“ตรีนุช” ยกเลิกระเบียบทรงผมแก้ปัญหาเด็กถูกลงโทษ

นักเรียนจะไว้ผมยาวหรือสั้นก็ได้ ให้อิสระโรงเรียนออกระเบียบเอง แต่ห้ามดัด ย้อมสี ไว้หนวดเครา เร่งชี้แจงนักเรียน ครู ผู้ปกครอง ให้เกิดความชัดเจน ไม่เลือกปฏิบัติ

วันนี้ (24 ม.ค.66) ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่มีเสียงเรียกร้องให้มีการแก้ไขปรับปรุงระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 มาอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญการลงโทษเรื่องทรงผมได้ส่งผลถึงร่างกายและจิตใจของนักเรียน ศธ. จึงได้มีหนังสือหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กรณีแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียน ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 8) ได้ให้ความเห็นว่า รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดอาจอาศัยอำนาจตามมาตรา 12 ประกอบกับมาตรา 39 (1) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 กำหนดเป็นนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดนำไปปฏิบัติได้

ดังนั้น เมื่อวันที่ 16 ม.ค. ที่ผ่านมา ตนจึงได้ลงนามในระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการยกเลิกระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 และเสนอสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วออกเป็นหนังสือสั่งการหรือหนังสือเวียน กำหนดแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนหรือนักศึกษาไว้อย่างกว้าง ๆ เพื่อให้หน่วยงานในสังกัดที่เป็นผู้กำกับดูแลสถานศึกษา กำหนดให้สถานศึกษาแต่ละแห่งนำหลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าวไปกำหนดเป็นระเบียบหรือข้อบังคับของสถานศึกษาแต่ละแห่งเอง

ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ทั้งนี้ ศธ.ได้ยกร่างแนวนโยบายเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนของสถานศึกษา ไว้ดังนี้

  1. การไว้ทรงผมของนักเรียนของสถานศึกษาในสังกัด ศธ. และสถานศึกษาในกำกับดูแลของ ศธ. จะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ โดยสถานศึกษาอาจกำหนดลักษณะทรงผมได้ตามพันธกิจ บริบท และความเหมาะสมของแต่ละสถานศึกษา
  2. สถานศึกษาในสังกัด ศธ.และสถานศึกษาในกำกับดูแลของ ศธ.อาจดำเนินการกำหนดแนวปฏิบัติเกี่ยวกับไว้ทรงผมของนักเรียนได้ โดยการวางระเบียบหรือข้อบังคับของสถานศึกษา และควรระบุบทอาศัยอำนาจของกฎหมายเฉพาะมาตรา 39 (1) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตามหลักการมีส่วนร่วม เช่น นักเรียน คณะกรรมการสภานักเรียน คณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครอง หรือ ผู้แทนผู้ปกครอง ชุมชนท้องถิ่น บุคคลหรือกลุ่มบุคคลอื่นใดที่หัวหน้าสถานศึกษาเห็นสมควร เป็นต้น และเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษา หรือ คณะกรรมการบริหารโรงเรียนแล้วแต่กรณี ก่อนการประกาศใช้ และควรเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนไว้ในระบบสารสนเทศ หรือบริเวณของสถานศึกษา และดำเนินการแจ้งให้นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัดสถานศึกษาทราบเป็นการทั่วไป เพื่อให้การปฏิบัติตนของนักเรียนมีความถูกต้องเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเกิดความชัดเจนในการดำเนินการของสถานศึกษา

“ระเบียบ ศธ. ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มีข้อต้องปฏิบัติตนเกี่ยวกับการไว้ทรงผมว่า นักเรียนชายจะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวด้านข้าง ด้านหลังต้องยาว ไม่เลยตีนผม ด้านหน้าและกลางศีรษะให้เป็นไปตามความเหมาะสมและมีความเรียบร้อย นักเรียนหญิงจะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวให้เป็นไปตามความเหมาะสมและรวบให้เรียบร้อย และมีข้อต้องห้ามปฏิบัติตน ดังนี้ ดัดผม ย้อมสีผมให้ผิดไปจากเดิม ไว้หนวดหรือเครา การกระทำอื่นใดซึ่งไม่เหมาะสมกับสภาพการเป็นนักเรียน เช่น การตัดแต่งทรงผมเป็นรูปทรงสัญลักษณ์หรือเป็นลวดลาย แต่ต่อไปหลังจากมีการประกาศยกเลิกในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เรื่องการไว้ทรงผมของนักเรียนทั้งหมดจะอยู่ที่สถานศึกษา ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ได้มาจากการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย”

ตรีนุช เทียนทอง

ข้อมูลจากภาคีกลุ่ม “นักเรียนเลว” พบว่า ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่เดือน มี.ค.63 แต่พบว่าช่วงก่อนเปิดภาคเรียนจนถึงเมื่อวันที่ 1 ก.ค.63 มีคำร้องจากนักเรียนว่าถูกครูจับตัดผม หรือกล้อนผมแล้ว 312 โรงเรียนทั่วประเทศ ซึ่งถือว่าขัดกับระเบียบกระทรวงฯ ที่ออกมาอนุญาตให้นักเรียนชาย-หญิง ไว้ผมยาวตามความเหมาะสมได้ และยังลิดรอนสิทธิของนักเรียนไทย เพราะไม่ได้มีอิสระบนร่างกายตัวเอง

ขณะที่วิธีการลงโทษที่เป็นไปตามระเบียบกระทรวงฯ ว่า ด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ.2548 แล้ว ไม่พบว่ามีข้อไหนที่ให้คุณครูสามารถลงโทษนักเรียนด้วยการตัดผมแม้แต่ข้อเดียว ซึ่งตามข้อ 5 ของระเบียบฯ มีโทษเพียง 4 สถานเท่านั้น คือ ว่ากล่าวตักเตือน ทำทัณฑ์บน ตัดคะแนนความประพฤติ และทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

อีกทั้งการลงโทษตามระเบียบฯ ดังกล่าว มีเจตนาเพียงเพื่อให้ครูใช้แก้นิสัยและความประพฤติไม่ดีของนักเรียน หรือ นักศึกษา ให้รู้สำนึกในความผิด และกลับมาประพฤติตนในทางที่ดีต่อไป ไม่ใช่การลงโทษด้วยวิธีรุนแรง กลั่นแกล้ง หรือลงโทษด้วยความโกรธ หรือด้วยความพยาบาท ตามที่ข้อ 6 ของระเบียบฯ นี้ ได้บัญญัติห้ามไว้อยู่ รวมถึงการใช้ความรุนแรงอื่น เช่น การใช้ไม้เรียว การหยิก ตบ ตีร่างกาย หรือ การประจานให้อับอาย ฯลฯ นอกจากจะเป็นการละเมิดสิทธิทั้งทางร่างกายและจิตใจของนักเรียนแล้ว การลงโทษด้วยวิธีการเหล่านี้ยังขัดต่อระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ ผิดกฎหมาย และหลักการด้านสิทธิมนุษยชน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active