟอกไต 10 คน 

สำหรับสิ่งที่ทางสาธารณสุขต้องทำต่อในค่ายผู้ลี้ภัย คือวางมาตรการป้องกันโรค เพราะโรคติดต่อไม่เลือกสัญชาติ ไม่สนใจพรมแดนการเข้าถึงน้ำสะอาด และสุขอนามัยที่ดีเป็นสิ่งจำเป็นในการป้องกันโรคมาตรการง่าย ๆ เช่น การเติมคลอรีนในน้ำ สามารถช่วยชีวิตคนได้เป็นจำนวนมาก การจัดการสิ่งแวดล้อม เช่น การควบคุมแมลง รวมถึง การจัดการของเสียและขยะ เป็นหัวใจสำคัญของงานสาธารณสุข 

ผอ.รพ.อุ้มผาง บอกอีกว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอาจไม่จำเป็นต้องลงมือทำทุกอย่างเอง แต่ต้องบริหารจัดการให้มีคนรับผิดชอบ เช่น มอบหมายให้หน่วยงานท้องถิ่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรือองค์กรในพื้นที่ช่วยกันดำเนินการ เพราะถ้าขยะในศูนย์พักพิงหรือชุมชนไม่ได้รับการจัดการที่ดี สุดท้ายมันก็จะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์หนูและแมลง ซึ่งนำไปสู่การแพร่ระบาดของโรคอื่น ๆ อีกมากมาย

“กันไว้ดีกว่าแก้” คำพูดนี้ใช้ได้เสมอโดยเฉพาะในงานสาธารณสุข ถ้าเราไม่วางระบบป้องกันโรคตั้งแต่ต้น ปล่อยให้มันแพร่ระบาดไปก่อน ค่อยมาแก้ทีหลัง มันจะเป็นภาระที่หนักกว่าเดิมมาก

‘วัณโรค’ ลดลงในช่วง 5 ปี พิสูจน์ฝีมือ รพ.ชายแดน

สำหรับจำนวนผู้ป่วยวัณโรคใน อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ตั้งของศูนย์พักพิงชั่วคราวบ้านแม่หละ ระหว่างปี 2563 – 2567 มีข้อมูลจาก รพ.ท่าสองยาง ดังนี้ 

  • ปี 2563 : 127 คน
  • ปี 2564 : 46 คน
  • ปี 2565 : 60 คน
  • ปี 2566 : 69 คน
  • ปี 2567 : 41 คน

ข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นว่า จำนวนผู้ป่วยวัณโรคใน อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ระหว่างปี 2563 – 2567 มีแนวโน้มลดลงโดยรวม โดยปี 2563 พบผู้ป่วยสูงสุดที่ 127 คน แต่ลดลงอย่างมากในปี 2564 (46 คน) หลังจากนั้นจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยใน ปี 2565 – 2566 (60 และ 69 คน ตามลำดับ) ก่อนจะลดลงอีกครั้งในปี 2567 (41 คน) แนวโน้มนี้อาจสะท้อนถึง ประสิทธิภาพของมาตรการควบคุมวัณโรคที่ดีขึ้น เช่น การคัดกรองเชิงรุก การเข้าถึงยารักษา และการดูแลสุขอนามัยในศูนย์พักพิง อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยในบางปีอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยแวดล้อม เช่น ความหนาแน่นของประชากรในศูนย์พักพิง การเคลื่อนย้ายแรงงาน หรือการระบาดเป็นระยะ ซึ่งยังจำเป็นต้องมีมาตรการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ จำนวนผู้ป่วยวัณโรคใน อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งเป็นพื้นที่เขตเมือง ระหว่างปี 2563 – 2567 มีข้อมูลจาก รพ.แม่สอด ดังนี้ 

  • ปี 2563 : 329 คน
  • ปี 2564 : 325 คน
  • ปี 2565 : 316 คน
  • ปี 2566 : 224 คน
  • ปี 2567 : 276 คน (ข้อมูลถึง 23 ส.ค. 2567)

ข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นว่า สถานการณ์วัณโรคใน อ.แม่สอด (พ.ศ. 2563 – 2567) มีความผันผวน โดยจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงสุดในปี พ.ศ. 2563 (329 คน)ก่อนลดลงเล็กน้อยในปีต่อมา และลดลงชัดเจนใน พ.ศ. 2566 (224 คน)อย่างไรก็ตาม ใน พ.ศ. 2567 จำนวนผู้ป่วยกลับเพิ่มขึ้นเป็น 276 คน ซึ่งอาจสะท้อนถึงปัจจัยด้านการเคลื่อนย้ายของแรงงานข้ามชาติ มาตรการควบคุมโรคที่อาจลดความเข้มงวด หรือการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นว่า แม้จะมีความพยายามควบคุมวัณโรค แต่ยังคงมีความเสี่ยงของการระบาดเป็นระยะ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันอย่างต่อเนื่อง

รมว.สธ. ยัน รพ.ชายแดนยังรับมือได้ 

ด้าน สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยัน การรักษาผู้ลี้ภัยในโรงพยาบาลชายแดนในจังหวัดตาก ยังรับมือได้ ไม่กระทบงานหลัก หลังกรณีแพทย์หญิงโรงพยาบาลแม่สอด โพสต์ยอมลาออก เหตุภาระงานชายแดนกรณีผู้ลี้ภัย ตนได้รับรายงานจากผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 2 ทราบว่า มีผู้อพยพเข้ามารักษาประมาณ 40 คน และถูกส่งไปรักษายัง 4 โรงพยาบาล โดยโรงพยาบาลแต่ละแห่งยังรับมือได้ ไม่กระทบกับภาระงานหลัก หากพื้นที่มีการรายงานข้อมูลผลกระทบหรือภาระงานเข้ามาก็จะมีการพิจารณาความช่วยเหลือ

แนวทางการรับมือขณะนี้ได้จัดทีม บุคลากรทางการแพทย์ ลงพื้นที่ค่าย ผู้ลี้ภัย สัปดาห์ละหนึ่งครั้ง และเสริมทักษะให้อาสาสมัครที่ดำเนินการอยู่ในค่าย สามารถดูแลเบื้องต้นได้ ซึ่งมาตรการเหล่านี้เป็นแนวทางการปฏิบัติเบื้องต้นในช่วงสองเดือน ระหว่างที่รอการหารือของกลุ่มประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active