แพทย์ ห่วง กลุ่มผู้ป่วยโรควิตกกังวล และไมเกรน อาจมีแนวโน้มอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไป หวั่นนำไปสู่โรคเครียด แนะวิธีรับมือ บรรเทาอาการ ย้ำหากยังมีอาการต่อเนื่องนานเกิน 1 สัปดาห์ ควรรีบพบแพทย์
วันนี้ (31 มี.ค. 68) อนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี บอกว่า แผ่นดินไหว ไม่เพียงผลกระทบต่อสิ่งก่อสร้างเสียหาย แต่ยังทำให้พี่น้องประชาชนทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลเผชิญกับภาวะโรคที่มีชื่อว่า “เมาแผ่นดินไหว” หรือ “โรคเวียนหัวหลังแผ่นดินไหว” ทำให้รู้สึกเหมือนตนเองกำลังโคลงเคลง หรือ เคลื่อนไหวอยู่ ซึ่งมีสาเหตุเกิดจากการรบกวนในระบบการทรงตัวของมนุษย์
สำหรับการเผชิญกับภาวะโรคเมาแผ่นดินไหว ในบางรายอาจมีผลกระทบที่รุนแรงและอาจกินระยะเวลาหลายสัปดาห์ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่เป็นโรควิตกกังวล และโรคไมเกรน ซึ่งจะมีแนวโน้มและอาการมากกว่าคนทั่วไป หากมีอาการดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขแนะนำวิธีการบรรเทาโรคเมาแผ่นดินไหว และวิธีจัดการความเครียด ดังต่อไปนี้
วิธีการบรรเทาโรคเมาแผ่นดินไหว
- สูดหายใจเข้า-ออกลึก ๆ ช้า ๆ เหมือนการทำสมาธิ จะช่วยให้ผ่อนคลาย และระบบการทรงตัวจะค่อย ๆ เริ่มกลับมาทำงานอย่างปกติ
- ดื่มน้ำเปล่าสะอาด หรือน้ำขิง และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และคาเฟอีน
- พักสายตาจากหน้าจอมือถือ หยุดการเพ่งหรือจ้องมองหน้าจอเป็นเวลานาน ๆ รวมถึงการไถฟีดข่าว เพราะสายตาจะเห็นการเคลื่อนไหวตลอดเวลา
- มองไปที่จุดไกล ๆ ภาพที่ผ่อนคลายสบายตา เช่น เส้นขอบฟ้า ผืนนา และภาพธรรมชาติต่าง ๆ หรือนอนราบลงจะช่วยทำให้อาการดีขึ้น
- พูดคุยกับผู้อื่นเกี่ยวกับประสบการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อทำให้รู้สึกว่ามีเพื่อนที่เข้าใจและผ่านเหตุการณ์เดียวกันมา
- หลีกเลี่ยงการติดตามข่าวเกี่ยวกับการสูญเสีย หรือจำกัดเวลาในการติดตามข่าว เพราะจะเป็นการกระตุ้นความเครียดได้ง่าย
- หาที่พักที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย หากยังรู้สึกตื่นตระหนกอยู่ ควรไปนอนพักที่ในสถานที่รู้สึกปลอดภัยก่อน
- สามารถกินยาแก้เมารถเพื่อรักษาอาการวิงเวียนศีรษะ แล้วนอนหลับพักผ่อนให้เต็มที่ หากใครที่ปวดศีรษะหลังแผ่นดินไหวสามารถกินยาแก้ปวดรักษาตามอาการได้

ทั้งนี้ประชาชนที่ยังมีความรู้สึกร่วมกับเหตุการณ์แผ่นดินไหว จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน สามารถขอคำปรึกษาผ่านเว็บไซต์ Here to Heal ซึ่งเป็นโครงการระบบบริการปรึกษาด้านสุขภาพจิตออนไลน์ผ่านข้อความแชต เพื่อให้เข้าถึงการบริการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต โดยจะมีข้อแนะนำการดูแลจิตใจตนเองในเบื้องต้น หากยังไม่หายภายใน 1 สัปดาห์ ควรรีบเข้าพบแพทย์ทันที หรือหากต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อไปที่สายด่วน เจ็บป่วยฉุกเฉิน โทร 1669 หรือสายด่วนสุขภาพจิต โทร 1323
ขณะที่ นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต ให้ข้อมูลว่า อาการเวียนหัว ขณะมีเหตุการณ์แผ่นดินไหว หรือแม้กระทั่งแผ่นดินไหวหยุดไปแล้ว เกิดจากความผิดปกติของสมองส่วนกลาง หรือเป็นโรคสมองเมาแผ่นดินไหว คือ กลุ่มอาการวิงเวียนหลังแผ่นดินไหว จึงทำให้รู้สึกเหมือนยังคงเคลื่อนไหวอยู่ ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งสัญญาณเตือนว่าร่างกายยังต้องการการปรับตัว
“ในระยะยาวต้องคอยสังเกตว่าความเครียดความกังวลต่าง ๆ ว่ายังอยู่หรือไม่ เช็กตัวเองว่า มีพฤติกรรม อารมณ์อะไรที่เปลี่ยนไป กำลังกลัวอะไรอยู่ เพราะอาจจะเป็นสัญญาณที่บอกว่ากำลังปรับตัวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ ต้องเข้ารับคำปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ”
นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์
รู้จักโรคสมองเมาแผ่นดินไหว-โรคสมองหลอนแผ่นดินไหว
ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองและระบบประสาท คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก สาระสมองกับ อจ.หมอสุรัตน์ เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 68 ที่ผ่านมาว่า หลังแผ่นดินไหวจบ นอกจากสิ่งก่อสร้างเสียหาย แต่ยังมีอาการตอบสนองต่อร่างกายยังไม่จบเป็นอาการต่อเนื่องด้วย
“กลุ่มอาการเหล่านี้ ที่ญี่ปุ่นรู้ดีเพราะแผ่นดินไหวบ่อย ไทยเรารู้ไว้ด้วยจะได้ สังเกตตัวเองอาการอะไรบ้าง เกิดต่อร่างกายจิตใจหลัง แผ่นดินไหว”
สำหรับ สมองเมาแผ่นดินไหว (Earthquake Drunk) กลุ่มอาการวิงเวียนหลังแผ่นดินไหว หรือ Post-Earthquake Dizziness Syndrome หรือ PEDS) ผู้คนมักอธิบายว่ารู้สึกเหมือนยังคงเคลื่อนไหวอยู่ คล้ายกับความโคลงเคลงที่รู้สึกหลังจากลงจากเรือ ซึ่งบางครั้งเรียกว่า “อาการป่วยจากแผ่นดินไหว” หรือ “จิชิน-โยอิ” (แปลตรงตัวว่า “เมาแผ่นดินไหว” ในภาษาญี่ปุ่น) การศึกษาชี้ว่าอาการนี้อาจเกิดจากการรบกวนในระบบการทรงตัว ซึ่งเป็นส่วนของหูชั้นในที่ควบคุมความสมดุล
การเคลื่อนไหวที่ไม่คาดคิดจากแผ่นดินไหวสามารถทำให้ระบบนี้เสียสมดุล ส่งผลให้สมองพยายามปรับความรู้สึกให้กลับมาปกติอย่างยากลำบาก บางคนอาจมีอาการคลื่นไส้ เวียนศีรษะ หรือรู้สึกไม่สบายตัวร่วมด้วย และอาการนี้อาจรุนแรงขึ้นในคนที่ไวต่อการเมารถอยู่แล้ว หรือในคนที่อยู่ในอาคารสูงระหว่างเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งการสั่นไหวจะรู้สึกชัดเจนกว่า
ระยะเวลาของอาการทางร่างกายเหล่านี้แตกต่างกันไป ในหลายคน อาการวิงเวียนจะค่อย ๆ หายไปภายในไม่กี่นาทีหรือชั่วโมงเมื่อร่างกายปรับตัวได้ อย่างไรก็ตาม การวิจัยหลังแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ เช่น แผ่นดินไหวโทโฮกุ ในญี่ปุ่นปี 2011 (ขนาด 9.0) หรือแผ่นดินไหวคุมาโมโตะในปี 2016 พบว่า บางคนมีปัญหาการทรงตัวนานถึงหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน การศึกษาหนึ่งพบว่า มากกว่า 42% ของผู้ที่ถูกสำรวจรายงานถึง “ความรู้สึกโคลงเคลงที่เหมือนภาพลวงตา” ในช่วงหลายสัปดาห์หลังแผ่นดินไหวคุมาโมโตะ
ห่วงนำไปสู่โรคเครียด หลังเหตุสะเทือนใจ (PTSD)
ส่วนอาการ สมองหลอนแผ่นดินไหว หรือ แผ่นดินไหวทิพย์ earthquake illusion เป็นปรากฏการณ์ทางจิตใจที่รู้สึกเหมือนมีแรงสั่นสะเทือนทั้งที่มันไม่ได้เกิดขึ้นจริง อาจเป็นเพราะความตื่นตัวที่สูงขึ้นหรือความทรงจำจากเหตุการณ์อาการทางจิตสั่นไหว
แผ่นดินไหวสามารถกระตุ้นการตอบสนองต่อความเครียดเฉียบพลัน เช่น ความวิตกกังวล ความกลัว แพนิก บางคนนำไปสู่โรคเครียดหลังเหตุสะเทือนใจ (PTSD) ซึ่งมีอาการเช่น การย้อนนึกถึงเหตุการณ์ ความตื่นตัวเกินเหตุ หรือการนอนหลับยาก กลัวการอยู่ในตึก หรือขึ้นรถไฟฟ้าไปเลย
สาเหตุของอาการเหล่านี้ซับซ้อน น่าจะเป็นสมองพยายามประมวลผลข้อมูลทางประสาทสัมผัสที่ขัดแย้งกัน ตาบอกว่าพื้นดินนิ่ง แต่ระบบการทรงตัวบอกว่าเคลื่อนไหว จนเกิดการพุ่งขึ้นของคอร์ติซอล และอะดรีนาลีนระหว่างและหลังเหตุการณ์สามารถเพิ่มความไวต่อความรู้สึกในร่างกาย ทำให้อาการวิงเวียนหรือคลื่นไส้รู้สึกหนักขึ้น
คนที่เป็นภาวะนี้ ได้แก่ คนมีโรควิตกกังวลหรือประวัติปวดไมเกรน ยังไม่มีวิธีรักษาเฉพาะสำหรับอาการหลังแผ่นดินไหว แต่สามารถใช้วิธีจากอาการเมารถและการจัดการความเครียดได้ การมองไปที่จุดไกล ๆ (เช่น เส้นขอบฟ้า) การนอนลง หรือการจิบน้ำอาจช่วยบรรเทาอาการวิงเวียนในระยะสั้นได้
สำหรับผลกระทบทางจิตใจ การพูดคุยเกี่ยวกับประสบการณ์กับผู้อื่น จะช่วยระบาย หรือหลีกเลี่ยงการดูสื่อเกี่ยวกับเหตุการณ์มากเกินไป นอกจากนี้ กินยาแก้เวียนได้ 2-3 วัน หากใจสั่นจิตตก ทำสมาธิ ไม่ดูข่าวมาก หากมียาช่วยนอน ทานได้ ปรึกษาแพทย์ หากเป็นมากจนแพนิก
‘ชัชชาติ’ ขอประชาชนตั้งสติ ย้ำอาคารโครงสร้างแข็งแรง
วันเดียวกัน ที่ ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์กรุงเทพมหานคร ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงเหตุการณ์ที่มีข่าวประชาชนตื่นตระหนกจากอาคารสั่นไหว โดยระบุว่า เช้านี้มีเหตุการณ์ตื่นตระหนกในหลายอาคาร และมีการอพยพคน ประเด็นแรกต้องมีสติ อย่าตื่นตระหนก เชื่อว่า หลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมาหลายคนยังคงกลัวอยู่ ขอแจ้งว่า After shock ที่เกิดขึ้นส่งผลกับประเทศไทยน้อยมากและมีขนาดเล็กมาก ซึ่งตามหลักแล้วไม่รู้สึกเลย
ประเด็นที่สอง ตึกที่ผ่านแผ่นดินไหวเมื่อวันศุกร์มาได้ น้ำหนักของคนที่ขึ้นไปน้อยมากเมื่อเทียบกับน้ำหนักของโครงสร้าง ตอนนี้น้ำหนักที่ตึกแบกอยู่คือตัวมันเอง ถ้าแบกตัวเองได้โอกาสพังทลายแทบไม่มีเลย
ตัวอย่างเช้านี้ที่อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) มีคนกังวลว่ามีการสั่นไหวจึงเกิดการอพยพออกมา เมื่อดูตัวเลขทางวิทยาศาสตร์แล้ว มีการสั่นไหวเพียง 1 ใน 100 ของแผ่นดินไหวเมื่อวันศุกร์ และอาคารทุกอาคารมีการขยับเขยื้อนอยู่แล้วเมื่อมีแรงลมหรือแรงอื่นกระทำ ขอย้ำว่าต้องตั้งสติให้ดี อย่ากังวลเกินเหตุ
ผู้ว่าฯ กทม. บอกอีกว่า สำหรับอาคารไหนที่พบรอยร้าวใหม่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน หรือเกิดความกังวลจริง ๆ ให้โทรแจ้งมาที่ 1555 กทม. จะส่งคนไปตรวจสอบ แต่รอยร้าวต้องพิจารณาให้ดีเพราะอาจเป็นรอยเก่าที่มีมาก่อนแผ่นดินไหว พร้อมกันนี้ได้สั่งการให้ ผู้อำนวยการเขตทุกเขตเตรียมพร้อมช่วยเหลือประชาชนแล้ว ไม่ประมาท ไม่ละเลย
รองผู้ว่าฯ วิศณุ ได้กล่าวเสริมว่า เรื่องที่ประชาชนกังวลในเรื่องรอยร้าว หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว ที่ประชาชนแจ้งเคสเข้ามากว่า 12,000 กรณี ซึ่งดูจากรูปแล้วประเมินว่า เป็นสีเขียว คือ เป็นรอยร้าวที่ไม่อันตราย เข้าอยู่อาศัยได้ 9,000 กว่าราย ขณะเดียวกันกรณีรอยร้าวที่ประเมินเป็นสีเหลือง ประมาณ 465 กรณี ไปตรวจแล้ว 300 กรณีไม่มีปัญหา แจ้งให้เป็นสีเขียวแล้ว ในส่วนวันนี้ที่เหลือจะดำเนินการตรวจให้หมด คาดว่าไม่น่ากังวล