‘เครือข่ายภาคประชาสังคมคุ้มครองเด็กและเยาวชน’ ยื่นหนังสือร้องเรียนกระทรวง พม. “หยุดคุกคามเด็ก” จี้ ทบทวนบทบาทหน้าที่ กรณีสนับสนุนการจับกุมเด็กใกล้พื้นที่รับเสด็จโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
วันนี้ (18 เม.ย. 2565) เครือข่ายภาคประชาสังคมคุ้มครองเด็กและเยาวชน ซึ่งประกอบด้วยองค์กรที่ทำงานเรื่องเด็กและเยาวชนในประเทศไทยจำนวน 8 องค์กร ได้รวมตัวกันยื่นหนังสือร้องเรียนพร้อมกับรายชื่อองค์กรสนับสนุนกว่า 100 องค์กร และประชาชนทั่วไปกว่า 800 คน ให้กับ กรมกิจการเด็กและเยาวชน และ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพื่อร้องเรียนในกรณีเจ้าหน้าที่ของกระทรวงฯ พม. ได้อำนวยการให้มีการจับกุมควบคุมตัวเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 3 คน เมื่อวันที่ 15 เม.ย. ที่ผ่านมา ขณะนั่งทานอาหารอยู่ที่ร้านแมคโดนัลด์ สาขาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยคาดว่ามีเหตุจากกิจกรรมรอรับเสด็จในเวลาใกล้เคียงกัน
หนังสือร้องเรียนดังกล่าวมีใจความว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่กระทรวงฯ เป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ซึ่งปรากฎข้อเท็จจริงว่า เจ้าหน้าที่กระทรวงฯ ใช้คำพูด ท่าทาง การแสดงออก และการกระทำในเชิงสัญลักษณ์เพื่อข่มขู่ คุกคาม ทำให้เด็กหวาดกลัว การเชิญตัวหรือนำตัวไปโดยใช้กำลังบังคับอุ้ม อันไม่ปรากฎหลักฐานของความผิดหรือการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม คือการทำผิดหลักการและเจตนารมณ์ของ มาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กฯ
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่กระทรวงฯ ยังมีพฤติการณ์ที่เป็นการกระทำในลักษณะบังคับข่มขู่ทางร่างกายและจิตใจต่อเด็ก ทั้งการบังคับฝืนใจเด็กให้ปฏิบัติตามโดยไม่รับฟังถึงเหตุผล การกระทำเหล่านี้นอกจากจะทำให้เกิดผลทางตรงต่อสภาพจิตใจของเด็ก ยังอาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างต่อเนื่องต่อสุขภาพจิตของเด็กในระยะยาว
ในหนังสือร้องเรียนยังระบุอีกว่า เจ้าหน้าที่ของกรมกิจการเด็กและเยาวชน ได้กระทำการละเมิดหลักการของอนุสัญญาสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ ข้อที่ 12 ว่าด้วยสิทธิในการมีส่วนร่วมและการแสดงความคิดเห็นอย่างสันติโดยได้รับการรับฟัง และข้อที่ 15 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่มหรือชุมนุมโดยสงบ เนื่องจากประเทศไทยได้ลงนามรับรองในการประกันสิทธิดังกล่าว การลงนามจึงมีผลผูกมัดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องเคารพ ปฏิบัติตาม หรืออำนวยการให้การแสดงออกถึงสิทธิดังกล่าวเป็นไปได้อย่างปลอดภัย
หนังสือร้องเรียนดังกล่าว มีข้อเรียกร้องให้ กรมกิจการเด็กฯ ในฐานะ “พนักงานเจ้าหน้าที่” ต้องยืนยันอำนาจสูงสุดของตนในการคุ้มครองเด็ก และเรียกร้องให้กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวง พม. รวมถึงหน่วยงานความมั่นคง ตำรวจที่เกี่ยวข้องต้องแสดงความรับผิดชอบอย่างจริงจัง ในการให้ความช่วยเหลือเยียวยาเด็กและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบโดยทันที เพื่อลดและป้องกันผลกระทบทางด้านจิตใจ
การยื่นหนังสือร้องเรียน มีตัวแทนกรมกิจการเด็กและเยาวชน และกระทรวง พม. โดย อังคณา ใจกิจสุวรรณ รองปลัดกระทรวง และ อุไร เล็กน้อย ผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ เป็นผู้มารับหนังสือพร้อมกล่าวว่าจะรับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวไปดำเนินการต่อ และจะแจ้งให้ทางเครือข่ายฯ ทราบต่อไป
ทั้งนี้ ทางเครือข่ายฯ ระบุว่า จะส่งหนังสือร้องเรียนดังกล่าวถึงองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องด้วย อาทิ ผู้แทน UNICEF, ผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ประจำประเทศไทย, คณะกรรมการด้านสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNCRC Committee), คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน โดยหลังจากนี้จะติดตามตรวจสอบผลการดำเนินการของกรมกิจการเด็กและเยาวชนในกรณีดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ซึ่งต้องการทราบความชัดเจนภายใน 3 เดือน
สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เครือข่ายภาคประชาสังคมคุ้มครองเด็กและเยาวชน ระบุว่า เมื่อวันที่ 15 เม.ย. 2565 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อช่วงเวลาราว 11.45 น. “พิงค์” อายุ 13 ปี และเยาวชนอีก 2 ราย อายุ 16 ปี และ 17 ปี ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจราว 20 – 30 นาย และเจ้าหน้าที่ของกระทรวง พม. เข้าควบคุมตัวขณะกำลังนั่งทานอาหารอยู่ที่ร้านแมคโดนัลด์ สาขาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เบื้องต้นคาดว่ามีเหตุจากกิจกรรมรอรับเสด็จในช่วงบ่าย จัดโดยกลุ่มมังกรปฏิวัติ
จากวีดิโอที่ พิงค์ บันทึกเหตุการณ์ไว้ พบว่ามีเจ้าหน้าที่ พม. เข้าพูดคุยกับเธอก่อน โดยตกลงกันว่า หากเธอกินอาหารด้วยท่าทีที่สงบก็ไม่เป็นไร เขาจะขอนั่งเฝ้าเฉย ๆ แต่ถ้ามีการท่าทีที่ไม่เหมาะสม เจ้าหน้าที่จะต้องเชิญตัวไป แต่ในทันทีที่เจ้าหน้าที่ พม. พูดคุยเสร็จ ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบได้เข้ามาสั่งให้เธอไปกับเจ้าหน้าที่ทั้งที่ พิงค์ ยังกินข้าวไม่เสร็จ โดยระบุว่าเธอมีท่าทีก่อกวน และเคยมีประวัติมาก่อนด้วย
เมื่อ พิงค์ ไม่ยินยอมและตั้งคำถามว่าเธอก่อกวนอย่างไร ตำรวจในเครื่องแบบซึ่งระบุว่ากำลังปฏิบัติหน้าที่อารักขาขบวนเสด็จ บอกว่า การพูดลักษณะนี้เป็นการก่อกวน ขอเชิญออกนอกพื้นที่ ไม่อย่างนั้นจะดำเนินคดีตามกฎหมาย จากนั้น ชุดควบคุมฝูงชน (คฝ.) หญิง ได้เข้าควบคุมตัวพิงค์ซึ่งเริ่มร้องไห้ ก่อนอุ้มเธอขึ้นรถตู้ตำรวจ เจ้าหน้าที่คนหนึ่งบอกเธอว่าจะพาไปกินโจ๊กที่ศาลาว่าการ กทม. แต่แล้วเจ้าหน้าที่กลับพาพิงค์ไปควบคุมไว้ที่กระทรวง พม. ถนนกรุงเกษม โดยมีเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ถูกควบคุมตัวจากร้านแมคโดนัลด์มาที่ พม. ตามหลังพิงค์มาอีก 2 คน
ขณะถูกควบคุมตัวอยู่ที่กระทรวง พม. ตำรวจยังได้ยึดโทรศัพท์มือถือของ 1 ในนักกิจกรรม อ้างว่าอยู่ในพื้นที่ของกระทรวง พม. จึงมีอำนาจ แต่ก็ได้คืนให้ในเวลาต่อมา กระทั่งเวลา 12.44 น. ทั้ง 3 คน ถูกควบคุมตัวขึ้นรถไปยังสโมสรตำรวจ ถนนวิภาวดีรังสิต โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าที่หน้ากระทรวง พม. มีกลุ่มผู้ชุมนุมมารวมตัวกันเพื่อให้กำลังใจเยาวชนทั้ง 3 คน จึงจำเป็นต้องย้ายสถานที่เพื่อความปลอดภัย เมื่อมาถึงสโมสรตำรวจเจ้าหน้าที่แจ้งว่า จะทำประวัติของเยาวชนทั้ง 3 คน และได้ติดต่อให้ผู้ปกครองเดินทางมารับตัว แต่ภายหลังตำรวจได้เปลี่ยนเป็นลงบันทึกประจำวันแทนการทำประวัติ จากนั้นได้ปล่อยตัวเยาวชนทั้งสามในเวลาประมาณ 18.00 น. โดยไม่มีการดำเนินคดีใด ๆ พร้อมมอบสำเนาบันทึกประจำวันมาให้ด้วยหลังจากได้รับการปล่อยตัว เยาวชน 2 ราย ได้เดินทางไปยังสถานีตำรวจนครบาลชนะสงครามเพื่อแจ้งความดำเนินคดีต่อไป