พบสัดส่วนการเกิดอุบัติเหตุจากจักรยานยนต์เช่าของชาวต่างชาติในภูเก็ตเพิ่มขึ้น แต่ปัจจุบัน ยังไม่มีหน่วยงานหลักควบคุมตรวจสอบผู้ประกอบ ส่งผลให้ไม่มีการขึ้นทะเบียนเป็นระบบ ไม่มีราคากลาง
จังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมของนานาประเทศ และยังสร้างรายได้ยอดนิยมของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะชาวต่างชาติที่ชื่นชอบหาดทรายและท้องทะเล ขณะที่จักรยานยนต์ที่มาจากรถเช่าที่ชาวต่างชาติใช้บริการเป็นส่วนใหญ่ยังมีช่องว่างทางกฎหมายที่มีผลต่อการเกิดอุบัติเหตุ ขณะที่การแก้ปัญหาบางส่วน ใช้วิธีออกเทศบัญญัติท้องถิ่นเพื่อแก้ปัญหาอุบัติเหตุ
พ.ต.ท. พีรสิทธิ์ หนูพยันต์ สารวัตรป้องปราบปราม สภ.ฉลอง รับผิดชอบดูแลพื้นที่ ต.ฉลอง และ ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต กล่าวว่า ปัญหาของภูเก็ตคือมีชาวต่างชาติจำนวนมาก ทั้งมาพำนักระยะยาวและนักท่องเที่ยวระยะสั้น ด้วยข้อจำกัดด้านระบบขนส่งสาธารณะที่ยังไม่ทั่วถึง นักท่องเที่ยวจึงนิยมเช่ารถมอเตอร์ไซค์ ขับขี่ไปยังสถานที่ท่องเที่ยวจุดต่าง ๆ แต่เนื่องจากบางส่วนไม่เคยขับ หรือไม่มีใบอนุญาตขับขี่มาก่อน จึงนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุค่อนข้างมาก
โดยสถิติการเกิดอุบัติเหตุในปีนี้ เกิดขึ้นมากกว่า 800 เคส แบ่งเป็นพื้นที่ ต.ฉลอง 368 เคส และ ต.ราไวย์ 487 เคส ส่วนใหญ่ 60% เกิดขึ้นกับคนไทย ตามด้วยชาวรัสเซีย เมียนมา และสหราชอนาจักร ส่วนสถิติเสียชีวิตทั้งสองพื้นที่รวมกัน 15 ราย
ธุรกิจรถเช่าถือเป็นผู้ที่ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบ ให้ผู้เช่ารถขับขี่ด้วยความปลอดภัย และลดจำนวนการเกิดอุบัติเหตุ สภ.ฉลอง ได้ร่วมกับเทศบาลตำบลราไวย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดประชุมผู้ประกอบการรถเช่าในพื้นที่ อธิบายข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และออกข้อกำหนดให้เช่าได้เฉพาะผู้มีใบอนุญาตขับขี่เท่านั้น รวมถึงให้ร้านทำสัญญานอกเหนือจากภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ต้องมีภาษาอื่น ๆ เช่น ภาษาจีน และภาษารัสเซีย เพื่อให้เข้าใจตรงกันทั้งสองฝ่าย และยังมีการแจกหมวกกันน็อกให้ด้วย
ประเทศไทยเรายังไม่มีกฎหมายควบคุมผู้ประกอบการรถเช่า ปัจจุบันเพียงแค่จดทะเบียนพาณิชย์ และเสียภาษีตามปกติเท่านั้น แต่ยังไม่กฎหมายบังคับทำประกันภัย อีกทั้งไม่มีการจัดทำข้อมูลอย่างเป็นระบบ ทำให้ยากต่อการบริหารจัดการในภาพรวม
ผู้ประกอบการรถเช่า “ร้านสาวรถเช่า” กล่าวว่า นักท่องเที่ยวที่มาเช่ารถจักรยานยนต์ที่ร้าน ส่วนใหญ่สัญชาติรัสเซีย เมื่อลูกค้าเข้ามาสอบถามจะขอดูใบอนุญาตขับขี่เป็นอันดับแรก จากนั้นจะดูพาสปอร์ต และเก็บเงินมัดจำพร้อมทำสัญญาเช่ารถ และแจ้งว่าต้องใส่หมวกกันน็อกด้วย เพราะหากโดนจับเจ้าของร้านจะโดนไปด้วย ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนที่ได้รับอบรมจากเทศบาลตำบลราไวย์ ส่วนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับผู้เช่า ก็มีทั้งเฉี่ยวชนหรือล้มเอง ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดจากความไม่ชำนาญเส้นทาง แต่หากผู้เช่าใส่หมวกกันน็อกและไม่ขับเร็ว ก็จะบาดเจ็บไม่มากและรถก็เสียหายไม่เยอะ
หนึ่งในนักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย ผู้เช่ารถจักรยานยนต์ขับขี่ท่องเที่ยวบริเวณหาดราไวย์ บอกว่า รู้สึกว่าการขับรถมอเตอร์ไซค์เที่ยวในภูเก็ต เป็นการเดินทางที่สะดวกและคล่องตัว เมื่อมาเช่ารถผู้ใช้เช่าบอกว่าต้องใส่หมวกกันน็อกเวลาขับขี่ด้วย และส่วนตัวก็รู้ว่าต้องใส่เพื่อความปลอดภัย เพราะการป้องกันการบาดเจ็บที่ศรีษะถือว่าสำคัญมาก หากเกิดอุบัติเหตุค่ารักษาจะสูงมาก รวมถึงไม่ใช้ความเร็วมากนัก ด้วยจำนวนรถบนถนนที่ค่อนข้างเยอะ ประกอบกับกายภาพถนนที่เป็นเนินขึ้นลง จึงขับขี่ใช้ความเร็วไม่เกิน 70 กม./ชม. ซึ่งช่วยให้ปลอดภัย เมื่อแนวโน้มการเช่ารถมีเพิ่มคนขับขี่อาจมีทั้งใบอนุญาตและไม่มี ทำให้ช่องโหว่เหล่านี้ยังไม่ถูกแก้ไขในเชิงนโยบาย
ช่องว่างธุรกิจรถเช่า ภูเก็ต
การเช่ารถภายในจังหวัดภูเก็ต ด้านการควบคุม ตรวจสอบ ดูแลธุรกิจการให้บริการรถเช่า
1. ไม่มีหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ควบคุมตรวจสอบดูแลการให้บริการของผู้ประกอบการ
2. ผู้ประกอบการรถเช่าไม่จำเป็นต้องมีการขึ้นทะเบียนเป็นสารระบบ
3. การให้บริการรถเช่าไม่มีการกำหนดราคากลางที่เป็นธรรม
4. ไม่มีการจดทะเบียนแยกประเภทรถที่เป็นรถบริการสำหรับให้เช่า
5. ไม่มีกฏหมายควบคุมการตรวจสอบคุณภาพของรถที่ให้บริการสำหรับเช่า
6. ไม่มีกฎหมายควบคุมการทำประกันภัยภาคสมัครใจ ซึ่งมีวงเงินในการคุมครองสูง ด้านปัญหาและอุปสรรค
เนื่องจากขาดข้อกฎหมายที่บังคับใช้กับการประกอบธุรกิจรถเช่าโดยตรง ทำให้ไม่มีการควบคุมดูแลของหน่วยงานรัฐหรือหน่วยงานเอกชนที่จะรับผิดชอบเข้ามาตรวจสอบมาตราฐานการให้บริการรถให้เช่าหรือตรวจสอบคุณภาพของรถที่ให้บริการให้เช่า จึงทำให้บุคคลใด ๆ ก็ตาม สามารถให้บริการรถให้เช่าได้โดยไม่มีขอบเขตบังคับ ขาดมาตรฐานการให้บริการ ขาดราคากลางที่เป็นธรรม ขาดการตรวจสภาพรถอย่างสม่ำเสมอ หรือ การกำหนดจำนวนรถที่ให้บริการ ทำให้ส่งผลกระทบทั้งทางด้านการจราจรเพราะผู้เช่ารถขาดความชำนาญในการขับรถ ขาดความชำนาญเส้นทาง อาจก่อให้เกิดออุบัติเหตุสูญเสียทั้งชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน ผลกระทบด้านการสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 1 แสนล้านบาท/ปี หรือประมาณเกือบ 1% ของGDP จากอุบัติเหตุทางถนน เกิดปัญหาคดีความต่าง ๆ ซึ่งไม่สามารถคัดกรองตัวบุคคลที่มาใช้บริการรถเช่า ส่งผลให้เกิดการสูญหายของรถ รถที่ให้บริการเกิดความเสียหายชำรุด ปัญหาการไม่ส่งมอบคืนรถตามกำหนดระยะเวลาหรือนำรถที่เช่ามาแล้วนำไปก่ออาชญากรรม
ธีรพงษ์ เถาว์แดง รองนายกเทศมนตรีราไวย์ จ.ภูเก็ต (รักษาการนายก )กล่าวว่า ในการดำเนินงานด้านการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน ของเทศบาลตำบลราไวย์ นอกจากขับเคลื่อนผ่านศูนย์ปฏิบัติการอำนวยความปลอดภัยทางถนน ต.ราไวย์ โดยวางมาตรการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ มุ่งเน้นปัจจัยเสี่ยงจากคน ถนน ยานหนะ และปัจจัยแวดล้อมที่นำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุ เช่น การปรับปรุงจุดเสี่ยงเช่นการนำยางรถยนต์เก่า ไปวางไว้ตรงโค้งอันตรายเพื่อรับแรงกระแทรก จากรถที่วิ่งมาด้วยความเร็วและหลุดโค้ง ซึ่งช่วยลดความสูญเสียลงได้หลายกรณี
สถิติตั้งแต่ต้นปี 2567 ทั้งจังหวัดภูเก็ต มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนแล้ว 171 ราย ในจำนวนนี้อยู่ในพื้นที่ ต.ราไวย์ 15 ราย การดำเนินมาตรการป้องกันอย่างเข้มข้น ภายใต้ความร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จึงนับว่ามีความสำคัญมากในการลดและป้องกันความสูญเสีย
ขณะเดียวกัน ยังได้ดำเนินการอย่างเข้มข้นให้ผู้ขับขี่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ โดยเฉพาะการจอดรถต้องไม่กีดขวางเส้นทางจราจร อันเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ที่นำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุได้ ซึ่งที่ผ่านมามีการใช้เทศบัญญัติปรับผู้ฝ่าฝืนไม่เกิน 1,000 บาท โดยให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอัตราสูงสุด เนื่องจากได้ทำป้ายเตือนติดตั้งอย่างชัดเจน ลักษณะความผิดที่พบเจอบ่อย คือมอเตอร์ไซค์จอดมักง่าย ไปจอดในพื้นที่สำหรับรถยนต์ ซึ่งกรณีนี้เกือบ 100% เป็นชาวต่างชาติ
นอกจากนี้ เทศบาลตำบลราไวย์ ยังได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีกล้อง CCTV ที่มีการติดตั้งครอบคลุมพื้นที่ มากกว่า 250 ตัว ในการตรวจดูจุดเสี่ยง พฤติกรรมขับขี่ฝ่าฝืนกฎหมาย รวมไปถึงบันทึกภาพเหตุการณ์เป็นหลักฐานดำเนินคดี และสามารถนำมาดำเนินการวิเคราะห์ปัญหา นำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขและป้องกัน