หยุดสร้างภาพจำ ‘ความรุนแรง’ บทเรียน คฝ.โชว์คุมม็อบ ‘งานวันเด็ก’

‘นักสิทธิเด็ก’ ชี้ ผู้ใหญ่มอบของขวัญวันเด็ก ด้วยกิจกรรมความรุนแรง สะท้อนวิสัยทัศน์ติดลบ ขณะที่ ‘ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านความมั่นคง’ ย้ำเข้มงวดกรอบ กติกา ป้องกันเด็กเห็นภาพ พฤติกรรม ไม่เหมาะสม เสนอรัฐบาล ฝ่ายความมั่นคง รับฟังคำวิพากษ์ วิจารณ์ เปลี่ยนวิธีคิด หลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กสัมผัสความรุนแรง

ภาพจากเฟซบุ๊ก Asama Mungkornchai


กรณีการจัดงานวันเด็กของ สถานีตำรวจภูธรเมืองนราธิวาส ซึ่งจัดกิจกรรมสาธิตการปราบปรามฝูงชน โดยให้เด็กร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมสาธิตดังกล่าว ซึ่งภาพที่เกิดขึ้น และสิ่งที่ถูกสื่อสารออกมา คือเจ้าหน้าที่แต่งชุดควบคุมฝูงชนถือโล่ แบ่งแนวปะทะออกเป็นสองฝั่งกับประชาชน พร้อมทั้งคำพูดว่า “น้อง ๆ ฟันน้ำนม สามารถมาตีโล่ได้นะครับ” นำไปสู่การตั้งคำถาม และกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมจากสังคมอย่างหลากหลายนั้น

มูฮัมหมัดรุสดี เชคฮารูณ รองโฆษกพรรคประชาชาติ โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า “งานวันเด็กที่นราธิวาส ให้ คฝ.มาสาธิตการปราบจลาจล!!  คิดว่าเหมาะสมหรือไม่ ที่นำความรุนแรงมาแสดงในงานวันเด็ก? งานวันเด็กควรเป็นกิจกรรมให้เด็กได้แสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ไม่ควรมีรถถัง อาวุธสงคราม และความรุนแรงอยู่ในงาน”

รศ.ปณิธาน วัฒนายากร ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านความมั่นคง เปิดเผยกับ The Active ว่า กิจกรรมโดยทั่วไปของฝ่ายความมั่นคง ต้องการสื่อสาร และส่งเสริมสนับสนุนให้คนรู้จักภารกิจ หน้าที่ในการรักษาความสงบ ความปลอดภัย ความเรียบร้อย ของประเทศเป็นหลัก เน้นให้เยาวชน รักชาติ รักแผ่นดินเกิด ผูกพันอยู่กับเรื่องของชาติ แต่ก็มีประเด็นที่ไปสนับสนุนอาชีพทหารเพื่อเพิ่มบทบาททหาร ซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง ถึงความเหมาะสม รวมทั้งความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ เกิดขึ้นเป็นระยะทุกปี และคาดว่าสิ่งเหล่านี้น่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามกระแสของสังคมและสงครามโลก

“นี่เป็นประเด็นที่เกิดขึ้นอยู่แล้วทุกปี แต่บางปีก็จะมีประเด็นที่ละเอียดอ่อนมากขึ้น อย่างปีนี้ก็มีประเด็นเฮลิคอปเตอร์ ที่ทำให้เต็นท์เสียหาย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งเป็นความบกพร่อง และต้องแก้ไขรับผิดชอบ”

บทเรียนฝ่ายความมั่นคง หลีกเลี่ยงทำให้เด็ก ‘สัมผัสความรุนแรง’

สำหรับกรณีการแสดงควบคุมฝูงชน ถือว่ายังไม่ค่อยเห็นมากนัก จึงต้องไปดูว่าการแสดงดังกล่าวมีกรอบ และกติกาอย่างไร เพื่อไม่ให้เด็กเห็นภาพที่ไม่เหมาะสม เพราะความรุนแรงเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นจากหน้าจอ หรือสถานการณ์จริง ควรต้องคัดกรอง ควบคุมไม่ให้เด็กสัมผัสเรื่องเหล่านี้ โดยพื้นฐานแล้วจะไม่สนับสนุนความรุนแรง

รศ.ปณิธาน วัฒนายากร ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านความมั่นคง

“กรณีที่ถูกสังคมวิพากย์ วิจารณ์ ว่าไม่เหมาะสม ฝ่ายความมั่นคงต้องรับฟัง และต้องดูรายละเอียดจริง ๆ เป็นเรื่องที่ทำให้ประชาชนไม่สบายใจ กลายเป็นว่าเด็ก ก็มีท่าทีโต้ตอบ ทั้ง ๆ ที่บางครั้งอาจจะเป็นกิจกรรมที่ถูกต้องในการควบคุมฝูงชนถ้าหากทำผิดกฏหมาย แต่เรื่องเหล่านี้ ไม่เหมาะสำหรับเด็ก และกิจกรรมที่ใช้กำลัง เป็นเรื่องละเอียดอ่อน”

นักวิชาการด้านความมั่นคง ระบุเพิ่มเติมว่า ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความรุนแรงเกิดขึ้นต่อเนื่องกว่า 20 ปีแล้ว เด็กที่โตในบรรยากาศเช่นนี้ ไม่ควรที่จะได้สัมผัสบรรยากาศความรุนแรงที่เกินเลย เพราะในพื้นที่มีปัญหาเรื่องความรุนแรงอยู่แล้ว หลายคนเป็นครอบครัวของผู้สูญเสีย หลายคนเป็นเหยื่อของความรุนแรงในพื้นที่ กิจกรรมที่เกิดขึ้นจึงสะท้อน ว่า การพูดคุย และการวางแนวทางควรจะต้องรับฟังให้มากขึ้น

รศ.ปณิธาน จึงเสนอให้รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคง รับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ พร้อมนำไปถอดบทเรียนจากสิ่งที่เกิดขึ้น ควรจะต้องปรับเปลี่ยน หลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กสัมผัสความรุนแรงเหล่านี้ ตามแนวทางและกติกาที่มีอยู่แล้ว

สร้างภาพจำความรุนแรงแก่เด็ก ย้ำวิสัยทัศน์เจ้าหน้าที่ติดลบ

ขณะที่ ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย)บ้านกาญจนาภิเษก บอกว่า กรณีที่เกิดขึ้น เป็นภาพที่สะท้อนความซ้ำซากของวิสัยทัศน์เจ้าหน้าที่ ในมิติทางสังคมไม่ใช่แค่ศูนย์ แต่เป็นวิสัยทัศน์ที่ติดลบ ทั้งที่จริง ๆ แล้ว วันเด็กควรเป็นวันที่ทุกองค์กรในประเทศและประชาชน ต้องสร้างภาพจำ และสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อเป็นทุนการใช้ชีวิตให้กับเด็ก ต่อยอดไปสู่อนาคต ดังนั้นทุกองค์กรที่ลุกขึ้นมาจัดงานวันเด็ก จึงควรสร้างให้เด็กมีรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ เพื่อให้ทั้งหมดนี้เปลี่ยนเป็นทุนชีวิตเมื่อเขาโตเป็นผู้ใหญ่

ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย)บ้านกาญจนาภิเษก

ทิชา ยังมองว่า เด็กที่เติบโตภายใต้ระบบนิเวศทางสังคมที่มีความรุนแรง จะส่งผลต่อสันติภาพ และการอยู่ร่วมกัน โดยเฉพาะการไม่ผลิตซ้ำ เพียงแค่การบูลลี่ ที่เกิดขึ้นในห้องเรียน หรือปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างสถาบัน ก็ยังไม่สามารถที่จะควบคุมได้

“การเอาความรุนแรงมาเป็นของขวัญให้กับเด็ก เป็นตัวชี้ชัดเลยว่าเจ้าหน้าที่ไม่มี วิสัยทัศน์เรื่องนี้ ยอมรับว่า เจ้าหน้าที่มีความอดทน ใช้อาวุธเก่ง แต่ควรจะอยู่ในหน้าที่เพียงตรงนั้น อย่าได้มาเกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะ หรือเอามาเป็นความทรงจำของเด็ก ๆ ”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active