หลังเป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากปฏิบัติการ IO (Information Operation) หรือ ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร ‘สฤณี อาชวานันทกุล’ นักเขียน นักแปล และนักวิชาการอิสระ พบว่าปฏิบัติการดังกล่าวส่งผลกระทบวงกว้างต่อสังคม จึงตัดสินใจฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ร่วมกับ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เพื่อให้มีคำสั่งหยุดปฏิบัติการ IO ของกองทัพ เนื่องจากเป็นการใช้ภาษีอย่างไม่สมเหตุสมผล
“กองทัพบก” เคยชี้แจงถึงปฏิบัติการ IO 3 ประการ 1) เป็นการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ตามปกติ 2) เป็นการฝึกอบรมโปรแกรม IO ผ่านทวิตเตอร์ เพื่อใช้ในยามสงคราม และ 3) เป็นบัญชีส่วนบุคคลที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับหน่วยงานหรือกองทัพ นอกจากจะยื่นฟ้องศาลปกครองแล้ว ยังส่งหนังสือร้องเรียนถึง Facebook ให้ปิดบัญชี account ของ IO และให้มีการสอบสวนกรณีที่เกิดขึ้นในไทย เนื่องจากผิดนโยบาย Social Media ของ Facebook
อย่างไรก็ตาม IO เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ เมื่ออยู่ในภาวะสงคราม และเป็นเครื่องมือทางทหารโจมตีฝ่ายตรงข้ามในอดีต เรียกว่า “ปฏิบัติการจิตวิทยา” หรือ ปจว. ปัจจุบันก็เช่นเดียวกัน เพียงย้ายมาอยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์ เป็นการทำสงครามข้อมูลข่าวสารใส่คู่ศัตรู สร้างภาพลักษณ์ให้ฝ่ายตนดูดี และด้อยค่าฝ่ายตรงข้าม แต่ IO ปัจจุบันกับทำสงครามกับประชาชน ผู้เสียภาษีซึ่งเป็นเงินที่นำมาใช้ในปฏิบัติการ
“กรณีที่เป็นปัญหาอยู่ตอนนี้ คือ คนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐ ถูกมองว่าเป็นคนไม่รักชาติ แต่จริง ๆ แล้วไม่มีทางที่จะเป็นศัตรูของชาติได้ ดังนั้น ใครที่ไม่เห็นด้วยก็ควรต่อสู้กันอย่างเปิดเผยใบหน้า สิ่งที่ยอมรับไม่ได้เลย สำหรับปฏิบัติการ IO ที่เกิดขึ้นในตอนนี้ คือ 1) เป็นการใช้เงินภาษีของคนจ่ายภาษีมาโจมตีคนที่จ่ายภาษี 2) ใช้บัญชีปลอม และ 3) สร้างเนื้อหาบิดเบือน”
ทั้งนี้ เป้าหมายของ IO คือ 1) ทำให้คนรู้สึกว่ามีกองเชียร์ มีคนสนับสนุนเยอะมาก 2) ด้อยค่าด้วยเนื้อหาที่บิดเบือน โดยบางครั้งไม่ต้องการจะเปลี่ยนใจของผู้รับสาร เพียงแต่เพื่อให้คนที่เชียร์มีเหตุผลที่จะเชียร์ต่อไปอย่างสุดโต่ง และ 3) ก่อกวนบรรยากาศการพูดคุย ซึ่งนับเป็นผลกระทบเชิงสังคมที่ทำให้เกิดความแตกแยก ด้วยการก่อกวน ปิดกั้นพื้นที่ไม่ให้คนคุยกันแบบใกล้ชิดมากขึ้น กรณีนี้มีตัวอย่าง เช่น การชุมนุมอาจมีการเสี้ยม หรือยุยง จาก IO จนนำไปสู่การใช้ความรุนแรง
เธอยกตัวอย่างเหตุการณ์ใน “สหรัฐอเมริกา” มีกฎหมายระบุห้าม กระทรวงกลาโหมนำงบประมาณไปควบคุมความคิดเห็นของประชาชน ไม่ว่าจะทางใดก็ตาม นอกจากนี้ บริษัทโซเชียลมีเดียใหญ่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook Twitter และ YouTube ต่างระบุตรงกันว่า การสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อส่งเสริมให้ผู้คนตัวเป็น ๆ พูดคุยกัน แต่ถ้ามีการสร้างเครือข่ายเป็นระบบ ปลอมและปกปิดตัวเอง ถือเป็นการบิดเบือนแบบฟอร์ม ที่ผิดนโยบายโซเชียลมีเดีย
แม้การผลิตเนื้อหาชวนเชื่อ จะมีจากทุกฝ่ายแต่ปฏิบัติการ IO ที่ใช้งบประมาณแผ่นดิน
ความน่ากังวล ก็คือ 1) เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้ปฏิบัติการเอง 2) สื่อมวลชนที่เชียร์รัฐบาลผลิตเนื้อหาบิดเบือน และให้ IO ไปปล่อยในแพลตฟอร์มต่าง ๆ และ 3) เอเจนซี่รับงานมาสร้างเพจเหมือนคนทั่วไป ผลิตเนื้อหาบิดเบือน ทั้งนี้ ระบบงบประมาณในสภามีการระบุถึงการใช้งบประมาณประชาสัมพันธ์ของรัฐ แต่อย่างมากก็บอกเพียงเป็นตัวเลขกลม ๆ ไม่ได้ลงรายละเอียด ปัจจุบันจึงมีความพยายาม ผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลสาธารณะ แทน พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ เพื่อขยายและตรวจสอบการใช้เงินประชาสัมพันธ์ของรัฐโดยละเอียด