ครบรอบ 3 ปี การจากไปของ หมอกระต่าย ด้วยอุบัติเหตุบนทางม้าลาย และถูกกำหนดให้เป็น ‘วันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน’ แม้เดินหน้ารณรงค์ลดอุบัติเหตุ ออกกฎหมายเข้ม แต่การบังคับใช้ยังไม่จริงจัง เผยคนไทยตายจากอุบัติเหตุ ทุก ๆ 30 นาที
ในปัจจุบันการตายและการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนทางม้าลายมีมากกว่า 500 คนต่อปี และอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 55 ถือเป็นปัญหาทางการแพทย์และสาธารณสุขที่สำคัญ แต่ที่ผ่านมาปัญหานี้ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมมากนัก
โดยแต่ละปี เฉพาะ กทม. มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงถึงปีละ 800-900 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้เสียชีวิตจากการเดินเท้าสูงมาก ขณะที่ มูลนิธิไทยไรดส์ ระบุ พฤติกรรมการใช้ทางม้าลายในเขต กทม. พบความเร็วเฉลี่ย มากกว่า 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก่อนถึงบริเวณทางม้าลาย
Rabbit Crossing ขับเคลื่อน 5 ข้อเสนอ
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2567 ในสมัยรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ได้ถูกขอให้ผลักดันการปรับแก้กฎหมายเกี่ยวกับทางข้ามโดยเฉพาะ และมีการกำหนดบทลงโทษที่ชัดเจนสำหรับผู้ที่กระทำผิดกฎหมาย รวมถึงผลักดันให้มีการลงโทษอย่างจริงจัง อันจะทำให้เกิดความยำเกรง และไม่กล้าฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ทางม้าลายปลอดภัยต่อประชาชน โดย โครงการ “ทางกระต่าย” มีข้อเสนอ 5 ข้อ เพื่อการสร้างทางม้าลายที่ปลอดภัยแก่ประชาชนทุกคน ดังนี้
- ขอให้ปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ.2522 และ พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 มีการเพิ่มโทษสำหรับการฝ่าฝืน และบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด เพื่อลดการกระทำผิดซ้ำ
- ปรับปรุงการออกใบอนุญาตใบขับขี่ ให้เหมาะสมกับรถแต่ละประเภท ควบคุมให้การออกใบอนุญาตมีมาตรการประเมินการคาดการณ์อุบัติเหตุ เพิ่มเติมจากการสอบเนื้อหาทางกฎหมายทั่วไป
- ออกกฎหมาย และมาตรการทางสังคมเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพประชาชน เช่น กำหนดความเร็วในเขตเมืองไม่เกิน 50 กม./ชั่วโมง สำหรับรถทุกประเภท เพิ่มโทษพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ชั่วคราวสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืน
- เพิ่มบทลงโทษผู้ขับขี่ที่ฝ่าฝืนกฎจราจรที่ไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย และผู้ขับขี่บนทางเท้า พร้อมทั้งปรับปรุงเพิ่มสัญลักษณ์จราจร ทำสีถนน ป้ายคำเตือนก่อนถึงทางม้าลาย กวดขันวินัยเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างจริงจัง เช่น การสวมหมวกนิรภัย การต่อ พ.ร.บ. ทะเบียนรถ
- เพิ่มโทษหนักกับคนดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับรถ ทั้งจำคุกและโทษปรับ โดยมีการบังคับใช้อย่างจริงจัง รวมถึงประสานงานกับสถานประกอบการต้นสังกัดผู้กระทำผิดให้มีมาตรการลงโทษ ตลอดจนมีการปลูกฝังสร้างความตระหนักรู้การใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย และผลกระทบจากอุบัติเหตุทางถนน โดยดำเนินการทั้งในสถานประกอบการ และโรงเรียน
3 ปี หมอกระต่าย กฎหมายไทย อะไร ? เปลี่ยนไปบ้าง
จาก 5 ข้อเสนอ สู่การแก้ปัญหาอุบัติเหตุ แม้มีการเปลี่ยนผ่านอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ก็ยังลดอุบัติเหตุได้ไม่มาก เพราะการบังคับใช้กฎหมายยังไม่จริงจัง แล้วในเชิงระบบอะไรเปลี่ยนไปบ้างหลังสูญเสีย หมอกระต๋าย เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565
หลังสูญเสียคุณหมอกระต๋าย กลุ่ม Rabbit Crossing ได้รวบรวมรายชื่อประชาชนที่เห็นด้วยในข้อเสนอ 5 ข้อ : เพื่อการสร้างทางม้าลายที่ปลอดภัยแก่ประชาชนทุกคน ผ่าน www.change.org/ rabbitcrossing มาตั้งแต่แรก และณ วันที่ 20 มกราคม 2567 ได้กว่า 70,000 รายชื่อ ที่แสดงเจตนารมณ์ที่ต้องการจะเห็นทางม้าลายที่ปลอดภัยต่อประชาชนคนไทยทุกคน นี่คือแรงกระเพื้อมใหญ่ที่ทำให้เกิดการขยับในเชิงกฎหมายบางประการ
ทางม้าลายต้องปลอดภัย : รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องออกแบบทุกทางม้าลายเป็นทางข้ามที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน เช่น ทางข้ามมีความชัดเจนเห็นได้ในระยะไกล มีป้ายเตือนล่วงหน้าที่ชัดเจนให้ผู้ขับขี่รับรู้ว่าเป็นทางข้าม หากเป็นทางที่มีคนข้ามเป็นประจำหรือเป็นสถานที่สำคัญ เช่น โรงเรียน ต้องมีสัญญาณไฟจราจร รวมถึงมีปุ่มกดเพื่อขอข้าม มีกล้องวงจรปิดในบริเวณทางข้ามที่มักมีการกระทำผิดบ่อย เพื่อบันทึกผู้กระทำความผิดและลงโทษอย่างจริงจังตั้งแต่ 2565จนถึงปี 2567 กรุงเทพมหานครมีการปรับปรุงทางข้ามทางม้าลายให้ได้มาตรฐานความปลอดภัย จำนวน 2,886 แห่งและจะเพิมอีกตามแผนถึง 2569 2569
ปรับกฎหมายเมาแล้วขับ : กระทำผิดซ้ำบังคับมาไม่ต่ำกว่า 2 ปี ตั้งแต่ปี 2565 ตาม พรบ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) เพิ่มโทษผู้กระทำผิดซ้ำกรณีเมาแล้วขับภายใน 2 ปี นับแต่วันกระทำผิดครั้งแรก เพิ่มจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับ 50,000-100,000บาท ศาลจะลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอและถูกพักใบอนุญาตขับขี่ ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือถอนใบอนุญาตขับขี่ เป็นต้น แต่ปัจจุบันดูเหมือนว่ากฎหมายฉบับนี้ยังไม่ศักดิ์เพียงพอเพราะยังมีบางส่วนที่ไม่เกรงกลัวกฎหมาย และคนเมาแล้วขับก็ยังมีมาก
จำกัดความเร็วในเขตเมือง : 23 ธันวาคม 2567 ได้มีการลงประกาศราชกิจจานุเบกษา ประกาศจำกัดความเร็วบนถนนในกรุงเทพมหานคร ไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากเดิม 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนถนนกรุงเทพฯ ชั้นในไม่เกิน 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ยกเว้นทางด่วนและถนนหลักเชื่อมปริมณฑล 13 เส้นทางตามประกาศ
ปรับปรุงการออกใบอนุญาตใบขับขี่ : ให้เหมาะสมกับรถแต่ละประเภท อย่างรถบิ๊กไบค์ เมื่อปี 19 กุมภาพันธ์ 2564 เริ่มมีการบังคับใช้ใบขับขี่บิ๊กไบค์ แต่ที่ผ่านมาเมื่อออกใบขับขี่แล้ว แต่ก็ยังไม่เห็นการตรวจับการบังคับใช้อย่างจริงจัง
ในขณะที่วันนี้ (21 ม.ค. 68) เนื่องในโอกาสครบรอบ 3 ปี การจากไปของหมอกระต่าย ปีนี้คุณแม่หมอกระต่าย ได้ไปร่วมงานวันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน ทางม้าลาย ทั่วประเทศปลอดภัย ณ โรพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ เขตราชเทวี ในจุดที่เกิดอุบัติเหตุกับหมอกระต่าย โดยมี คณะกรรมการด้านโครงสร้างพื้นฐานและด้านยานพาหนะเกี่ยวกับการป้องกันและลดอุบัติเหตุเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนน, เครือข่ายพลังผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน สสส. และภาคีเครือข่าย จัดขึ้น
รัชนี สุภวัตรจริยากุล คุณแม่หมอกระต่าย ในฐานะรักษาการประธานเครือข่ายพลังผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน บอกว่า อุบัติเหตุทางถนนไม่เพียงแต่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเท่านั้น ยังมีผู้บาดเจ็บและพิการในแต่ละปีเป็นแสนคน การสูญเสียหมอกระต่าย พ่อ แม่ และน้องรู้สึกยากลำบากมากที่จะก้าวผ่านความโศกเศร้าที่รุมเร้าเข้ามา ต้องร้องไห้ซ้ำแล้วซ้ำอีก แม่ต้องใช้ความพยายามอย่างมากที่จะยอมรับความจริง ส่วนพ่ออ่อนไหวมาก เมื่อพูดถึงเรื่องลูกทีไรก็ยังร้องไห้อยู่ พ่อจึงขอทำงานในด้านที่ถนัดและสุขใจมากกว่า ตั้งแต่เสียลูกไปพ่อรับเป็นแพทย์จิตอาสาของหน่วยแพทย์พระราชทาน สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ซึ่งร่วมกับโรงพยาบาลรามาธิบดีออกหน่วยผ่าตัดตาต้อกระจกทั่วประเทศ เพื่อทำกุศลและรำลึกถึงลูกที่เคยออกหน่วยผ่าตัดร่วมกันมา
อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ขับขี่ที่ยังไม่จอดรถขณะที่มีคนเดินทางข้ามม้าลายอยู่ คนเดินเท้าทั้งแบบเดินเดี่ยว และเดินกลุ่มจึงถูกรถชนให้เห็นเป็นข่าวอยู่อีก บริเวณจุดเสี่ยงอย่างหน้าโรงเรียน โรงพยาบาล หน้าสถานที่ราชการ ตลาด ชุมชนต่าง ๆ ควรได้รับการปรับปรุงเพิ่มเติมให้ปลอดภัยยิ่งขึ้นทุกคนควรเคารพกฎหมาย และให้ความสำคัญต่อคุณค่าของแต่ละชีวิตที่ใช้ทางร่วมกันจึงจะเกิดการพัฒนาอย่างแท้จริง เรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ยังไม่เห็นการการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน ไม่ว่าในทางปฏิบัติหรือในด้านนโยบายของหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง หรือแม้กระทั่งนโยบายจากรัฐบาล การบังคับใช้กฏหมายจึงยังเป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศที่รอการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ในฐานะเครือข่ายผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน ได้แสดงเจตจำนงต่ออนุกรรมการด้านโครงสร้างพื้นฐานและด้านยานพาหนะเกี่ยวกับการป้องกันและลดอุบัติเหตุเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนน ดังนี้
- วิงวอนให้ผู้ใช้รถปฎิบัติตามกฎ ป้ายสัญญาณจราจร เพื่อระมัดระวังไม่ให้เกิดการชนคนเดินแท้า ขอเพิ่มคามปลอดภัยให้คนเดินเท้ามากขึ้น เช่น เพิ่มอัตราบทลงโทษให้แรงขึ้น สำหรับผู้ที่ไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ผู้ขับขี่บนทางเท้า เพิ่มสัญลักษณ์ ทำสีถนน คำเตือน ก่อนถึงทางม้าลายเพื่อความปลอดภัย กวดขันวินัยเจ้าหน้าที่ปฎิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยบนท้องถนนอย่างจริงจัง เช่น การใส่หมวกนิรภัย ต่อ พ.ร.บ.ทำเบียนรถ เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีในสังคม
- ข้อกำหนดและบังคับใช้การลดความเร็วในพื้นที่เขตเมืองในทุกจังหวัด บริเวณ ชุมชน โรงเรียน ขอให้จำกัดความเร็ว ที่ 30 กิโลเมตรหรือตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่และควรเพิ่มอัตราโทษทางกฎหมายให้มากขึ้นและขอเพิ่มโทษการขับขี่ด้วยความเร็วในเขตพื้นที่เมืองและยึดใบอนุญาตชั่วคราว
ขณะที่ นพ.อนิรุทธ์ สุภวัตรจริยากุล คุณพ่อ หมอกระต่าย ให้สัมภาษณ์กับ The Active ว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์ ความสูญเสียครั้งนั้น ก็เห็นความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงต่อเรื่องความปลอดภัยการใช้รถใช้ถนน ที่ขยับไปในหลายเรื่องโดยเฉพาะ ทางกายภาพ เช่น มีการปรับขนาดของทางม้าลายขยายใหญ่ขึ้น ทาสีให้ชัดเจน มีปุ่มกดคนข้าม ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ว่าการแก้ไขในเชิงกฎหมายโดยเฉพาะการเพิ่มโทษกับผู้ที่กระทำความผิด ยังเป็นเรื่องยาก เพราะว่าต้องใช้เวลาและมีกลไกตามขั้นตอนของกฎหมาย
“ที่ผ่านมา ยังไม่มีพรรคการเมือง หรือรัฐบาลไหน จริงจังกับการแก้ไขปัญหานี้ เพราะอาจไม่ใช่นโยบายที่จะจูงใจไปสู่ความสำเร็จทางการเมืองเหมือนนโยบายอื่น ๆ จึงอยากให้รัฐบาล หรือพรรคการเมือง ให้ความสำคัญ ขณะเดียวกันการเพิ่มเทคโนโลยีเข้ามาช่วยกวดขันทดแทนกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีจำกัด ก็อาจจะเป็นตัวช่วยที่จะลด และป้องกันอุบัติเหตุได้มากยิ่งขึ้น เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงและนำพาสังคมไปสู่ความปลอดภัยจากการใช้รถใช้ถนนนั้น เป็นเรื่องที่ยาก และต้องใช้การเปลี่ยนแปลงในระดับกฎหมาย มากกว่าการรณรงค์ หวังว่าพรรคการเมืองจะเล็งเห็นและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้”
นพ.อนิรุทธ์ สุภวัตรจริยากุล
ขณะที่ พญ.ชไมพันธุ์ สันติกาญจน์ หัวหน้าโครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ผู้ใช้จักรยานยนต์ปลอดภัย ในฐานะอดีตที่ปรึกษาด้านป้องกันการบาดเจ็บภาวะพิการ ประจำองค์การอนามัยโลกภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ ระบุว่า แม้จะมีการขยับในประเด็นกฎหมายและออกกฤษฎีกาในบางเรื่อง รถบิ๊กไบด์ที่ไม่เห็นการตรวจจับ หรือความเร็วที่ลดแล้ว 50 – 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตามบริบทสังคมไทย แต่โอกาสจะรอดชีวิต 15% เท่านั้น แต่ความจริงแล้ว ต้องเหลือ 30% คล้ายกับประเทศอื่น ๆ จึงได้เสนอต่อกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขับเคลื่อนจุดเปลี่ยนใหม่ในการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย
“ที่ผ่านมาการสูญเสียคุณหมอกระต่าย ที่เป็นบุคลากรที่มีคุณค่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้นอีก เพราะเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ แต่เรื่องนี้ทำให้สังคมไทยมีทิศทางทางการปรับปรุงกายภาพดีขึ้น ทั้งทางข้าม ทางม้าลาย กฎระเบียบหลายอย่าง แต่ก็ยังพบว่านี้เป็นเพียงส่วนเสริมเพิ่มความปลอดภัย แต่หัวใจสำคัญรัฐบาลต้องมองถึงการจัดการอุบัติเหตุให้มีกลไกบังคับได้จริง ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นเพียงกระดาษเปล่า ที่สังคมไทยยังวนเวียนแก้ปัญหาอุบัติเหตุไม่ได้”
พญ.ชไมพันธุ์ สันติกาญจน์
สิ่งสำคัญปัจจุบันหากวิเคราะห์จริง ๆ แล้วพฤติกรรมคนไทยเปลี่ยนตามหรือไม่ เป็นเรื่องชวนคิด และนโยบายที่ตอบโจทย์ เพราะหากมองทีละประเด็น ไม่ว่าจะเป็น คน รถ ถนน ยังมีช่องว่างด้านความปลอดภัยที่ต้องแก้จากต้นตอ เพราะทุกวันนี้ยังมีคนสูญเสียชีวิต 1 คน ใน ทุก ๆ 30 นาที และมีปัญหาด้านสาธารณสุขจำนวนมาก เช่นเดียวกับการเสียชีวิตจำนวนมากจากอุบัติเหตุจักรยานยนต์ ที่ยังต้องเร่งแก้ไข
ทั้งนี้หากย้อนไปเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 21 มกราคม 2565 พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกิดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ชน ขณะเดินข้ามทางม้าลาย บริเวณด้านหน้าโรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ ถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ เพื่อกลับไปที่พักคอนโด ฝั่งตรงข้าม โดยผู้ขับขี่คือ ส.ต.ต.นรวิชญ์ บัวดก ผู้บังคับหมู่ กองร้อยที่ 2 กองกำกับการ 1 กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (กก.1 บก.อคฝ.) ซึ่งขับขี่มาด้วยความเร็วสูงในช่องทางขวา ทำให้ชนหมอกระต่ายอย่างแรงจนเสียชีวิต ในวัย 33 ปี
1 ปีหลังเหตุการณ์สูญเสีย ทุก ๆ วันที่ 21 มกราคมของทุกปี ได้ถูกกำหนดให้เป็น “วันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน” จากมติ ครม. ซึ่งเห็นชอบตามที่ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เสนอ เพื่อหยุดความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนน และไม่ให้เกิดเหตุการณ์รถชนคนข้ามทางม้าลายเกิดขึ้นซ้ำอีก