เผยศูนย์อพยพ 9 แห่ง ยังรับมือได้ ยันไทยพร้อมช่วยผู้ลี้ภัยตามหลักมนุษยธรรม ถก WHO ขอ 3 ล้านดอลลาร์ ช่วยเหลือ หลังสหรัฐฯ ระงับงบฯ พร้อมเร่งประสานกองทุนฝรั่งเศส ขยายประกันสุขภาพ
เมื่อเร็ว ๆ นี้ สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงกรณีที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาประกาศระงับความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยในศูนย์อพยพเป็นเวลา 90 วัน ซึ่งขณะนี้ได้หยุดดำเนินการไปแล้วหลายวัน โดยแสดงความกังวลว่าหากการหยุดให้ความช่วยเหลือยืดเยื้อ อาจส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ในศูนย์อพยพ
โดยในวันที่ 21 ก.พ.นี้ รมว.กระทรวงสาธารณสุข มีกำหนดลงพื้นที่โรงพยาบาลแม่สอด จ.ตาก เพื่อตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ชายแดนด้วย
ยืนยันพร้อมช่วยเหลือตามหลักสิทธิมนุษยธรรม
สมศักดิ์ บอกด้วยว่า เบื้องต้นกระทรวงสาธารณสุขได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่พูดคุยกับผู้ลี้ภัยในศูนย์อพยพทั้ง 9 แห่ง ซึ่งพบว่า ศูนย์เหล่านี้มีสถานพยาบาลสำหรับรักษาผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่หากมีอาการที่เกินขีดความสามารถของศูนย์ฯ ก็จะส่งต่อไปรักษายังโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขในพื้นที่ชายแดน ซึ่งจำนวนผู้ป่วยที่ต้องส่งต่อในขณะนี้ ยังคงอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้
สำหรับข้อกังวลเกี่ยวกับการที่สหรัฐฯ อาจยุติการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยถาวร สมศักดิ์ ระบุว่า ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขไม่ได้มีงบประมาณสนับสนุนโดยตรง เนื่องจากศูนย์อพยพได้รับเงินบริจาคจากแหล่งต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงการสนับสนุนจากสหรัฐฯ โดยรัฐบาลไทยไม่สามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดได้ แต่พร้อมให้ความช่วยเหลือตามหลักสิทธิมนุษยธรรม
ขณะเดียวกัน ยังได้เตรียมแผนรับมือโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้น เช่น อหิวาตกโรค และเท้าช้าง ซึ่งไม่พบการระบาดในประเทศไทยมาระยะหนึ่งแล้ว โดยจะมีมาตรการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคจากศูนย์อพยพสู่ชุมชนโดยรอบ
ขอ WHO สนับสนุนงบฯ 3 ล้านดอลลาร์ต่อปี
ก่อนหน้านี้ รมว.กระทรวงสาธารณสุข ได้นำคณะหารือกับ นพ.จอส ฟอนเดลาร์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย เกี่ยวกับผลกระทบด้านสาธารณสุขในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา ภายหลังสหรัฐฯ ระงับงบประมาณสนับสนุนองค์การ International Rescue Committee (IRC) เป็นเวลา 3 เดือน ส่งผลให้โรงพยาบาลในศูนย์พักพิงชั่วคราวต้องหยุดให้บริการ และมีผู้ป่วยถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันก็ได้หารือกับ Ms. Saima Wazed ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณจาก WHO จำนวน 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เพื่อช่วยเหลือด้านสาธารณสุขสำหรับผู้ลี้ภัย ซึ่ง Ms. Saima ได้รับข้อเสนอนี้ไปหารือกับผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก
องค์การอนามัยโลกยังได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการจัดการด้านสาธารณสุขในระยะกลาง และระยะยาว โดยเฉพาะเรื่องสุขาภิบาลและการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคจากการเคลื่อนย้ายของผู้อพยพ
WHO – ภาคีเครือข่าย เร่งหาแนวทางสนับสนุนระบบประกันสุขภาพ
นพ.จอส ยังเปิดเผยด้วยว่า WHO ได้หารือกับ M-Fund องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ได้รับเงินสนับสนุนจากฝรั่งเศส เพื่อขยายโครงการประกันสุขภาพให้กับผู้อพยพ โดยปัจจุบันยังอยู่ระหว่างพิจารณาว่าหน่วยงานใดจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการประกันสุขภาพดังกล่าว
WHO ยืนยันความพร้อมในการทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขไทย เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้อพยพ และเตรียมมาตรการรับมือหากเกิดการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่ชายแดน ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้ นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประสานความร่วมมือกับ WHO ในประเด็นนี้ต่อไป