คุ้มครองสิทธิ ‘แรงงานข้ามชาติ-เด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ’

คสช. เห็นชอบ มติสมัชชาสุขภาพ หวังเป็นพื้นฐานปกป้องสุขภาพคนไทยหนุนฟื้นเศรษฐกิจ ตามพันธกิจระหว่างประเทศ พร้อมตั้งคณะกรรมการสนับสนุนฯระดับพื้นที่ ตั้งเป้าสร้าง “ระบบสุขภาพที่เป็นธรรม” ใน 5 ปี 

วันนี้ (11 ก.ค. 2565)  ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 4/2565 สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองประธานคสช. เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบต่อ มติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วยการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มแรงงานข้ามชาติ และ มติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วย การเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติโดยมอบหมายให้ สช. เสนอทั้ง 2 มติฯ ดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อทราบ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการตามภาระหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อไป

สำหรับสาระสำคัญของมติฯ “การเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มแรงงานข้ามชาติ” มีเป้าหมายส่งเสริมให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงระบบบริการสุขภาพมากขึ้นตามหลักสิทธิมนุษยชน และเป็นพื้นฐานสำคัญในการปกป้องสุขภาพคนไทยจากระบาดของโรคโควิค-19 และโรคระบาดอื่นๆ ในอนาคต รวมทั้งเพิ่มคุณภาพชีวิตของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เพราะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจไทย โดยมีข้อเสนอ เช่น บูรณาการแรงงานข้ามชาติเข้าสู่นโยบายพัฒนาประเทศ พัฒนาหลักประกันสุขภาพที่มีคุณภาพครอบคลุมแรงงานข้ามชาติทุกกลุ่ม พัฒนาการบริการสุขภาพปฐมภูมิเชิงรุกและมีอาสาสมัครครอบคลุมแรงงานข้ามชาติ ตลอดจนพัฒนาฐานข้อมูลให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งระบบ เป็นต้น

ขณะที่มติฯ “การเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติ” มีเป้าหมายเพื่อดูแลสุขภาพของคนทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย และดำเนินการตามพันธสัญญาระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเข้าร่วม โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย จำนวนกว่า 1 แสนคน ที่เข้าไม่ถึงสิทธิด้านสุขภาพ โดยมีข้อเสนอ เช่น ให้มีการพัฒนามาตรการจดทะเบียนทันทีหลังการเกิดเพื่อรับรองสิทธิให้เข้าถึงบริการสุขภาพของเด็กและเยาวชน ปรับปรุงกฎหมาย พัฒนาบริการสาธารณสุขและสิทธิประโยชน์ทางการแพทย์ที่จำเป็นขั้นพื้นฐาน พัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศและจัดการฐานข้อมูลร่วมกัน เป็นต้น

สาธิต  เปิดเผยว่า สุขภาพเป็นเรื่องของทุกคนในสังคม ซึ่งผู้ที่ทำงานในด้านสาธารณสุขเองก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ที่ล้วนมีบทบาท ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค รวมถึงการดูแลซึ่งกันและกัน เช่นเดียวกันกับบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยที่อยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นแรงงานข้ามชาติคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ทั้งผู้ใหญ่ เด็ก เยาวชน รวมถึงคนที่อยู่ระหว่างพิสูจน์สถานะทางทะเบียนราษฎร์

“จากการระบาดของโควิด-19 ให้บทเรียนที่สำคัญกับเราว่าโรคติดต่อไม่เลือกเชื้อชาติ สัญชาติ เพศ วัย ดังนั้นการดูแลสุขภาพของทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย จึงเป็นมาตรการขั้นพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อการดูแลสุขภาพคนไทยทุกคน ดังคำกล่าวที่ว่า no one safe until everyone is safe ซึ่งมติสมัชชาสุขภาพฯ ทั้งสองประเด็นนี้ ถือเป็นการสร้างความเสมอภาคด้านสุขภาพ ที่เป็นพื้นฐานสำคัญต่อความมั่นคงในระบบสุขภาพของประเทศ และมุ่งสู่สังคมไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

(ซ้าย) สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข  (ขวา)​ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่าข้อเสนอเชิงนโยบายฯ ทั้ง 2 ประเด็นนี้ ได้ผ่านกระบวนการพัฒนาจากข้อมูลทางวิชาการที่รอบด้าน การจัดรับฟังความคิดเห็นในหลายเวที ซึ่งดำเนินมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ช่วงเดือน ส.ค. 2564 จนกระทั่งเข้าสู่การพิจารณาพร้อมกันของสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2565 ซึ่งภาคีสมัชชาสุขภาพทั่วประเทศได้ร่วมกันให้ฉันทมติและรับรองข้อเสนอเชิงนโยบายของทั้ง 2 ประเด็นดังกล่าว โดยหลังจากนี้ ทาง สช. ก็จะเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมได้ต่อไป

ขณะเดียวกันที่ประชุม คสช. ยังได้มีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการสนับสนุนและติดตามการขับเคลื่อนตามมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วยการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มแรงงานข้ามชาติ และกลุ่มเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติ โดยมี ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ เป็นประธานกรรมการ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ เป็นรองประธานกรรมการ เพื่อทำหน้าที่ให้เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินงานตาม 2 มติฯ ดังกล่าว ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นระบบสอดคล้องกับสถานการณ์ และสามารถสานพลังบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันทั้งภาครัฐ ภาควิชาการวิชาชีพ และภาคประชาสังคม ในระดับนโยบายและขยายลงสู่พื้นที่ปฏิบัติการ

นอกจากนี้ ที่ประชุม คสช. ยังได้มีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการสนับสนุนและติดตามการขับเคลื่อนธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ซึ่งมี นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา เป็นประธาน โดยมีหน้าที่เพื่อสนับสนุนให้กระบวนการขับเคลื่อนธรรมนูญฯ ฉบับที่ 3 ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมาย “ระบบสุขภาพที่เป็นธรรม” ในระยะ 5 ปี

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS