กฎหมายคุ้มครองความปลอดภัยเด็ก ‘มี’ แต่ถูก ‘ละเลย’

ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิเด็ก ชี้ เหตุการณ์ ‘ไฟไหม้รถบัส’ เป็นสิ่งที่ป้องกันได้ ย้ำไทยมีกฎหมายคุ้มครองเด็กระบุชัดเจน แต่บกพร่องในการบังคับให้ทำตามกฎหมาย โดยเฉพาะความปลอดภัยในการพาเด็กไปทัศนศึกษา ต้องตรวจความพร้อม ทั้งรถ-คนขับ

วันนี้ (1 ต.ค. 2567) จากกรณีอุบัติรถบัสทัศนศึกษา โรงเรียนวัดเขาพระสังฆาราม อุทัยธานี เกิดเหตุไฟไหม้บนถนนวิภาวดีรังสิต เป็นเหตุให้ครู นักเรียนเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก กรณีนี้ถูกตั้งคำถามถึงการคุ้มครองดูแลเด็กด้านความปลอดภัยในการเดินทางออกมาทัศนศึกษา สรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายและด้านคุ้มครองเด็ก ประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบคุ้มครองเด็กในคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์กับ The Active ว่า มาตรการความปลอดภัยในการทัศนศึกษา กระทรวงศึกษาธิการมีระเบียบที่ชัดเจน เพราะฉะนั้นต้องมีการประเมินการใช้ยานพาหนะ เช่น เมื่อเช่ารถต้องดูทั้งสภาพรถ และคนขับ ซึ่งกรณีนี้แสดงให้เห็นว่าไม่ได้มีการตรวจเลย คนขับเองก็มาขับรถเฉย ๆ ไม่ตรวจตราสภาพรถ ความเรียบร้อยของรถที่ตัวเองขับ ซึ่งรถที่ใช้แก๊สต้องมีการตรวจสภาพอย่างสม่ำเสมอ กรณีนี้อาจเป็นไปได้ว่าจะมีแก๊สรั่วไปถูกประกายไฟในเครื่องยนต์หรือไม่ทำให้เกิดไฟลุกไหม้ขึ้นมา 

“จริง ๆ มันมีระเบียบอยู่แล้ว ต้องตั้งคำถามว่าทำไมเขาไม่ทำตามระเบียบ โดยเฉพาะโรงเรียนที่จัดเข้าใจว่าน่าจะเป็นโรงเรียนของรัฐ ไม่ใช่โรงเรียนเอกชน เพราะหากเป็นโรงเรียนเอกชนจะมีมาตรฐานความปลอดภัยที่สูงมาก ไม่ประมาทเลินเล่อ คือไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องความปลอดภัย โดยเฉพาะโรงเรียนนานาชาติจะมีมาตรฐานสูง เพราะเป็นโรงเรียนรัฐเกิดเหตุเยอะมาก จำนวนโรงเรียนเยอะจนกระทั่ง ไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง”

สรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์
สรรพสิทธิ์

สรรพสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ควรจะมอบหมายให้ เขตพื้นที่การศึกษา และผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา คอยติดตามเรื่องเหล่านี้ ไม่ใช่เพียงแต่รอให้มีการเสนอและอนุมัติงบประมาณอย่างเดียว แบบนี้เป็นการทำงานราชการแบบสมัยโบราณ ปัจจุบันจะต้องเป็นลักษณะของการไปติดตามตรวจสอบการจัดการทัศนศึกษา ซึ่งในอดีตมีตำแหน่ง “ศึกษานิเทศก์” แต่เขาจะไปแนะนำเฉพาะเรื่องการเรียนการสอน แต่ควรจะมีการทำลักษณะนิเทศก์เหมือนกัน คือ ไปติดตามดูแลมาตรการรักษาความปลอดภัยในโรงเรียน เรื่องของกลไกตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ว่าได้ดำเนินการตามมาตรา 63 หรือไม่ แสดงว่าโรงเรียนนี้ไม่ได้ทำอะไรสักอย่าง

โดยในหมวดหมวด 7 การส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา ตามมาตรา 63 ระบุว่า โรงเรียนและสถานศึกษาต้องจัดให้มีระบบงานและกิจกรรมในการแนะแนวให้คำปรึกษาและฝึกอบรมแก่นักเรียน นักศึกษา และผู้ปกครอง เพื่อส่งเสริมความประพฤติที่เหมาะสม ความรับผิดชอบต่อสังคม และความปลอดภัยแก่นักเรียนและนักศึกษา ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง 

“แต่อาจจะโทษโรงเรียนอย่างเดียวไม่ได้กระทรวงศึกษาธิการ ไม่มีมาตรการในการตรวจสอบติดตามการดำเนินการของโรงเรียนเลยหรือ หรือรอให้เขาของบประมาณมาอย่างเดียว ถ้าให้เขาของบประมาณอย่างเดียวไม่ไม่จำเป็นต้องก็ได้ครับ ไปขอที่กระทรวงการคลังโดยตรงเลยก็ได้ กระทรวงศึกษาธิการต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ ต้องไปติดตามว่าทำไมเขาไม่ทำตามระเบียบอย่างแรก อย่างที่สองคือทำไมไม่มีกลไกตรวจตราติดตาม ให้โรงเรียนทั้งหลายทำตามระเบียบที่กระทรวงศึกษาธิการออกเอง เรื่องนี้รวมไปถึงเรื่องรถรับส่งนักเรียนด้วย”

สรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์

สรรพสิทธิ์ กล่าวว่า ในระยะหลังอุบัติเหตุที่ลืมเด็กทิ้งไว้บนรถโรงเรียนน้อยลง จากอดีตเพราะมีการออกกฎระเบียบอย่างรัดกุมเข้มงวด แต่ระยะหลังที่ผ่านมามักจะเกิดอุบัติเหตุ กลับไม่ใช่รถโรงเรียนโดยตรงแต่เป็นรถของเอกชนที่มารับจ้าง การเดินทางไปทัศนศึกษานอกสถานที่ มีระเบียบอย่างละเอียด ต้องมีการประเมินรถที่เช่า สภาพรถคนขับ ว่ารถที่มารับจ้างมีประวัติอุบัติเหตุมาหรือไม่ และหากมีประวัติว่าไม่ดูแลแล้วเกิดอุบัติเหตุ จากปัญหาเครื่องยนต์ ก็ต้องมีการ แบล็คลิสต์ไม่จ้างบริษัทนี้อีก 

“คณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ มีมติเป็นข้อเสนอว่าให้ดูแลจัดการเรื่องความปลอดภัยของเด็กนักเรียนในโรงเรียนให้พ้นจากบุคคลอันตราย ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือเด็กด้วยกัน เพื่อไม่ให้เกิดการรังแกข่มเหงหรือการละเมิดสิทธิของเด็ก จะมีเรื่องกฎเกณฑ์ความปลอดภัยไม่ให้ใครสัมผัสร่างกายเด็กโดยพละการซึ่งรวมถึงการทำร้ายเด็ก และมีการจัดพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กมีกล้องวงจรปิดดูแลบริเวณที่เด็กอยู่ ถ้าเป็นไปได้อยากให้ลงเจาะเพิ่มเติมในโรงเรียนเลยว่ามีประเด็นเหล่านี้อยู่ไหมมีมาตรการนี้ไหมผมเอาหัวเป็นประกันเลยว่าน่าจะไม่มีเพราะเรื่องที่เห็น ง่ายที่สุดเลยคือเรื่องการเช่ารถ ที่จะมีสภาพปกติเช่นใช้งานได้แข็งแรงปลอดภัยก็ไม่ได้ทำแล้ว ยังมีเรื่องคนขับอีกนะครับ ซึ่งคนขับถ้าไม่รู้พฤติการณ์อันตรายมาก เพราะไม่รู้ว่าเค้าจะขับรถฝ่าฝืนกฎจราจรหรือไม่ มีการควบคุมหรือไม่”

สรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์

เปิดอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ไทยทำตามได้มากแค่ไหน?

สรรพสิทธิ์ กล่าวว่า ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็กจะเห็นได้ชัดเจนมาก ซึ่งไม่มีข้อความไหนเลยที่จะไม่พูดถึงเรื่องความปลอดภัยเด็ก ยกตัวอย่างข้อ 19 ที่ต้องดูแลเด็กให้ปลอดภัย ซึ่งตามเจตนารมณ์ก็ยังบอกว่าต้องมีกฎหมายคุ้มครองไม่ว่าจะก่อนเกิดเหตุ หรือหลังเกิดเหตุ นั่นหมายความว่าความปลอดภัยของเด็กซึ่งเป็นเรื่องหนึ่งในการคุ้มครองเด็ก รวมทั้งข้อ 27 ที่จะต้องมีมาตรฐานในการดำเนินชีวิตสำหรับเด็ก ซึ่งกฎหมายไทยรองรับในส่วนนี้ โดยในมาตรา 23 ของ พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กก็ระบุว่า ผู้ปกครองต้องให้การอุปการะเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนเด็กที่อยู่ในความปกครองดูแลของตนตามมาตรฐานขั้นต่ำ ซึ่งรวมไปถึงเรื่องความปลอดภัยด้วย

จากเรื่องความปลอดภัยในอนุสัญญา มาสู่การปฎิบัติ สำหรับโรงเรียนจะเป็นมาตรา 63 ซึ่งถือว่าเรามี มาตรการทำ กฎหมาย และระเบียบปฏิบัติอยู่แล้ว แต่มาตรการการบริหารซึ่งหมายถึงการรองรับขับเคลื่อนให้กฎหมายเป็นจริง ต้องดูว่ากระทรวงศึกษาธิการมีกฎหมายรอง ว่าด้วยการทัศนศึกษามีรายละเอียดเรื่องของความปลอดภัยแล้วมีกลไกการตรวจสอบติดตามหรือไม่ เพราะเราถือว่าระเบียบก็คือมาตรการทางกฎหมาย 

“แต่การมีกฎหมายไม่ได้หมายความว่าจะทำให้เกิดการดูแลได้ เพราะกฎหมายมันไม่ใช่คาถาวิเศษมันต้องมีมาตรการทางการบริหารไปรองรับ ซึ่งตรงนี้เห็นชัดว่าไม่ได้มีมาตรการทางการบริหารไปรองรับระเบียบที่ออกมาคุณไม่สนใจว่าเขาจะทำตามระเบียบหรือเปล่า ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าไทยเราไม่ได้ทำตามอนุสัญญา เพียงแต่ไม่ได้ขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิบัติตามทั้งอนุสัญญาและกฎหมายของตัวเอง”

สรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์

นอกจากนี้ สรรพสิทธิ์ ยังระบุอีกว่ากรณีแบบนี้เกิดขึ้นหลายครั้ง แต่ทำไมถึงไม่มีการถอดบทเรียน ว่าสาเหตุเกิดจากอะไรเพื่อทำการแก้ไข เช่น กรณีรถรับส่งนักเรียนที่มีการวิเคราะห์ปัญหา และมีมาตรการในการบริหารติดตาม แต่การจัดการทัศนศึกษานอกสถานที่มีแต่ระเบียบ เมื่อเกิดเหตุขึ้นมาได้ทำที่จะเป็นการแก้ไขป้องกันหรือไม่ 

“เรื่องนี้เป็นเหตุที่ป้องกันได้ กรณีนี้แสดงให้เห็นเรื่องความพร้อมของสภาพรถไม่ได้อยู่ในความปลอดภัยไม่ต้องรอให้กรมการขนส่งทางบกตรวจสอบ อย่างน้อยที่สุดต้องดูว่าเขาได้ตรวจสภาพรถล่าสุดเมื่อไหร่ ผลการตรวจสอบเป็นอย่างไร ผมเข้าใจว่ารถที่ใช้แก๊ส รถที่ใช้ขนส่งสาธารณะต้องตรวจสภาพเป็นระยะอยู่แล้ว ผม เข้าใจว่า ดีไม่ดีไปติดต่อจากคนรู้จัก เอามารับงานโดยไม่ได้ดูรายละเอียดเรื่องพวกนี้เลย”

สรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์

ทั้งนี้ จากระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการพานักเรียน และนักศึกษาไปนอกสถานศึกษา พ.ศ.2562 กำหนดไว้ว่า การพานักเรียนและนักศึกษาไปนอกสถานศึกษาจำแนกเป็น 3 ประเภท คือ

1.การพาไปนอกสถานศึกษาไม่พักแรม
2.การพาไปนอกสถานศึกษาพักแรม
3.การพาไปนอกราชอาณาจักร

ซึ่งเป็นไปตามความสมัครใจของนักเรียนและนักศึกษาโดยความยินยอมของผู้ปกครอง ขณะที่สถานศึกษาต้องขออนุญาตไปยังผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาก่อน โดยมีการกำหนดว่า ต้องมีครู หรือ บุคคลที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าสถานศึกษาจำนวน 1 คน ต่อนักเรียนไม่เกิน 30 คน

โดยผู้ควบคุมนอกจากจะมีหน้าที่ดูแลนักเรียนนักศึกษาให้ได้รับความปลอดภัยตลอดเวลาระหว่างการเดินทางแล้ว ต้องควบคุมกำกับทั้งพนักงานขับรถ และยานพาหนะ ในเรื่องการใช้ความเร็วของรถให้เป็นไปตามกฎจราจร การตรวจสอบสภาพระและอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้อยู่ในสภาพดี เช่น มีเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง มีประตูฉุกเฉิน ถังดับเพลิง ค้อนทุกกระจก และผ่านการตรวจสภาพรถจากกรมการขนส่งทางบก

  • การพานักเรียนและนักศึกษาไปนอกสถานศึกษาโดยใช้รถโดยสารไม่ต่ำกว่า 40 ที่นั่ง จำนวน 3 คันขึ้นไป ควรจัดให้มีรถนำขบวน
  • กรณีใช้รถต่ำกว่า 40 ที่นั่ง 3 คันขึ้นไป ให้หัวหน้าสถานศึกษาพิจาณาตามความเหมาะสม
  • ให้สถานศึกษาจัดให้มีการประกันภัยการเดินทางแก่นักเรียนนักศึกษา เว้นแต่มีการประกันภัยที่คุ้มครองกรณีดังกล่าวแล้ว

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active