19 องค์กรภาคประชาสังคม ค้านมติ ครม.เลื่อนบังคับใช้กฎหมายซ้อมทรมาน-อุ้มหาย

องค์กรสิทธิมนุษยชนและภาคประชาสังคม ย้ำการออก พ.ร.ก. เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ เรียกร้องให้สภาผู้แทนราษฎร เชื่อมั่นในศักดิ์ศรีของมนุษย์ สิทธิมนุษยชนและระบอบประชาธิปไตย ไม่อนุมัติ พ.ร.ก.

วันนี้ (17 ก.พ. 2566) 19 องค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคม แถลงการณ์ร่วม คัดค้านมติ ครม.ที่เห็นชอบให้ตรา พ.ร.ก. แก้ไข พ.ร.บ.ทรมาน-อุ้มหาย ขัดรัฐธรรมนูญ โดยมีเนื้อหาดังนี้ ตามที่เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 พ.ศ. …. ที่ให้แก้ไขพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ซึ่งจะมีผลบังคับในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 โดยให้เลื่อนการบังคับใช้ มาตรา 22 มาตรา 23 มาตรา 24 และมาตรา 25 ออกไปจนถึงวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2566 ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ

องค์กรสิทธิมนุษยชนและภาคประชาสังคม เห็นว่า มติ ครม.ดังกล่าวกล่าว ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เนื่องจากเหตุในการออกพระราชกำหนดตามมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญนั้น ต้องเป็น “กรณีฉุกเฉิน มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้” แต่ร่างพรก.ตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว มิได้เป็นกรณีฉุกเฉิน มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะ ผบ.ตร. เคยออกคำสั่งที่ 178/2564 ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กล้องติดตัว บันทึกภาพและเสียง ขณะทำการตรวจค้นจับกุมและการสอบสวน มาตั้งแต่ปี 2564 แล้ว ทั้งการเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายออกไป ก็มิใช่เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 172 แห่งรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด จึงมิใช่เป็นเหตุผลเพียงพอที่ ครม. จะตราพระราชกำหนดเพื่อเลื่อนการบังคับใช้ออกไป

พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ เป็นกฎหมายที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันประชาชนจากอาชญากรรมที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ได้แก่ การกระทำทรมาน การปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมและย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการบังคับให้บุคคลสูญหาย การที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้เลื่อนการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวออกไป แม้เป็นเพียงบางมาตรา แต่เป็นมาตราที่กำหนดมาตรการที่สำคัญในการปกป้องคุ้มครองประชาชนจากการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ โดยการตราพระราชกำหนดที่ขดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในครั้งนี้นั้น แสดงให้เห็นถึงความ “ไม่เต็มใจ” (unwilling) ของรัฐบาลในการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของประเทศในเวทีนานาชาติอย่างยิ่ง

องค์กรสิทธิมนุษยชนและภาคประชาสังคม ดังรายนามท้ายแถลงการณ์นี้ จึงขอเรียกร้องให้

1. ขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาตามหลักวิชาการและกฎหมายโดยเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีว่า การออก พ.ร.ก. เพื่อเลื่อนการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มาตรา 22 มาตรา 23 มาตรา 24 มาตรา 25 ออกไปเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

2. ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาไม่อนุมัติ พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ด้วยความเชื่อมั่นในศักดิ์ศรีของมนุษย์ สิทธิมนุษยชนและระบอบประชาธิปไตย

สำหรับองค์กรสิทธิมนุษยชนและภาคประชาสังคม ผู้ร่วมแถลงการณ์ประกอบด้วย

  1. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CRCF)
  2. สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
  3. กลุ่มด้วยใจ
  4. สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)
  5. กลุ่มนอนไบนารีแห่งประเทศไทย
  6. คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)
  7. มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.)
  8. เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ JASAD
  9. เครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี HAP
  10. ศูนย์ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนภาคอีสาน (ศสอ.)
  11. มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ
  12. มูลนิธิสายเด็ก 1387
  13. มูลนิธิสถาบันเพื่อการรวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี
  14. มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ (FAR)
  15. คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35
  16. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR)
  17. มูลนิธิส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนยชน (pro-rights)
  18. มูลนิธิรักษ์เด็ก
  19. มูลนิธิเพื่อยุติการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active