โจทย์ท้าทายงานป้องกันโรค กทม. บุคลากรไม่พอ-คนเมืองเข้าไม่ถึง-เอกชนติดข้อจำกัด

กรุงเทพฯ แม้เป็นศูนย์กลางของประเทศ แต่การเข้าถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ยังต่ำกว่าต่างจังหวัด พบ ข้อจำกัดด้านบุคลากร โครงสร้างเมือง และ พฤติกรรมประชาชน ขณะที่ คลินิกชุมชนเอกชน เจออุปสรรคจากกฎระเบียบที่ซับซ้อน สปสช. เล็งลงทุนเพิ่มและปรับปรุงระบบให้ยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้การป้องกันโรคมีประสิทธิภาพและลดภาระการรักษาในระยะยาว 

ภก.คณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยกับ The Active กรณีที่สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ตั้งข้อสังเกตว่า สปสช. ใช้งบประมาณส่วนใหญ่ไปกับการรักษาพยาบาล มากกว่าการสร้างเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค (PP) โดยระบุว่า สาเหตุหลักมาจากภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องให้ความสำคัญกับผู้ป่วยก่อน ขณะที่ประชาชนเองยังให้ความสำคัญกับการรักษามากกว่าการป้องกัน

ภก.คณิตศักดิ์ อธิบายว่า ในอดีต โรงพยาบาลและหน่วยบริการต้องรับมือกับผู้ป่วยจำนวนมาก ทำให้บุคลากรต้องใช้เวลาไปกับการรักษาเป็นหลัก การให้บริการด้านการป้องกันโรคจึงมีสัดส่วนน้อยลงโดยปริยาย 

“เมื่อมีผู้ป่วยมาเยอะ เราก็ต้องดูแลผู้ป่วยก่อน ส่วนผู้ที่ยังไม่ป่วย ซึ่งยังไม่มาใช้บริการ ก็ถูกจัดสรรทรัพยากรน้อยลงไป”

ภก.คณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์

ภก.คณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

หากต้องการเพิ่มสัดส่วนงบประมาณสำหรับการป้องกันโรคในอนาคต จำเป็นต้องเพิ่มบุคลากรเฉพาะทางเพื่อดูแลกลุ่มเสี่ยง หรือจัดบริการเชิงรุกมากขึ้น เช่น การส่งทีมไปให้บริการในชุมชน หรือร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคประชาชน

ประชาชนยังขาดความตระหนักเรื่องการป้องกันโรค

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้งบประมาณด้านการป้องกันโรคต่ำ คือ พฤติกรรมของประชาชน ที่มักจะให้ความสนใจเรื่องสุขภาพก็ต่อเมื่อเริ่มมีอาการป่วยแล้ว 

คนที่ยังแข็งแรงมักไม่คิดว่าจะต้องตรวจสุขภาพ หรือคัดกรองโรค ตัวอย่างเช่น คนวัยทำงานบางคนมองว่าการตรวจสุขภาพเป็นเรื่องไม่จำเป็น เพราะต้องการทุ่มเวลาไปกับการทำงานหาเงิน การแก้ปัญหานี้ต้องอาศัยการสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการตรวจสุขภาพตามช่วงอายุ รวมถึงการเข้าถึงบริการคัดกรองโรคได้ง่ายขึ้น”

ภก.คณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์

กรุงเทพฯ ต้องใช้เทคโนโลยีช่วย

ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีข้อจำกัดด้านเวลาของประชาชนและความหนาแน่นของผู้ใช้บริการ แนวทางที่อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันโรคได้ คือการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น

  • พัฒนาแอปพลิเคชันที่ให้ประชาชนคัดกรองสุขภาพเบื้องต้นได้

  • จัดหาอุปกรณ์ เช่น สมาร์ทวอทช์ หรือเครื่องชั่งน้ำหนักที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบสุขภาพ

  • จัดหาชุดตรวจโรคที่ประชาชนสามารถใช้เองที่บ้านและส่งผลตรวจเข้าสู่ระบบ

นอกจากนี้ ควรเชื่อมโยงกับระบบ เทเลเมดิซีน เพื่อให้ประชาชนสามารถปรึกษาแพทย์ได้โดยไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม ภก.คณิตศักดิ์ ยอมรับว่า แนวทางนี้ต้องใช้เงินลงทุนสูง โดยเฉพาะในด้านอุปกรณ์และการพัฒนาระบบ แต่ก็อาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของคนเมือง

การวัดผลงานการส่งเสริมป้องกันโรค ต้องใช้เวลา

สำหรับการวัดผลว่างบประมาณด้านการป้องกันโรคได้ผลหรือไม่ ภก.คณิตศักดิ์ ระบุว่า การสร้างเสริมสุขภาพไม่สามารถเห็นผลได้ในระยะสั้น เช่น การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก อาจต้องใช้เวลาถึง 15 ปีจึงจะเห็นอัตราการลดลงของโรค

ปัจจุบัน สปสช. ใช้วิธีวัดผลจากจำนวนประชาชนที่เข้าถึงบริการ เช่น การคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่เคยมีอัตราการเข้าถึงต่ำ ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็นล้านกว่าคน รวมถึงการฝากครรภ์ที่มีจำนวนผู้เข้ารับบริการเร็วขึ้น

“เป้าหมายของการป้องกันโรค คือการทำให้คนแข็งแรง ไม่กลายเป็นผู้ป่วยรายใหม่ แต่วิธีวัดผลยังมีข้อจำกัด เพราะคนที่ยังไม่ป่วยจะไม่กลับมาให้เราตรวจซ้ำ เราจึงต้องอาศัยการคาดการณ์มากกว่าการวัดผลแบบตรงไปตรงมา”

ภก.คณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์

ภก.คณิตศักดิ์ ย้ำว่า แม้การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคจะยังได้รับงบประมาณน้อยกว่าการรักษา แต่จำเป็นต้องลงทุนมากขึ้นในอนาคต หากมีบุคลากรและเครื่องมือเพียงพอ งบประมาณส่วนนี้ก็จะเพิ่มขึ้นเอง และเมื่อจำนวนผู้ป่วยลดลง บุคลากรที่เคยดูแลผู้ป่วยก็อาจมีเวลามากขึ้นสำหรับงานด้านการป้องกันโรค

“ถ้าเราทำให้คนป่วยน้อยลง งบประมาณด้านการรักษาก็จะลดลงเอง”

ภก.คณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์

โจทย์ท้าทายงานส่งเสริมป้องกันโรคในกรุงเทพฯ 

ทั้งนี้กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นศูนย์กลางของประเทศที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น แต่กลับมีอัตราการเข้าถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคต่ำกว่าต่างจังหวัด โดย นพ.ธีรวีร์ วีรวรรณ ผู้อำนวยการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร บอกว่า แม้ กทม. จะมีหน่วยบริการสุขภาพ เช่น ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิก และโรงพยาบาลมากมาย แต่การเข้าถึงบริการกลับต่ำกว่าต่างจังหวัด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโครงสร้างของเมืองที่มีความแออัดและการใช้ชีวิตของประชากรที่ต้องเดินทางออกไปทำงานในพื้นที่อื่น เช่น ปริมณฑล ทำให้การใช้บริการสุขภาพในเขตที่พักอาศัยลดลง

นพ.ธีรวีร์ วีรวรรณ ผู้อำนวยการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร

อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่สามารถเข้าถึงบริการได้แน่นอนคือ เด็กเล็กก่อนวัยเรียนและเด็กนักเรียน เนื่องจากมีระบบการตรวจคัดกรองผ่านโรงเรียนและชุมชน ขณะที่กลุ่มวัยทำงานซึ่งมีตารางชีวิตที่ยุ่งยาก อาจพึ่งพาสิทธิประกันสังคมเป็นหลัก

ปัจจุบัน กทม. มีประชากรที่มีทะเบียนบ้านประมาณ 5.5 ล้านคน แต่ในความเป็นจริงมีประชากรแฝงรวมกว่า 10 ล้านคน การให้บริการด้านสุขภาพต้องครอบคลุมทุกคน ไม่ใช่เฉพาะผู้ที่มีทะเบียนบ้านเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม กทม. มีศูนย์บริการสาธารณสุขเพียง 69 แห่ง และโรงพยาบาลในสังกัดอีก 11 แห่ง ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชน ทั้งคลินิกและโรงพยาบาลเอกชน เพื่อแบ่งเบาภาระการให้บริการ เช่น การตรวจสุขภาพ การป้องกันโรค และการรักษาพยาบาลเบื้องต้น

มีข้อเสนอให้ปรับลดงบประมาณด้านการป้องกันโรค (PP) มาเสริมงบประมาณด้านการรักษาพยาบาล (OP) แต่ นพ.ธีรวีร์ ชี้ว่าการป้องกันโรคมีต้นทุนต่ำกว่าการรักษา เช่น ค่าวัคซีนหรือการตรวจสุขภาพประจำปีมีค่าใช้จ่ายเพียงหลักร้อยบาทต่อคน ขณะที่ค่ารักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยอาจสูงถึงหลักหมื่นบาท 

การลงทุนในบริการสร้างเสริมสุขภาพ เช่น การตรวจคัดกรองเบาหวาน ความดัน และโรคเรื้อรังอื่น ๆ จะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยในระยะยาว ส่งผลให้ภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลลดลง การส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงสุขภาพของตนเองจึงเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยลดอัตราการเกิดโรคในอนาคต

ทลายข้อจำกัดบริการสร้างเสริมสุขภาพภาคเอกชน 

ปัจจุบัน การให้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (PP) ในกรุงเทพมหานครยังคงมีข้อจำกัดหลายด้าน โดยเฉพาะในส่วนของภาคเอกชนที่ต้องเผชิญกับอุปสรรคทั้งเชิงโครงสร้างและการบริหารจัดการ นพ.ณรงค์พล ห้าวเจริญ โรงพยาบาลไอเอ็มเอช สีลม บอกว่า ที่ผ่านมาคลินิกเอกชนได้สะท้อนปัญหาหลายประการเกี่ยวกับการทำงานด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (PP) โดยเฉพาะในแง่ของกระบวนการดำเนินงานที่ค่อนข้างซับซ้อนและมีข้อจำกัดหลายด้าน ซึ่งส่งผลให้การทำงานไม่สามารถดำเนินไปอย่างราบรื่น

นพ.ณรงค์พล ห้าวเจริญ โรงพยาบาลไอเอ็มเอช สีลม

คลินิกเอกชนมักเผชิญกับปัญหาเรื่องการขออนุมัติพื้นที่ในการดำเนินกิจกรรมเชิงรุก เช่น การออกหน่วยตรวจสุขภาพในชุมชน หรือการให้บริการป้องกันโรคนอกสถานพยาบาล เพราะการดำเนินโครงการในลักษณะนี้ต้องผ่านหลายขั้นตอนของหน่วยงานภาครัฐ ทำให้เกิดความล่าช้า ส่งผลให้บางครั้งไม่สามารถดำเนินกิจกรรมได้ตามแผนที่วางไว้

รวมทั้ง ข้อจำกัดด้านบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งคลินิกเอกชนส่วนใหญ่มีบุคลากรจำกัด การจัดทีมออกให้บริการเชิงรุกมักส่งผลกระทบต่อการให้บริการในสถานพยาบาลหลัก เนื่องจากต้องแบ่งกำลังคนไปทำงานภาคสนาม

นอกจากนี้ กฎเกณฑ์ที่กำหนดให้ต้องมีบุคลากรจำนวนหนึ่งในการลงพื้นที่ ส่งผลให้บางคลินิกไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากขาดบุคลากรเพียงพอ

พื้นที่สำหรับดำเนินกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานภาครัฐ การขออนุญาตใช้พื้นที่เหล่านี้ต้องผ่านกระบวนการราชการที่ซับซ้อน แม้โรงพยาบาลเอกชนและคลินิกหลายแห่งต้องการจัดกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะ เช่น สถานีรถไฟฟ้า สถานที่ราชการ หรือชุมชน แต่กลับติดขัดเรื่องข้อกำหนดและการประสานงาน

การลงพื้นที่ให้บริการสุขภาพเชิงรุกในช่วงเวลาทำงานอาจไม่สอดคล้องกับตารางเวลาของประชาชนในเมือง เนื่องจากผู้ที่ต้องการรับบริการส่วนใหญ่อาจอยู่ระหว่างการทำงาน นอกจากนี้ ผู้ให้บริการเองก็มีข้อจำกัดด้านเวลาทำงานของบุคลากร ทำให้การให้บริการนอกสถานที่เป็นเรื่องยาก

เพื่อแก้ไขข้อจำกัดเหล่านี้ นพ.ณรงค์พลเสนอแนวทางการดำเนินงานที่สามารถช่วยให้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

1. ลดข้อกำหนดเกี่ยวกับจำนวนบุคลากรในการลงพื้นที่

ภาครัฐควรพิจารณาผ่อนปรนกฎเกณฑ์เกี่ยวกับจำนวนบุคลากรที่ต้องใช้ในการออกหน่วยบริการสุขภาพ เพื่อให้การดำเนินงานมีความยืดหยุ่นมากขึ้น คลินิกเอกชนจะสามารถจัดสรรบุคลากรให้เหมาะสมระหว่างการให้บริการภายในสถานพยาบาลและการให้บริการนอกพื้นที่

2. บริหารบุคลากรร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลและคลินิก

โรงพยาบาลและคลินิกสามารถรวมกลุ่มกันเพื่อใช้บุคลากรร่วมกันในการลงพื้นที่ให้บริการสุขภาพ โดยใช้บุคลากรชุดเดิมให้สามารถทำงานได้หลายมิติ วิธีนี้จะช่วยลดภาระของแต่ละหน่วยงาน และทำให้สามารถจัดสรรทรัพยากรได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

3. ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน

หน่วยงานภาครัฐและโรงพยาบาลเอกชนควรมีการประสานความร่วมมือกันมากขึ้น เช่น การใช้พื้นที่ของหน่วยงานรัฐในการดำเนินกิจกรรม คลินิกเอกชนสามารถสนับสนุนบุคลากรและอุปกรณ์เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างราบรื่น

4. ปรับปรุงระบบงบประมาณและแนวทางการใช้จ่าย

ที่ผ่านมา งบประมาณด้าน PP ในกรุงเทพฯ มักมีส่วนที่ไม่ได้ถูกใช้เนื่องจากข้อจำกัดด้านระเบียบและบุคลากร จำเป็นต้องมีแนวทางที่ช่วยให้หน่วยงานที่ต้องการดำเนินโครงการสามารถเข้าถึงงบประมาณได้ง่ายขึ้น และสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นพ.ณรงค์พล มองว่า หากต้องการให้บริการด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคมีประสิทธิภาพมากขึ้น จำเป็นต้องมีการผ่อนปรนกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค และสนับสนุนให้มีการร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนมากขึ้น

การรวมทีมบุคลากรจากหลายหน่วยงานและการบริหารทรัพยากรร่วมกันจะช่วยให้การให้บริการเป็นไปอย่างทั่วถึงและเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้ประชาชนได้รับบริการด้านสุขภาพอย่างสะดวกและครบถ้วนมากขึ้น

“การส่งเสริมสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ หากเราสามารถทำให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีได้ตั้งแต่ต้น จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลระยะยาวได้”

นพ.ณรงค์พล ห้าวเจริญ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active