ทลายข้อจำกัด ความเหลื่อมล้ำสิทธิประโยชน์ 3 กองทุนสุขภาพ แนะ ใช้มาตรฐานเดียวกัน ผ่านชุดสิทธิประโยชน์กลาง หวังสร้างความเป็นธรรม เข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างแท้จริง
วันนี้ (19 พ.ค. 68) สภาองค์กรของผู้บริโภค ร่วมกับ H Focus, สสส. และ The Better จัดเวทีเสวนาเรื่องความเหลื่อมล้ำของสิทธิประโยชน์ใน 3 กองทุนสุขภาพ ได้แก่ กองทุนบัตรทอง, ประกันสังคม และ สวัสดิการข้าราชการ
สิทธิไม่เท่ากัน แม้รัฐดูแลทุกคน
สุรีรัตน์ ตรีมรรคา จากสภาองค์กรผู้บริโภค เปิดเผยว่า ข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2566 ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้มีสิทธิประกันสุขภาพรวม 66.89 ล้านคน โดยแบ่งเป็นผู้ถือบัตรทอง 46.93 ล้านคน ประกันสังคม 12.86 ล้านคน ข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ 5.32 ล้านคน และกลุ่มอื่น ๆ อีกเล็กน้อย
จึงตั้งคำถามว่า แม้ทุกกองทุนดูแลสุขภาพประชาชน แต่สิทธิประโยชน์กลับไม่เท่ากัน เช่น ทำไม ? การรักษา การเบิกจ่าย หรือบริการขั้นพื้นฐานถึงไม่ใช้มาตรฐานเดียวกัน
บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรผู้บริโภค ยกตัวอย่างว่า
• สิทธิประกันสังคม: กรณีคลอดบุตรได้รับเงิน 15,000 บาทต่อครั้ง แต่ทันตกรรมจำกัดปีละ 900 บาท
• สิทธิบัตรทอง: ขูดหินปูน ถอนฟัน อุดฟัน และผ่าฟันคุด ไม่จำกัดครั้งและวงเงิน
• สิทธิข้าราชการ: รักษามะเร็งได้ทุกชนิดทุกที่ แต่ประกันสังคมยังไม่มีความชัดเจนในหลายกรณี
โดยระบุว่า ความเหลื่อมล้ำเหล่านี้สะท้อนความไม่เป็นธรรมในระบบที่ควรดูแลประชาชนอย่างเท่าเทียม

สปสช. ยอมรับ ‘ระบบบริการ’ คือจุดอ่อน
ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการ สปสช. ชี้ว่า สิทธิประโยชน์ของบัตรทองดูเหมือนครอบคลุมกว่า เพราะพัฒนาไปไกลกว่า แต่ปัญหาสำคัญของบัตรทองคือ ระบบบริการในพื้นที่เมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ ที่กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ดูแลโดยตรง ทำให้ขาดความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยบริการ
“หลายพื้นที่ไม่มีการส่งต่อที่เป็นระบบ ปฐมภูมิไปตติยภูมิทันที ทำให้ค่าใช้จ่ายสูง ทั้งที่เจตนาเน้นเข้าถึงง่าย แต่ขาดความต่อเนื่อง”
ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข
ภญ.ยุพดี เสนอว่า ต้องมีระบบต่อรองร่วมกันในการจัดซื้อยาหรือบริการระหว่าง 3 กองทุน และต้องวางฐานงบประมาณจากต้นทุนจริง ซึ่งปัจจุบันใช้ข้อมูลล่าช้าไป 2 ปี
‘บอร์ดแพทย์ประกันสังคม’ เข้าถึงยาก – ขาดข้อมูลวิชาการ
นพ.ณัฐ ศิริรัตน์บุญขจร จากเครือข่ายประกันสังคมก้าวหน้า อธิบายว่า ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเดือนละ 750 บาท แต่การเข้าถึงข้อมูลและการมีส่วนร่วมในการออกแบบสิทธิประโยชน์กลับทำได้ยาก
พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า บอร์ดแพทย์ ซึ่งกำหนดสิทธิการรักษา ไม่มีช่องทางรับฟังจากประชาชน และข้อมูลวิชาการที่จำเป็นต่อการพัฒนาระบบกลับเข้าถึงยาก ทำให้การปรับปรุงสิทธิประโยชน์ล่าช้า
ข้าราชการชี้ ต้องพัฒนาหน่วยบริการให้เท่ากัน
ขณะที่ สิทธิชัย งามเกียรติขจร ผู้อำนวยการกองสวัสดิการรักษาพยาบาล กรมบัญชีกลาง ย้ำว่า ปัญหาหลัก คือ แต่ละกองทุนมีต้นทุนและกลไกงบประมาณต่างกัน แต่หากโรงพยาบาลให้บริการได้มาตรฐานเดียวกันจริง ก็ไม่จำเป็นต้องมานั่งเทียบว่า “สิทธิใครดีกว่าใคร”
ทั้งนี้ยังย้ำว่า ถ้าระบบบริการรัฐดี ตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ และกลไกการจ่ายเงินสอดคล้องกัน ความเหลื่อมล้ำจะลดลงได้มาก
เสนอ ‘โมเดลขนมชั้น’ แยกสิทธิเป็น 3 ระดับ
นพ.ถาวร สกุลพาณิชย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านสวัสดิการสังคม เสนอว่า ไม่ควรยึดติดว่าจะใช้ระบบกองทุนเดียวหรือหลายกองทุน แต่ควรมี ชุดสิทธิประโยชน์กลาง ที่เป็นมาตรฐานร่วมกัน โดยเสนอโมเดล ขนมชั้น แบ่งสิทธิออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่
- ชั้นที่ 1: สิทธิพื้นฐานที่จำเป็นและคุ้มค่า เช่น การส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาและฟื้นฟู
- ชั้นที่ 2: สิทธิเสริมเพิ่มเติมแต่ละกองทุนกำหนดเอง เช่น บริการพิเศษเฉพาะกลุ่ม
- ชั้นที่ 3: บริการตามความสะดวก เช่น ห้องพิเศษ ยาพิเศษ ฯลฯ
นพ.ถาวร เสนอให้ ยึดมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นหลักในการกำหนดสิทธิร่วม พร้อมสร้างระบบปรับสิทธิและราคาอย่างต่อเนื่องทุกปี