วช. จับมือ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ศึกษาวิจัย นวัตกรรมยุติธรรมลดกระทำผิดซ้ำ ในเด็กและเยาวชน ผนึกกำลังผู้ประกอบการ แก้ไขปัญหายาเสพติด สร้างโอกาสพาเด็กกลับสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ
กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน รายงานสถิติการกระทำผิดของเด็กและเยาวชนประจำปี 2563 มีจำนวน 19,470 คดี ส่วนใหญ่เป็นฐานความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จำนวนถึง 9,600 คดี หรือร้อยละ 49.31 ของคดีทั้งหมด สะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. ร่วมกับโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ขับเคลื่อนนวัตกรรมยุติธรรมท้าทายไทย ภายใต้แผนงานขยายผลการวิจัยสู่การปฏิบัติเพื่อการเปลี่ยนแปลงการอำนวยความยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จากกรอบการวิจัยทางด้านกฎหมาย นิติวิทยาศาสตร์ และฐานข้อมูล เพื่อให้สามารถสะท้อนถึงผลสัมฤทธิ์ที่พึงประสงค์เกี่ยวกับการอำนวยการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนที่มีการบูรณาการ ทั้งในเชิงกฎหมาย การใช้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยทางนิติวิทยาศาสตร์ และการสร้างเครือข่ายภาคประชาชนที่เข้มแข็ง
วันนี้ (26 พ.ค. 2565) โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดเสวนา “นวัตกรรมการอำนวยความยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชน” ภายใต้แผนงานขยายผลการวิจัยสู่การปฏิบัติเพื่อการเปลี่ยนแปลงการอำนวยความยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เพื่อต่อยอดและขยายผลนวัตกรรมการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของการอำนวยความยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนสู่การประยุกต์ใช้ในเชิงปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงประเมินผลสำเร็จของการนำนวัตกรรมการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของการอำนวยความยุติธรรมสู่การปฏิบัติจริง
ศาสตราจารย์ พลตำรวจตรีหญิง พัชรา สินลอยมา ที่ปรึกษาคณะตำรวจศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ และผู้บริหารจัดการโครงการวิจัย ระบุว่า โนับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีระบบฐานข้อมูลการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนที่แยกออกจากฐานข้อมูลของผู้ใหญ่ โดยขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือของ 4 หน่วยงานใหญ่ ได้แก่ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กรมคุมประพฤติ และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์
โดยเป็นการพัฒนาหลักสูตรทักษะทางอาชีพทั้ง Hard Skill และ Soft Skill ที่ตรงตามความถนัดของเด็กและเยาวชนและความต้องการของตลาดอาชีพ รวมทั้งการบูรณาการความร่วมมือของภาคีเครือข่ายสถานประกอบการกว่า 25 แห่ง ที่พร้อมจะมอบโอกาสในการฝึกประสบการณ์วิชาชีพจากสถานที่จริง สภาพแวดล้อมจริง และสถานการณ์จริง รวมถึงการเพิ่มโอกาสในการมีงานทำ มีอาชีพ และมีรายได้ที่เหมาะสมเมื่อได้รับการปล่อยตัวกลับคืนสู่สังคม
“เด็กและเยาวชนเปรียบเสมือนต้นกล้าที่รอวันเติบใหญ่เป็นอนาคตของชาติ ผู้ใหญ่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจึงต้องบูรณาการความร่วมมือในการสนับสนุนโอกาสและการชี้นำแนวทางที่เหมาะสม เพื่อให้เด็กและเยาวชนเหล่านี้ที่จะอยู่ในสังคมต่อไปอีกไม่ต่ำกว่า 50 ปี เกิดความตระหนักในคุณค่าชีวิต เกิดความมุ่งมั่นในการกลับตนเป็นคนดี มีความพร้อมที่จะกลับคืนสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ และไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก”
ด้าน พ.ต.ต. ปริญญา สีลานันท์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ระบุว่า โจทย์ท้าทายการทำงานครั้งนี้ คือ จะทำอย่างไรให้เด็กกลุ่มที่เคยหลงผิดหรือ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เคยได้รับการฝึกอบรมแล้วออกมาแล้วไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดหรือ กระทำผิดซ้ำอีก จากการทำวิจัยพบว่าเยาวชนที่กระทำผิดมีพื้นฐานปัญหาคือไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้
“การหาโอกาสและเพิ่มโอกาสให้เขาได้เห็นถึงคุณค่าตัวเองและได้เห็นถึงศักยภาพความสามารถของตัวเอง ขณะเดียวกันก็ให้สถานประกอบการ ชี้ว่าทักษะใดที่สถานประกอบการต้องการ ส่วนเราก็เป็นตัวกลางในการหางานหาอาชีพให้เขาเพราะเขามีงานและอาชีพเขามีรายได้เขาก็จะไม่กลับไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด นี่ก็คือโจทย์ท้าทายของการทำวิจัยชิ้นนี้”
สอดคล้องกับ กัลยรัตน์ ดวงรัตนเลิศ ตัวแทนสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการวิจัย ระบุว่า ภาครัฐมีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหา เพราะมีฐานข้อมูลอยู่กับกฎหมาย อยู่กับเด็กมากกว่า ในกรณีที่เด็กทำผิด ส่วนภาคเอกชนมีความสำคัญ ที่จะช่วยเด็กเมื่อเขาจะต้องออกไปข้างนอกที่สำคัญคือเขาต้องมีงานและมีเงินเลี้ยงชีพเพื่อที่เขาจะต้องไม่กลับไปทำซ้ำหรือกลับไปอยู่ที่เดิม
“ฉะนั้นการประสานงานทางภาครัฐและเอกชนร่วมกันจะทำให้ สามารถแก้ไขทั้งขณะที่ตัวเด็กอยู่ข้างในที่กักตัว ให้เขาได้มีโอกาสฝึกฝนตัวเองจนวันที่เขาเดินออกมา มีเอกชนรองรับไม่ว่าจะเป็นเรื่อง งานที่ทำการฝึกงานหรือแม้กระทั่งการเป็นพี่เลี้ยงเพื่อให้เกิดความมั่นคงยิ่งขึ้น”
พ.ต.ต. ปริญญา ระบุว่า ในเรื่องของกฎหมายช่วยในการกำกับติดตามควบคุมดูแลได้ระดับหนึ่ง แต่การที่จะทำให้กลุ่มเด็กและเยาวชนกลับคืนสังคมได้ จะต้องมีอย่างอื่นที่ร่วมด้วย ที่ทำแล้วเกิดประโยชน์ต่อตัวเขา นั่นก็คือเรื่องของโอกาส