‘นพ.สมศักดิ์’ ชี้ทางออกสาธารณสุขชายแดน ชูโมเดลจับมือ 3 ฝ่าย ดึงทุนเอเชียแก้ปัญหา

เสนอปรับโครงสร้างระบบสาธารณสุขชายแดน สร้างความร่วมมือ ไทย-เมียนมา-องค์กรระหว่างประเทศ เปิดรับแหล่งทุนในเอเชีย หวังแก้ปัญหาระยะยาว หลังความช่วยเหลือจากชาติตะวันตกเริ่มลดลง ย้ำสุขภาพต้องอยู่เหนือการเมือง

วันนี้ (10 ก.พ. 68) นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ อดีตผู้อำนวยการคนแรกของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข อดีตผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ปี 2557-2558) ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ให้สัมภาษณ์ The Active กรณีปัญหาสาธารณสุขชายแดนและการรับมือค่ายผู้ลี้ภัย

โดยเห็นว่า สถานการณ์ด้านสาธารณสุขในพื้นที่ชายแดน โดยเฉพาะชายแดนฝั่งตะวันตกติดกับเมียนมา ซึ่งมีจุดผ่านแดนหลายแห่ง ปัญหาหลัก ๆ ที่ต้องเผชิญมีอยู่ 2 เรื่องสำคัญ คือ

  • ระบบบริการสาธารณสุข ที่ปัจจุบันยังไม่สามารถให้การดูแลที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

  • สถานการณ์การเมือง ทั้งปัจจัยภายในประเทศ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศล้วนส่งผลต่อระบบสุขภาพในพื้นที่ชายแดน
นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานกรรมการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.)

สำหรับเหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดน จ.ตาก สะท้อนปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไขมาเป็นเวลานานแล้ว เราต้องยอมรับว่าระบบสาธารณสุขของไทยในพื้นที่ชายแดนต้องทำงานร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่ผ่านมา ในช่วงกว่า 30 ปี ที่เมียนมามีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เป็นระยะ ๆ จะเห็นว่ามี 3 ช่วงหลัก ได้แก่

  1. ช่วงที่เมียนมาอยู่ภายใต้รัฐบาลทหาร ในช่วงนี้ระบบสาธารณสุขตามแนวชายแดนต้องพึ่งพาตัวเองเป็นหลัก

  2. ช่วงที่เมียนมามีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง มีโอกาสให้ความร่วมมือด้านสาธารณสุขดีขึ้นบ้าง แต่ก็ยังมีข้อจำกัด

  3. ช่วงหลังการรัฐประหารครั้งล่าสุด เป็นช่วงที่ระบบต่าง ๆ ถูกตัดขาดมากขึ้น ทำให้เกิดปัญหาหนักในพื้นที่ชายแดน

แม้แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน โรงพยาบาลชายแดนของไทยก็ยังคงทำหน้าที่เป็นหน่วยบริการที่ต้องให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ไม่ว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไร หน่วยงานเหล่านี้ไม่เคยทอดทิ้งผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ

นพ.สมศักดิ์ ยังมองว่า ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ ความช่วยเหลือจากต่างประเทศเริ่มลดลงหรือถูกตัดไป ทำให้ต้องคิดหาวิธีใหม่ ๆ ในการดูแลผู้ลี้ภัยและประชากรข้ามชาติในพื้นที่ชายแดน แนวทางหนึ่งที่เป็นไปได้คือการร่วมมือกันระหว่าง 3 ฝ่าย ได้แก่ ไทย, เมียนมา และ องค์กรระหว่างประเทศ เพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพชายแดนทั้งสองฝั่งให้เข้มแข็งขึ้น แทนที่จะตั้งหน่วยบริการแยกจากกัน ซึ่งควรร่วมมือกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

“สิ่งสำคัญคือรัฐบาลไทยต้องเป็นผู้นำในการผลักดันเรื่องนี้ เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมาทำงานร่วมกัน เพื่อให้ระบบสาธารณสุขชายแดนสามารถรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้”  

นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์

นพ.สมศักดิ์ บอกด้วยว่า ปัจจุบันในฝั่งเมียนมาเองก็มีโรงพยาบาลอยู่บ้าง เช่น โรงพยาบาลเมียวดี และโรงพยาบาลของกลุ่มกะเหรี่ยง แต่ยังไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่ ระบบที่ดีขึ้นจะช่วยลดแรงกดดันต่อโรงพยาบาลในไทย ซึ่งทุกวันนี้ก็ต้องรองรับภาระมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปมาก ทุกฝ่ายคงต้องรับฟัง เพราะหากยังคงช่วยเหลือแบบเดิม ระบบก็จะติดอยู่ในวังวนเดิม ๆ เราต้องมองหาทางออกที่ยั่งยืน

“เรื่องสาธารณสุขจริง ๆ แล้วมันควรจะอยู่เหนือการเมืองนะครับ เพราะว่าสุดท้ายแล้ว เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องของมนุษยธรรม ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในเชิงการเมือง คนที่เจ็บป่วยก็ต้องได้รับการรักษา” 

นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์

ทั้งนี้ยังมีประเด็นหลักที่ต้องพิจารณา 3 ข้อ ประกอบด้วย

  1. แนวคิดเรื่องความร่วมมือระหว่างสองฝั่งชายแดน หลายฝ่ายเห็นด้วยว่าวิธีที่ดีที่สุดคือทำให้ระบบสาธารณสุขของแต่ละประเทศเข้มแข็ง ไม่มีใครอยากอพยพมาตั้งแคมป์ที่ชายแดนถ้าประเทศต้นทางมีระบบที่ดีพอ

  2. โครงสร้างการสนับสนุนที่มีอยู่ ที่ผ่านมา ไทยเคยพยายามช่วยเหลือเท่าที่ทำได้ แต่การสร้างระบบที่เป็นทางการและยั่งยืนยังเป็นเรื่องที่ต้องพัฒนา

  3. แหล่งทุนสนับสนุน เดิมทีการช่วยเหลือมักมาจากประเทศตะวันตก แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน อาจถึงเวลาที่ต้องพิจารณาแหล่งทุนจากตะวันออก เช่น จีน หรือ ญี่ปุ่น ซึ่งมีบทบาททางเศรษฐกิจในเมียนมาค่อนข้างมาก และอาจเป็นผู้เล่นสำคัญในระบบสาธารณสุขชายแดนได้

นพ.สมศักดิ์ ยังเชื่อว่า ที่ผ่านมาอาจยังไม่มีใครพยายามพูดคุยกับแหล่งทุนฝั่งเอเชียอย่างจริงจัง แต่ถ้ามองจากสถานการณ์ปัจจุบัน นี่อาจเป็นโอกาสที่จะดึงพวกเขาเข้ามามีส่วนร่วมในเชิงโครงสร้างมากขึ้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active