พบ รพ.รัฐส่วนใหญ่ รอคิวไม่เกิน 1 แต่บางแห่งรอยาวถึง 4 ปี ขณะที่ ‘ทันตแพทยสภา’ ออกแถลงการณ์ ชี้! ปัญหาคิวทำฟันยาว เหตุหมอฟันไม่เพียงพอ สร้างภาระหนักเกินกว่าที่ควรจะเป็น 3 เท่า แนะใช้บริการคลินิกเอกชนช่วยลดภาระรัฐ
จากดรามาการเข้ารับบริการทันตกรรมที่ต้องรอคิวนานถึง 8 ปี ล่าสุด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี (สสจ.) เตรียมพาผู้ป่วยวัย 62 ปีเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลปากเกร็ด ขณะที่ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะโฆษก สปสช. ระบุว่า ปัญหานี้อาจเกิดจากความคลาดเคลื่อนในการบริหารจัดการคิวของโรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม สปสช. ยืนยันว่าสิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรมในระบบบัตรทองยังคงครอบคลุมตามที่กำหนดไว้
กรณีนี้นำไปสู่คำถามสำคัญเกี่ยวกับระบบบริการทันตกรรมของไทย สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในระบบสาธารณสุข เช่น งบประมาณที่จำกัด และบุคลากรที่ไม่เพียงพอ ซึ่งทำให้เกิดข้อถกเถียงว่าทางออกของเรื่องนี้ควรเป็นอย่างไร
วันนี้ (19 ก.พ. 68) ทพ.วีระ อิสระธานันท์ ทันตแพทย์โรงพยาบาลแม่จัน จ.เชียงราย และ แอดมินเพจ Dr.กล้วย ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Flash Talk ว่า การรักษารากฟันและการทำฟันเทียมเป็นงานหัตถการเฉพาะทางที่ต้องใช้เวลาหลายขั้นตอน ตั้งแต่รักษารากฟัน เคลียร์ช่องปาก ทำพิมพ์ฟันปลอม ไปจนถึงการใส่ฟันปลอมจริง ซึ่งต้องพบทันตแพทย์หลายครั้ง

แม้โรงพยาบาลแม่จัน ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชน จะมีผู้ป่วยจำนวนมากที่รอรับบริการทันตกรรม แต่ก็ยังสามารถบริหารจัดการได้ อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมของระบบสาธารณสุข ปัญหาการรอคิวยาวสะท้อนถึงการขาดแคลนบุคลากร โดยปัจจุบันอัตราส่วนทันตแพทย์ต่อประชากรในโรงพยาบาลรัฐ อยู่ที่ 1 ต่อ 9,000 คน อีกทั้งทันตแพทย์จำนวนมากเลือกทำงานในภาคเอกชนมากกว่าภาครัฐ ส่งผลให้โรงพยาบาลของรัฐขาดแคลนบุคลากรทันตกรรมอย่างต่อเนื่อง
ทางออกหนึ่งที่ ทพ.วีระ เสนอคือ การกระจายบริการรักษารากฟันและทำฟันเทียมไปยังคลินิกเอกชนที่มีศักยภาพ แต่สิ่งนี้เป็นความท้าทายของ สปสช. เพราะจำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณเพื่อจูงใจให้คลินิกเอกชนเข้าร่วมโครงการ ปัจจุบัน คลินิกเอกชนที่รับบัตรทองให้บริการเพียงขั้นพื้นฐาน เช่น อุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน แต่ไม่ครอบคลุมถึงการรักษารากฟันหรือทำฟันเทียม
นอกจากนี้ ทพ.วีระ ยังเสนอแนวทาง ให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการจ่ายค่าบริการบางส่วน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงการดูแลสุขภาพช่องปาก เช่น การสนับสนุนให้คนเข้าพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากและขูดหินปูนทุก 6 เดือน โดยอาจมีระบบรางวัลจูงใจ หากมีประวัติการตรวจสุขภาพฟันที่ดี ก็อาจได้รับสิทธิพิเศษ เช่น ลดค่ารักษาพยาบาลกรณีต้องเข้ารับบริการที่ซับซ้อน เป็นต้น
เผยข้อมูล รพ.รัฐ รอคิวทำฟันนาน 1 – 4 ปี
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจ จาก ทพญ.วรารัตน์ ใจชื่น จากสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับระยะเวลาการรอคิวทำฟันปลอมในโรงพยาบาลรัฐ ณ ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2568 โดยอ้างอิงข้อมูลจาก กองบริหารการสาธารณสุข พบว่า โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมี 885 แห่ง ส่วนใหญ่มีระยะเวลารอคิวไม่เกิน 1 ปี แต่บางแห่งอาจนานถึง 4 ปี
ขณะที่โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีระยะเวลารอคิวเฉลี่ย 2 – 3 ปี นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้ป่วยจำนวนมากเข้าคิวใหม่ทันทีหลังได้รับฟันปลอม เนื่องจากฟันปลอมมีอายุการใช้งานจำกัด โดยสิทธิบัตรทองกำหนดให้สามารถทำฟันปลอมได้ 1 ครั้งต่อ 5 ปี
แนวทางการลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องรอคิวทำฟันปลอม จำเป็นต้องเน้นการป้องกันปัญหาสุขภาพช่องปากตั้งแต่ต้น การส่งเสริมให้ประชาชนใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดูแลสุขภาพฟันเป็นแนวทางสำคัญ นอกจากนี้ ควรเร่งให้มีการอุดฟันและรักษาโรคเหงือกตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เพื่อลดความจำเป็นในการถอนฟันและใส่ฟันปลอมในอนาคต
จากข้อเสนอให้กระจายงานด้านการทำฟันปลอมไปยังคลินิกเอกชนเพื่อลดภาระของโรงพยาบาลรัฐ นั้น ต้องยอมรับว่ายังมีอุปสรรคสำคัญที่ต้องพิจารณา โดยเฉพาะเรื่องต้นทุนค่าฟันปลอมที่แตกต่างกันมาก โรงพยาบาลรัฐมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเพียง 4,400 บาทต่อชุด ขณะที่คลินิกเอกชนอยู่ที่ประมาณ 10,000 บาท ทำให้เอกชนอาจไม่สามารถรับภาระจากรัฐได้โดยไม่มีแรงจูงใจที่เหมาะสม หากมีการกำหนดมาตรการบังคับ อาจส่งผลให้คลินิกเอกชนมีทัศนคติลบต่อระบบบัตรทอง อีกทั้งภาครัฐเองก็ยังต้องรับภาระหลายด้าน ทั้งการป้องกันโรค การรักษา และการจัดการคิวผู้ป่วย
สำหรับการแก้ปัญหาการรอคิวทำฟันปลอมอาจต้องใช้หลายแนวทางควบคู่กัน ทั้งการปรับปรุงระบบบริหารจัดการคิว การรณรงค์ให้ประชาชนดูแลสุขภาพช่องปากเพื่อลดความจำเป็นในการทำฟันปลอม และการหาวิธีจูงใจให้คลินิกเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในระบบโดยที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน

ขณะที่ ทันตแพทยสภา ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับปัญหาผู้ป่วยรอคิวทำฟันเทียมในโรงพยาบาลรัฐนานถึง 8 ปี โดยสาเหตุหลักมาจากจำนวนทันตแพทย์ที่ไม่เพียงพอ เช่น ในจังหวัดที่เป็นข่าว ทันตแพทย์ 1 คน ต้องดูแลผู้ป่วยบัตรทอง ถึง 9,150 คน ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยที่ควรจะเป็นถึง 3 เท่า ส่งผลให้คิวบริการยาวนานเกินไป ทางออกระยะสั้นที่เสนอคือให้ผู้ป่วยใช้บริการคลินิกทันตกรรมเอกชน เพื่อลดภาระภาครัฐ
ขณะที่แนวทางระยะยาว คือ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลรัฐ มหาวิทยาลัย คลินิกเอกชน และหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อให้บริการทันตกรรมอย่างทั่วถึงและลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการรักษา