ด้าน กสม. รับข้อเสนอ เชิญทุกภาคส่วนหารือคุ้มครองสิทธิคนเดินเท้า เห็นชอบลงดาบผู้ฝ่าฝืนสูงสุดเพิกถอนใบขับขี่
วันนี้ (11 มี.ค. 2565) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับมูลนิธิเมาไม่ขับ จัดการประชุมหารือเพื่อรับฟังความคิดเห็นในการจัดทำข้อเสนอแนะ เรื่อง “สิทธิและความปลอดภัยของคนเดินเท้า” ซึ่งเป็นเวทีต่อเนื่องภายหลัง นพ.อนิรุทธ์ สุภวัตรจริยากุล และ รัชนี สุภวัตรจริยากุล พ่อแม่ของ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อหารือแนวทางการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน จากกรณีการเสียชีวิตของหมอกระต่าย ซึ่งทำให้สังคมเกิดการตื่นตัวในการเรียกร้องสิทธิ์ความปลอดภัยในการข้ามทางม้าลายขึ้นทั่วประเทศ
นพ.อนิรุทธ์ กล่าวว่า ในความรู้สึกของตนเองเหมือนเหตุการณ์เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่วัน ภาพของเหตุการณ์ที่เลวร้ายยังติดอยู่ในใจตลอด การได้รับรู้ว่าสังคมใช้เหตุการณ์นี้ลุกขึ้นมาพูดถึงเรื่องความปลอดภัยของคนใช้ถนน ไม่ได้สร้างความภาคภูมิใจให้กับครอบครัวที่สูญเสีย เพราะต้นทุนในการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้สูงมาก ประเมินค่าไม่ได้ แต่การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างยังเกิดขึ้นไม่มาก หน่วยงานที่มีส่วนรับผิดชอบไม่ได้เข้ามารณรงค์ เข้มงวดกวดขันในเรื่องนี้
“ทุกวันนี้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงทางม้าลายที่ชัดเจน แค่ในจุดเสียชีวิตของหมอกระต่ายเท่านั้น ยังไม่เห็นจุดอื่น ๆ ในกรุงเทพฯ ที่บอกว่ามีกว่า 115 จุด เรื่องของการเพิ่มความปลอดภัยให้กับคนเดินเท้า ผมก็ไม่เห็นว่าต้องใช้งบฯ มากมายอะไร ถ้าเห็นว่าเป็นวาระเร่งด่วน ก็น่าจะเกลี่ยมาพัฒนาตรงนี้”
นพ.อนิรุทธ์ สุภวัตรจริยากุล
ส่วนการเข้าพบนายกรัฐมนตรีก่อนหน้านี้ นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ ยังได้เสนอให้ทุกวันที่ 21 มกราคม ซึ่งเป็นวันที่หมอกระต่ายเสียชีวิต เป็นวันถนนปลอดภัยแห่งชาติ เพื่อให้ทุกภาคส่วนร่วมกันรณรงค์ ลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนน รวมถึงผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ.จราจรทางบก ฉบับที่ 13 ที่คุ้มครองคนเดินถนนมีผลบังคับใช้กับผู้ที่ฝ่าฝืนขับขี่รถโดยประมาท หรือตั้งใจ
สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ …) พ.ศ. …. ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วมของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา คาดว่ามีผลบังคับใช้ประมาณเดือนกรกฎาคม 2565 แต่ไม่ครอบคลุมต่อประเด็นการทำผิดกฎหมายจราจรที่เกี่ยวข้องกับการหยุดรถให้คนข้ามตรงทางม้าลาย
พล.ต.ต. เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 และคณะทำงานแก้ปัญหาจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ยังได้เสนอปรับเพิ่มจากโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท เป็นปรับไม่เกิน 4,000 บาท ซึ่งรวมถึงข้อหาฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจรเส้นทางข้าม (ทางม้าลาย) โดยจะต้องจ่ายค่าปรับก่อนถึงวันต่อภาษีรถยนต์ประจำปี แต่ติดปัญหาการไม่เชื่อมต่อข้อมูลระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เป็นผู้ออกใบสั่ง และกรมการขนส่งทางบกที่เป็นผู้ออกใบอนุญาต ทำให้ผู้ที่ถูกใบสั่งเฉลี่ยปีละ 15 ล้านคน ดำเนินการจ่ายค่าปรับเพียง 10 % เท่านั้น ล่าสุด ได้มีการลงนามกับ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ไปแล้ว คาดว่าจะทำงานได้อย่างเป็นระบบในเร็ว ๆ นี้
ขณะที่ทุกครั้งของกระทำความผิดจะถูกตัดแต้มบนใบขับขี่ หากถูกตัดแต้มจนหมด จะมีการเพิกถอนใบขับขี่ทุกประเภทเป็นเวลา 90 วัน จงใจฝ่าฝืน เพิกถอนใบอนุญาตทันทีตั้งแต่ครั้งแรก 60 วัน หากจงใจกระทำผิดซ้ำ เพิกถอนใบอนุญาตเป็นเวลา 3 ปี เมื่อครบกำหนดพักโทษจะต้องผ่านการอบรมกับกรมการขนส่งทางบก ตามประเภทความผิดที่ฝ่าฝืน ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนขับขี่อย่างระมัดระวังมากขึ้น
“วิธีนี้จะทำให้คนรวย คนจน มี 12 แต้มเท่ากันหมด และถ้าเป็นข้าราชการตำรวจ ท่าน ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ตั้ง คกก. สอบสวนเพิ่มเติมทางวินัย นอกจากกฎหมายอาญา ส่วนเงินค่าปรับจากกล้องจราจร ครึ่งหนึ่งให้กับท้องถิ่น อีกครึ่งเข้ากองทุนใช้สร้างระบบป้องกัน และความปลอดภัยทางถนน บวกกับมาตรการเชิงรณรงค์ที่เรากำลังมีจุดเริ่มต้นจากหมอกระต่าย ผมเชื่อว่าถนนปลอดภัยจะเกิดขึ้นในไม่ช้า”
พล.ต.ต. เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ
ขณะที่ปัญหาด้านลักษณะทางกายภาพ บนทางเท้าและถนน นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน เสนอว่า นอกจากการขีดสี ตีเส้นบนถนนแล้ว ควรกำหนดสปีดโซน สัญญานให้ผู้ขับขี่ลดความเร็วระยะ 80-100 เมตร ก่อนถึงทางม้าลาย เพราะปัญหาการจราจรของประเทศไทย คือ มีหลายช่องทาง ขณะที่ฟังก์ชันการระบายรถ ระบายคน บนถนนก็ยังขัดแย้งกัน เช่น การยกเลิกไฟสัญญาณคนเดินข้ามถนนช่วงการจราจรเร่งด่วน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของความประมาท และเกิดอุบัติเหตุ